วันนี้ (15 พฤษภาคม 2563) เวลา 09.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) นายกรัฐมนตรีชื่นชมที่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาน่าจะเป็นช่วงที่คนไทยผ่อนคลายบ้าง โดยเฉพาะในวันที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็น 0
นายกรัฐมนตรีขอบคุณทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รัฐมนตรี ปลัดกระทรวง ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย รวมถึงเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในศูนย์โควิด ซึ่งเสียสละทำงานหนักทุกวันเพื่อแก้ปัญหา และบริหารสถานการณ์ ในช่วงเวลากว่า 3 เดือนที่ผ่านมา การทำงานครั้งนี้ เป็นการบูรณาความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ และกลไกอื่นๆ ในสังคม ทั้งส่วนกลาง และส่วนท้องถิ่น ซึ่งขอชื่นชมผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้บริหารท้องถิ่น ในทุกระดับที่สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยในการประชุมครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมีข้อพิจารณา และข้อสั่งการ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชมว่าปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดความสำเร็จคือ การสร้างการรับรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชน เมื่อประชาชนเข้าใจสถานการณ์ ให้ความร่วมมือกับรัฐบาล ส่งเสริมให้มาตรการของรัฐสัมฤทธิผล โดยเฉพาะในการก้าวเข้าสู่มาตรการผ่อนปรนในระยะที่ 2 เราจำเป็นต้องได้ร้ับความร่วมมือจากประชาชนในระดับที่สูงขึ้นกว่าเดิม ทั้งในเรื่องการจัดระบบ Social Distancing มาตรการควบคุมต่างๆ ของภาครัฐ เช่น
การใช้ Application ต่างๆ ซึ่งล้วนกระทบต่อวิถีชีวิตปกติของประชาชน และประชาชนต้องเข้าใจถึงรูปแบบการดำเนินชีวิตแบบใหม่ที่แตกต่างจากอดีต หรือ New Normal ซึ่งประเทศไทยสามารถวางแผนในการปรับเปลี่ยนระบบการดำรงชีวิตสู่ชีวิตวิถีใหม่ได้ ด้วยศักยภาพของประเทศไทย การยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงประกอบกับอัตตลักษณ์ความเป็นไทย ก็จะเพิ่มศักยภาพ และโอกาสของประเทศไทยในอนาคต
ทั้งนี้ เช่น ปรากฎการณ์เรื่องตู้ปันสุขซึ่งได้รับการชื่นชม เผยแพร่ไปทั้วโลกถึงความมีน้ำใจของคนไทยต่อกัน นายกรัฐมนตรีเชื่อว่ามาตรการทางสังคมจะช่วยให้การดำเนินการผ่อนปรนมาตรการ และการบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างราบรื่น สังคมจะช่วยกันสอดส่อง ต่อต้านผู้ที่ปฏิบัติไม่เหมาะสม ขอให้สังคมไทยยึดมั่นในความดี แบ่งปัน ช่วยเหลือกัน
นายกรัฐมนตรีสั่งการให้รัฐมนตรีทุกกระทรวงออกแบบวางแผนการทำงาน ให้สอดคล้องกับชีวิตวิถีใหม่ รวมทั้งด้านการท่องเที่ยว ให้ไปศึกษาสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป กำหนดมาตรการและแนวทางที่เหมาะสมไว้รองรับ รวมทั้ง นายกรัฐมนตรีห่วงกังวลสถานประกอบการ ได้แก่ โรงแรม ซึ่งเป็นประเภทของกิจการที่ส่งผลกระทบเป็นห่วงโซ่ไปถึงผู้ประกอบการอื่นๆ ด้วย เช่น การบริการ อาหาร แรงงาน การประกาศให้งดจัดอบรม สัมมนา ทำให้ผู้ประกอบการขาดรายได้ ขอให้หน่วยงานไปพิจารณาหาแนวทางสนับสนุนช่วยเหลือ
การตัดสินใจเข้าสู่มาตรการผ่อนปรนในระยะที่ 2 นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าการดำเนินมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 เป็นความจำเป็นเพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจดำเนินต่อไปได้ แต่ก็เป็นความกังวลใจของพวกเราทุกคนที่จะเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดระลอกที่ 2 (Second wave) ดังนั้น นอกจากการใช้มาตรการบังคับ ขอให้ระดมความร่วมมือจากภาคสื่อสารมวลชนทั้งหมดในสังคมในการให้ข้อมูลทำความเข้าใจกับประชาชนทุกระดับ ให้สื่อมวลชนรับชุดข้อมูลเดียวกัน และช่วยรัฐบาลในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ เพื่อเสริมกลไกและช่องทางการสื่อสารของภาครัฐ ตัวอย่างเช่น การให้ข้อมูลการคาดการณ์ว่าหากรัฐไม่ดำเนินมาตรการเข้มงวดในช่วงที่ผ่านมา ประมาณการผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตจะสูงเพียงใด เมื่อเปรียบเทียบกับ ตัวเลขจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันซึ่งเป็นผลจากความร่วมมือทุกฝ่าย และการเข้าสู่มาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 หากไม่ดำเนินมาตรการควบคุมตัวเลขคาดการณ์ผู้ติดเชื้อจะเป็นเท่าใด เป็นต้น
สถานการณ์การแพร่ระบาดและผู้ติดเชื้อ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข ประเมินสถานการณ์ การแพรร่ะบาดของโรคโควิด – 19 จนกว่าจะถึงห้วงเวลาที่มีวัคซีนรักษาโรค เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการวางแผนบริหารสถานการณ์ และเตรียมการจัดสรรทรัพยากรทางการแพทย์ในระยะยาวของประเทศ และเป็นชุดข้อมูลแบบจำลองในการคาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างเป็นทางการของ ศบค. เพื่อให้หน่วยงานทุกภาคส่วนใช้เป็นข้อมูลตั้งต้นในการวิเคราะห์ผลกระทบ และกำหนดมาตรการในด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคมต่อไป
การดำเนินมาตรการผ่อนปรนภายหลังการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้คณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ได้แต่งตั้งขึ้นโดยหัวหน้าสำนักประสานงานกลางเป็นประธาน ประเมินสถานการณ์เป็นระยะๆ ตามช่วงเวลาที่เหมาะสมหลังจากได้มีมาตรการผ่อนคลายกิจการ/กิจกรรม เพื่อประกอบการเสนอมาตรการผ่อนคลายในระยะต่อไป โดยใช้ข้อมูลผลการปฏิบัติตามมาตรการในข้อกำหนด ฉบับที่ 3 และ ฉบับที่ 5 มาพิจารณาประกอบกับผลการตรวจประเมินกิจการ/กิจกรรมที่ได้รับการผ่อนคลายตาม ข้อกำหนด ฉบับที่ 6 เพื่อจัดทำแนวทางการผ่อนคลายกิจการ/กิจกรรม และร่างข้อกำหนดเพิ่มเติมตามความเหมาะสมต่อไป โดยคำนึงถึงปัจจัยทางด้านสาธารณสุขเป็นหลัก
รวมทั้งสั่งการให้นำแพลตฟอร์มแอพพลิเคชัน “ไทยชนะ” ที่ ศบค. พัฒนาขึ้นมาใช้สนับสนุนการดำเนินการของผู้ประกอบกิจการ/กิจกรรม ให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคที่ได้กำหนด โดยให้มีการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ และสร้างความ เข้าใจให้กับประชาชนผู้ใช้บริการ และผู้ให้บริการ โดยเน้นย้ำให้ประชาชนเห็นถึงความจำเป็นที่รัฐต้องนำเทคโนโลยีใช้เป็นเครื่องมือ เพื่อปกป้องชีวิต และให้ความปลอดภัยกับประชาชน ดังที่หลายประเทศได้ดำเนินการแล้ว
และนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้คณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาร่วมกับคณะกรรมการเฉพาะกิจด้านกฎหมาย และศูนย์ปฏิบัติการที่ เกี่ยวข้องใน ศบค. ศึกษาเปรียบเทียบความจำเป็นในการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 กับกรณีหากใช้กฎหมายปกติ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด เพื่อเป็นข้อพิจารณาให้กับคณะกรรมการ ศบค. ในการประกาศ ขยายเวลาหรือยกเลิกการประกาศ ใช้พระราชกำหนดการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินใน ระยะต่อไป
ตลอดจนสั่งการให้กระทรวงศึกษาธิการรายงานการเตรียมความพร้อมสำหรับกำหนดการเปิดภาคเรียนในเดือนกรกฎาคมในการประชุมครั้งต่อไป และให้กระทรวงสาธารณสุขจัดเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำในการเตรียมความพร้อมแก่โรงเรียนต่างๆ
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีห่วงกังวลต่อการดูแลเด็กเล็กในโรงเรียนและสถานศึกษา จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมพิจารณาแนวทางเกี่ยวกับการเปิดเรียน การเรียนออนไลน์ และการเรียนเหลื่อมเวลา หาแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้เหมาะสม ตลอดจน สั่งการให้เร่งการประชาสัมพันธ์กำหนดการสอบเข้าโรงเรียนในระดับ ม.1 และ ม. 4 ให้ทราบกันอย่างทั่วถึงโดยจะให้มีการเปิดสอบระหว่างวันที่ 6-7 มิถุนายน 2563
