วันนี้ พักเรื่อง “คน” คุยเรื่อง “ข้าว” ดีกว่า
“ข้าวเหนียว” นั่นแหละ….
เห็นโหวกเหวกกันเหลือเกินว่า “ข้าวเหนียวแพง”
รัฐมนตรีพาณิชย์ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” ก็ปืนไว ส่งเจ้าหน้าสำรวจทันที ว่ามีใครเข้าไปสร้างกลไกบิดเบือนตลาดหรือเปล่า?
ออกสำรวจหลายวันแล้ว แต่ดูเหมือนไม่พบความผิดปกติแต่อย่างใด
เรื่องข้าวเหนียวแพง…..
ในความเห็นผม รัฐบาลดูอยู่ห่างๆ น่าจะดีกว่า
ถ้าเข้าไปวุ่นวายมากนัก ความหวังดีภาครัฐนั่นแหละ จะกลายเป็นตัวบิดเบือนกลไกตลาดเสียเอง
ให้คนปลูกข้าวเหนียวเขาได้ถูกรางวัลที่ ๑ บ้างเหอะ ร้อยวัน-พันปี จะมีซักครั้งที่ “ข้าวเหนียวแพง”
คนกินควรจะดีใจแทนชาวนามากกว่าตกใจ แล้วโวยวาย ทำไมข้าวเหนียวแพง?
ถ้าภาครัฐจะสำรวจหาข้อมูลจริงๆ ไปตรวจสต๊อก ตรวจโรงสีทำไม
ไปที่ต้นน้ำเลย ถามจากปากชาวนาเลยว่า ขายได้เกวียนละเท่าไหร่?
อย่างเขี้ยวงู สันป่าตอง ขายได้ตันละ หมื่นแปด-หมื่นเก้า ก็ต้องอนุโมทนาสาธุ
แสดงว่า ตลาดข้าวเหนียวเป็นไปตามหลักดีมานด์-ซัพพลาย ชาวนาได้ พ่อค้าก็ได้ ตามอัตราส่วน
ที่ต้องดู ก็ตรง “ปลายน้ำ” คือ ราคาที่ขายตามตลาด ตามห้างนั่นแหละ ว่าราคามันเป็นไปตามสัดส่วนทางการค้ามั้ย?
หลักมันมีอยู่ว่า ถ้าชาวนาขายได้ราคาคุ้มค่าแล้ว คนกิน ถึงจะกินแพงขึ้นบ้าง มันเป็นแพงที่ถึงกระเป๋าชาวนา ก็น่าจะเป็นแพงที่พอทำใจ
จริงๆแล้ว วี๊ดว๊ายกระตู้วู้กันเกินเหตุ พวกพิธีกรข่าวหน้าจอน่ะ ข้าวเหนียวแพง เคยถุงละ ๕ บาท เดี๋ยวนี้ ๒๐ บาท นิดเดียว อะไรนั่นน่ะ
ปีหนึ่ง กินข้าวเหนียวกันถึงกิโลมั้ย ที่โวยวายกันน่ะ?
ก็แค่กินบางมื้อ-บางคราว มีแต่คนทางเหนือ-อีสาน ที่ข้าวเหนียวเป็นหลัก
แต่ส่วนใหญ่เขาก็ปลูกข้าวเหนียวไว้กินเอง จะซื้อกิน ก็นอกบ้านเป็นมื้อเป็นคราว
ซื้อข้าวเหนียว ๒๐-๓๐ บาท จะเป็น-จะตาย ว่าแพง
เห็นเดินห้าง สตาร์บัคส์แก้วละ ๑๒๐ ชานมไข่มุก แก้วละ ๗๐-๘๐ ส้มตำครกละ ๒๐๐ ไม่เห็นมีใครบ่นว่าแพง?
ก่อนจะพูดข้าวเหนียวถูกหรือแพง ผมอยากให้เอา “ชาวนา” ปลูกข้าวเหนียวเป็นตัวตั้ง
ถ้าผลสรุป เป็นแพงที่ชาวนาได้ตามสัดส่วนจริง อย่าโวย นอกจากไม่โวยแล้ว
ต้องช่วยกันปรบมือ ให้กำลังใจคนปลูกข้าวเหนียวด้วย!
