20 พ.ค. 63 นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา เรื่องการจัดการศึกษาทางไกลในสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ
นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า การประชุมวันนี้ได้เชิญผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั้งหมด 225 เขต เข้าร่วมประชุม เพื่อเน้นย้ำในสิ่งที่ได้มอบหมายไป รวมถึงปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ซึ่งเป็นการตรวจสอบความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนเพื่อรองรับการเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ขอเน้นย้ำว่าการจัดการศึกษาทางไกลเราใช้ทั้งระบบออนไลน์กับออนแอร์ โดยเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา จะเห็นว่าประชาชนให้ความสนใจกับระบบออนไลน์เป็นจำนวนมากเช่นเดียวกันกับระบบออนแอร์ ดังนั้นความพร้อมของทั้งสองสิ่งนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง
สำหรับสิ่งที่เน้นย้ำกับผู้อำนวยการเขตฯ คืออยากให้ลงไปดูแต่ละโรงเรียน แต่ละครอบครัวเป็นรายๆ ไป ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นประสบปัญหาอย่างไรบ้าง หากมีปัญหาด้านเทคโนโลยีก็อาจจะจัดครูที่มีความรู้เรื่องนี้ลงไปดูแลแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น รวมถึงการสำรวจว่าครอบครัวไหนยังไม่มีกล่องทีวีดิจิทัล ก็จะได้หาทางแก้ไข ซึ่งจากการสำรวจพบว่ามีกล่องทีวีดิจิทัลที่ยังรับสัญญาณไม่ได้อีกกว่า 1.5 ล้านกล่อง ในส่วนนี้ก็จะนำไปพูดคุยกับ กสทช. และกระทรวงดิจิทัลฯ ต่อไป
อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือการสร้างความเข้าใจกับนักเรียนและผู้ปกครอง ทั้งในเรื่องที่ผลการเรียนของนักเรียนในช่วงการจัดการเรียนการสอนทางไกล จะไม่ได้นำมาประเมินเพราะถือเป็นช่วงทดลอง และเป็นการปรับพื้นฐาน เตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนที่จะก้าวไปสู่การเรียนในระดับที่สูงขึ้นในปีการศึกษาหน้า และให้นักเรียนได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ส่วนกรณีที่บางครอบครัวมีทีวีเพียงเครื่องเดียวก็สามารถแบ่งเวลาการเรียนและย้อนกลับมาดูรีรันได้ หรือการเรียนกับเพื่อนที่เรียนอยู่ชั้นเดียวกัน มีบ้านอยู่ใกล้กัน ก็สามารถจับกลุ่มเรียนด้วยกันได้ ตลอดจนความช่วยเหลือจากโรงเรียนและชุมชน
“ดังนั้นจึงขอให้ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาเข้าไปดูแลปัญหาที่เกิดขึ้น หากติดขัดอย่างไรก็ให้แจ้ง สพฐ. ได้ทันที โดย สพฐ. จะมีการสรุปผลช่วงแรกในสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ ครั้งที่สองกลางเดือนมิถุนายน และครั้งที่สามช่วงสิ้นเดือนมิถุนายน ซึ่งจะเป็นช่วงที่ต้องเติมเต็มในส่วนที่ขาดทั้งหมดก่อนเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 กรกฎาคมต่อไป” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว