กรมการแพทย์ชี้ประเด็นโรคความดันโลหิตสูงที่ผู้สูงอายุมักเข้าใจผิด

กรมการแพทย์ ชี้ประเด็นโรคความดันโลหิตสูงที่ผู้สูงอายุมักเข้าใจผิด เช่น เมื่อไม่มีอาการผิดปกติแสดงว่าควบคุมโรคได้ดี หรือ ไม่ควรรับประทานยาต่อเนื่องเป็นเวลานานเนื่องจากจะทำให้ตับและไตเสื่อม เหล่านี้เป็นความเชื่อที่ผิดนายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคความดันโลหิตสูงในผู้สูงอายุ ร้อยละ 95 จะตรวจไม่พบสาเหตุ แต่อาจมีปัจจัยเสี่ยงคือ ความอ้วน ภาวะไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่ ดื่มสุรา รับประทานอาหารเค็ม ไม่ออกกำลังกาย หรือบุคคลในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ 5 มีสาเหตุจากโรคอื่นๆ เช่น โรคไต โรคต่อมไร้ท่อ โรคระบบประสาท การได้รับสารเคมีหรือยาบางชนิด

ซึ่งโรคความดันโลหิตสูงเป็นภาวะที่ค่าความดันโลหิตขณะหัวใจบีบตัว (ค่าตัวบน) มีค่าเท่ากับหรือมากกว่า 140 มิลลิเมตรปรอท และค่าความดันโลหิตขณะหัวใจคลายตัว(ค่าตัวล่าง) มีค่าเท่ากับหรือมากกว่า 90 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งส่วนใหญ่มักจะไม่มีอาการผิดปกติแต่ก็ก่อให้เกิดอันตรายกับร่างกายได้ในระยะยาวเช่นไตเสื่อม โรคหัวใจ และ โรคหลอดเลือดสมอง อาการเบื้องต้นที่พบบ่อย เช่น อาการปวดมึนศีรษะ มักปวดตื้อบริเวณท้ายทอยช่วงเช้าหลังตื่นนอน ถ้าความดันโลหิตสูงรุนแรงอาจมีอาการ ปวดศีรษะรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน ตามัว เหนื่อยง่าย และอาจมีอาการเจ็บหน้าอกร่วมด้วย

นายแพทย์สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การรักษาโรคความดันโลหิตสูงในผู้สูงอายุ ได้แก่

1. รักษาด้วยการไม่ใช้ยา โดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการรับประทานอาหาร งดอาหารรสเค็ม รับประทานผัก ผลไม้ ดื่มน้ำให้พอเพียงและบริโภคอาหารที่มีไขมันต่ำ ออกกำลังกายเป็นประจำ ควบคุมน้ำหนัก งดสูบบุหรี่และงดดื่มแอลกอฮอล์ ฝึกสมาธิ ไม่เครียด ทำจิตใจให้ผ่องใส นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ แต่หากความดันโลหิตยังคงสูงอยู่ถึงจะใช้วิธีการรักษาด้วยยา

2. รักษาด้วยการใช้ยา ผู้ป่วยไม่ควรหยุดยาหรือปรับยาด้วยตนเอง และยาลดความดันโลหิตจัดเป็นกลุ่มยาที่มีความปลอดภัยสูงสามารถใช้ต่อเนื่องได้เป็นเวลานานหรือตลอดชีวิต ผู้ป่วยจึงไม่ควรกลัวการรับประทานยาต่อเนื่อง ในทางกลับกันผู้ป่วยหลายรายเข้าใจผิดว่าการกินยาต่อเนื่องจะเป็นอันตรายต่อร่างกายเช่นทำให้ตับหรือไตเสื่อมจึงหยุดยาเองเมื่อไม่มีอาการผิดปกติ โดยไม่รู้ตัวว่ามีความดันโลหิตสูงหลังหยุดยาเนื่องจากไม่มีอาการผิดปกติ จนกระทั่งเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาต หัวใจวาย ไตวาย ผู้ป่วยจึงไม่ควรหยุดยาเอง ยกเว้นเมื่อรับประทานยาแล้วมีความดันโลหิตต่ำ อาการมึนงง หน้ามืด โดยเฉพาะเวลาลุกขึ้นนั่งหรือยืน ควรหยุดยาแล้วไปพบแพทย์ทันที

Written By
More from pp
เมนทาแกรม มอบสมาร์ทโฟน มูลค่ากว่า 247,500 บาท เพื่อสนับสนุน “การเรียนออนไลน์” ของเยาวชนในยุคโควิด-19
บริษัท เมนทาแกรม จำกัด ผู้จัดจำหน่ายสินค้าแบรนด์ดังระดับโลก เช่น GoPro (โกโปร) Ecovacs (อีโคแวคส์) On Running (ออน รันนิ่ง) และ Skullcandy (สกัลแคนดี้)
Read More
0 replies on “กรมการแพทย์ชี้ประเด็นโรคความดันโลหิตสูงที่ผู้สูงอายุมักเข้าใจผิด”