ตาปี-สีตาชาติ คนทำไร่ข้าวเหนียว ไม่ได้ราคาเป็นเนื้อ-เป็นหนังเหมือนคนทำไร่ข้าวเจ้า-ข้าวหอมมะลีกับเขาเลย
อย่างปีที่แล้ว…..
แล้งก็แล้ง ราคาก็ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ชาวนาบางส่วนจำต้องหันไปปลูกข้าวหอมมะลิแทน ปลูกข้าวเหนียวแซมไว้พอเก็บไว้สีกินเอง
แล้วยัง “แล้งชนแล้ง” ในปีนี้อีก ที่ปลูก…นอกจากได้ผลผลิตน้อย ยังปลูกน้อยเข้าไปอีก
ผลก็อย่างที่เป็นขณะนี้ ตามหลักดีมานด์-ซัพพลายนั่นแหละ ความต้องการในตลาดสูง แต่ข้าวมีน้อย
ในท้องตลาดมันก็เลยต้องแพงตาม!
พ่อค้า-โรงสี ไม่มีใครเขากักตุนข้าวเหนียวหรอก ที่แย่งกันซื้อตบตีกันโครมคราม นั่นแสดงว่า
ข้าวเหนียว “มีไม่พอป้อน” ทั้งตลาดบริโภคภายในและตลาดส่งออก
ที่ผมว่าไม่กักตุน เพราะข้าวเหนียวเก็บไว้เกิน ๕-๖ เดือน ราคาก็ตก หุงกินจะแข็ง กลืนแต่ละปั้นปานเคี้ยวกรวดแกลบให้แสบศอ
ต่างกับข้าวเจ้าที่ “ข้าวเก่า” หุงแล้วจะอร่อยละมุนลิ้น
ฉะนั้น ทนกินแพงเพื่อชาวนาอีกซักเดือน-สองเดือนเถอะ อย่าบ่นกันนักเลยนะ…ทูนหัว
แล้ว “ข้าวใหม่” ก็จะได้ฤกษ์เก็บเกี่ยวออกตลาด พาณิชย์ก็คอยดูละกัน เมื่อราคาข้าวเปลือกลด ข้าวถุงก็ต้องให้ลดลงด้วยนะ
ไม่ใช่ข้าวเปลือกเหนียวตันละหมื่นแปด-หมื่นเก้า พอข้าวใหม่ออกตลาด สมมุติเหลือ ๑๕,๐๐๐-๑๘,๐๐๐ แต่ข้าวถุงยังโลละ ๔๕-๕๐ ก็ต้องเบิ๊ดกะโหลกกันหน่อย
แต่ถึงข้าวเหนียวต้นฤดูออกมา ก็จะไม่ถูกลงมากนัก เพราะแล้งทำให้ได้ข้าวน้อยแล้ว ยังปลูกกันน้อยด้วย
“ส่งออก” แทบไม่ต้องพูดถึง ………
เอาแค่ให้พอบริโภคภายใน แฟนๆข้าวเหนียวส้มตำ หมูปิ้ง ไม่โวยวายถึงขั้นไปโดดโขง โดดแม่ปิงประท้วง ก็ดีถมไปแล้ว
ที่พาณิชย์ควรทำ ก็คือ
๑.ตรวจตราอย่าให้มีการลักลอบนำข้าวเหนียวจากนอกประเทศเข้ามาตีขลุมเป็นข้าวเหนียวไทยได้เป็นอันขาด
อย่าให้เหมือนยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่จำนำทุกเมล็ดตันละหมื่นห้า
ข้าวเขมรเข้ามาทุกทิศ เช่นทางสระแก้ว-ปราจีนบุรี เป็นคาราวาน คนแถวๆด่านประตูน้ำพระอินทร์ รับคืนละหลายแสน
รุ่งเช้า “มือทำ” เข้าแบงก์ โอนแจกจ่ายเข้าบัญชีนาย ไล่กันไปตามฐานานุรูป
ยุคนายกฯ “คุมตำรวจ” ยังจะสงวนพันธุ์ไว้ หรือบริหาร-จัดการกันไปแล้วยังไงก็ไม่ทราบ
แต่ถ้าข้าวแพง อย่าให้ “ข้าวสวมรอย” ถูกปล่อยไหลผ่านเข้ามาจากแก๊ง “สวมรวย” เหมือนเดิมก็แล้วกัน
ประเด็นที่ ๒.พาณิชย์ต้องควบคุมพฤติกรรม “เห็นรวยแล้วตามแห่” ให้ดี
อย่างปีนี้ ข้าวเปลือกตันละร่วม ๒ หมื่น ก็อาจมีการเฮละโล เลิกข้าวเจ้า หันมาปลูกข้าวเหนียวกันยกใหญ่
ถ้าแบบนี้…ไอ้หวังตายแน่!