มาตรการควบคุมการเดินทางเข้าออกประเทศ นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการมาตรการเดินทางเข้าออกประเทศ และการดูแลคนไทยในต่างประเทศควบคุมการเข้าประเทศทางอากาศตามมติที่ประชุมของ ศบค. ที่อนุญาตให้คนไทยเดินทางเข้าประเทศเพิ่มเติมจาก 300 คน เป็น 400 คนต่อวัน เพื่อรักษาสมดุลระหว่างคนไทยที่มีความประสงค์ จะเดินทางกลับประเทศกับทรัพยากรทางการแพทย์ที่มีอยู่ รวมถึงขีดความสามารถในการกักกันในสถานที่ของรัฐแบบ State Quarantine ที่จะต้องมีจำนวนเพิ่มขึ้น
โดยให้นำผู้เดินทางเข้าประเทศทุกรายกักกันในสถานที่ของรัฐแบบ State Quarantine และดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคของทางราชการโดยเคร่งครัด ทั้งนี้ ในการพิจารณาอนุญาตให้แรงงานต่างชาติเดินทางกลับประเทศเพื่อนบ้านในระยะนี้ ต้องมีมาตรการเชิงรุกในการป้องกันตรวจสอบการเดินทางกลับเข้ามาทำงานในประเทศไทยด้วย โดยขอให้กระทรวงแรงงานพิจารณามิให้เกิดผลกระทบด้านการขาดแคลนแรงงาน ในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่จำเป็นด้วย
ในโอกาสนี้ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงได้รายงานการประเมินผลการดำเนินมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 1 โดยได้ให้ข้อมูลว่า จากการตรวจกิจการ/กิจกรรม ทั้งชุดตรวจส่วนกลางและประจำพื้นที่ พบว่าส่วนใหญ่ผู้ประกอบกิจการ/กิจกรรมให้ความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการเป็นอย่างดี ผู้ประกอบการที่ได้รับการผ่อนคลายระยะที่ 1 ให้ความร่วมมือ สมควรพิจารณาการผ่อนคลายระยะที่ 2 ต่อไป
กระทรวงมหาดไทย รายงานการแก้ปัญหาด้านมาตรการป้องกัน และช่วยเหลือประชาชน และด้านการกระจายหน้ากาก และเวชภัณฑ์ ซึ่งเป็นไปด้วยดี ได้รับความร่วมมือในการดำเนินการอย่างดี จากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะกลุ่มจิตอาสา
เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เสนอข้อเสนอต่อมาตรการผ่อนคลายระยะที่ 2 โดยกำหนดเกณฑ์ในการพิจารณาการผ่อนปรน เช่น กิจกรรมในกลุ่มสีเขียวเป็นหลัก คือ กิจกรรม/กิจการที่มีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคไปในพื้นที่ และการแพร่เชื้อในสถานที่อยู่ในเกณฑ์ปานกลาง และมีความจำเป็นต่อการดำรงชีพ และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมอยู่ในเกณฑ์สูง และบางกิจกรรม/ กิจการในกลุ่มสีเหลือง ทั้งนี้ มีการพิจารณานำเสนอกิจกรรม/กิจการที่จะผ่อนปรน เช่น การเปิดห้างสรรพสินค้า สถานที่ออกกำลังกาย แต่ทั้งนี้ ทั้งหมดยังต้องมีความเข้มงวดในมาตรการควบคุมดูแลตามเกณฑ์สาธารณสุข
นายกรัฐมนตรีได้กล่าวสรุปในตอนท้าย ขอบคุณทุกฝ่าย ทุกภาคส่วน ในความสำเร็จที่เห็นผลที่ชัดเจนในประเทศไทย พร้อมให้แนวทางว่า ทุกกิจกรรม/กิจการที่ผ่อนปรนจะต้องรักษาเรื่อง Social Distancing อย่างเข้มงวด การสวมหน้ากากอนามัย ผ่านเกณฑ์มาตรการ และเงื่อนไขด้านสาธารณสุข มีการจัดการเพื่อคัดกรองอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ครอบคลุม ควบคุมได้ การผ่อนคลายจึงจะสามารถดำเนินการได้ และให้กิจกรรม/กิจการที่ได้รับการผ่อนปรน ปฏิบัติตามมาตรการ คู่มือ และแนวปฏิบัติอย่างแท้จริง
นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงการปรับมาตรการบังคับใช้กฎหมายตามที่คณะกรรมการเสนอ ดังนี้
- ลดช่วงเวลาเคอร์ฟิวเป็นระหว่างเวลา 23.00-04.00 น.
- ยังคงมาตรการเดินทางเข้าประเทศ ทั้งทางบก อากาศ น้ำ เช่นเดิม
- งดหรือชะลอการเคลื่อนย้ายข้ามจังหวัด
- ขอให้ทุกภาคส่วนสนับสนุนการใช้แอพลิเคชั่น “ไทยชนะ” ในการเสริมมาตรการป้องกันโรค
โดยย้ำถึงการบูรณาการการทำงานร่วมกัน ทุกส่วนต้องมีชุดข้อมูลที่สอดคล้องกันเพื่อใช้ในระบบออนไลน์ หลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการรับชุดข้อมูลที่ต่างกัน ทั้งนี้ ให้หน่วยงานด้านการประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้สู่ประชาชน ทุกด้านที่ได้ดำเนินการไป การป้องกัน และควบคุมโรค ทั้งความร่วมมือภายในประเทศและความร่วมมือกับต่างประเทศ ตลอดจนแผนงานที่กำหนดไว้ในอนาคต ทำความเข้าใจกับประชาชน ทั้งมาตรการด้านเศรษฐกิจ การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ และการบังคับใช้กฎหมายเพื่อความปลอดภัยในชาติ