นี่เป็นเรื่องต้อง “ตัดไฟแต่ต้นลม” การกำหนดพื้นที่ การควบคุมปริมาณ การจัดอัตราส่วนปลูกข้าวเหนียว-ข้าวเจ้า ผมไม่บังอาจสอนสังฆราช
แต่บางเรื่อง ไอ้เณรรู้ดี!
แต่ไม่รู้นะ ผมสังหรณ์ลึกๆ ปีหน้า ข้าวจะราคาไปโลด ในขณะที่ประเทศปลูกข้าวพบปัญหา
แต่ไทยจะเหนือปาฏิหาริย์ เรียกว่าผลผลิตของไทยจะอร้าอร่ามมาก
ก็อย่างที่ทราบกันอยู่แล้วว่า “อีสานไม่แล้งน้ำ”
แต่คนมีหน้าที่ “แล้งปัญญา” กักเก็บน้ำที่ไหลมาท่วมแผ่นดินอีสานทุกปี
นายกฯ ลงไปดูพื้นที่อีสานบ่อย เห็นแจกทุกจังหวัดอีสาน เพื่อแก้ปัญหาแล้ง
เฉพาะที่ “บุรีรัมย์-สุรินทร์” จังหวัดละตั้ง ๕๐๐ ล้าน
ตอนนี้ จากน้ำแล้ง …เป็นน้ำล้น
โจทย์เป็นว่า จะปล่อยให้น้ำหายไปต่อหน้า-ต่อตา แล้วพรุ่งนี้ ก็พากันร้องใหม่ อีสานแล้ง..อีสานแล้ง อย่างนั้นหรือ?
ระบบรัฐ แก้แล้งอีสานมาเป็นร้อยปี ไม่มีอะไรดีขึ้น
ลองให้ชุมชนแต่ละท้องถิ่น ซึ่งอยู่กับปัญหาของเขา เสนอแผนประกบแผนจังหวัดมาพิจารณาบ้างไม่ดีหรือ?
อาจจะแก้ถูกจุดก็ได้นะ….
ภาครัฐไปคิดแทน-ทำแทนชาวบ้านมานาน ลองให้ชาวบ้าน “คิดเอง-ทำเอง” ภาครัฐคอยสนับสนุนดูบ้าง
“ผิด-ถูก” จะสอนให้เขาสำนึกด้านรับผิดชอบ ซึ่งมันคุ้มในทางเข้มแข็ง-ยั่งยืน โดยสังคมท้องถิ่นจะภูมิใจและมั่นใจในตัวเอง
“หนอง-คลอง-บึง” ในอีสานมีแทบทุกจังหวัด ขั้นแรก จ้าง-กระตุ้นเศรษฐกิจ ระดมลอก, ขุด ให้ลึกทุกแห่ง
นอกจากเป็นแก้มลิง “กักเก็บน้ำ” แล้ว ยังจะเป็นแหล่งอาหารได้อีกทาง โดยเฉพาะปลา
ใครมีนา ๒๐ ไร่ขึ้นไป ถามเขาเอาไหม ส่งทหารพัฒนาไปขุดบ่อ-ขุดสระกักเก็บน้ำ จัดระบบ “เกษตรพอเพียง” ให้เลย
เนี่ย…
แค่แต่ละแหล่งนา มีบ่อกักเก็บน้ำรูปแบบเกษตรพอเพียงตามแนวในหลวง รัชกาลที่ ๙ แห่งละบ่อ-สองบ่อ
จากอีสานแล้งน้ำ จะกลายเป็น “อีสานแหล่งน้ำ” ทันที!
คิดจากโครงการเล็กๆ อุ้มชาวบ้านให้รอดก่อน
พอเห็นผลเป็นตัวอย่างแล้ว การทำโครงการใหญ่ ก็ไม่ยากที่ชาวบ้านจะเข้าใจและสนับสนุน
อีสานมีน้ำ ไม่ต่างสหรัฐฯ มีนิวเคลียร์
ใครจะกล้าข่ม?