กลางเดือนลาจอไปแล้ว 3 ช่อง..
มีหมายเลข 19 ช่องสปริงนิวส์ หมายเลข 20 ช่องไบรท์ทีวี และช่องนาว หมายเลข 26!
ส่วนอีก 4 ช่องที่ได้ขอคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัลต่อกสทช. ก็จะทยอยลาจอกันตั้งแต่กลางเดือนกันยายน เริ่มจากช่องวอยซ์ทีวี หมายเลข 21 ช่องเอ็มคอท แฟมิลี่ เลข 14 ช่อง 3SD เลข 28 และช่อง 3 แฟมิลี่ เลข13
ซึ่งทั้ง 7 ช่องก็ได้รับการดูแล-ชดเชยกันตามฐานานุรูป โดยเงินชดเชยส่วนหนึ่งที่ได้ ก็ได้นำไปชดใช้ให้แก่พนักงานที่ได้รับผลกระทบ-ตกงาน ต่ออีกทอด!
อย่างไรก็ตาม แม้จะหายไป 7 ช่องก็ไม่ได้หมายความว่า “ที่เหลือ” จะแบ่งเค้ก-โฆษณาได้มากขึ้นแต่อย่างใด เพราะ 7 ช่องที่ลาจอไป แทบจะไม่มีสินค้า-โฆษณาอยู่เลย!
พูดง่ายๆ ทุกช่องที่เลือกจะดำเนินธุรกิจต่อ ยังต้องเหนื่อยหนักกับการหารายได้อยู่เหมือนเดิม ยกเว้นช่อง 11 กับช่องไทยพีบีเอส ที่ไม่ต้องดิ้นรน..
โดยเฉพาะช่องหลังนี้ ได้เงินสนับสนุนปีละตั้ง 2 พันล้าน!
รายการจะมี-ไม่มีเรตติ้ง ผู้บริหาร-พนักงานก็อยู่กันแบบอิ่มหมีพีอ้วน ไม่ต้องทุกข์ร้อนอะไร ยิ่งคนดูไม่มากก็ยิ่งจะสบายใจ เพราะจะได้ไม่ต้องได้ยินเสียงวิพากษ์วิจารณ์ให้เสียอารมณ์!
เช่นผม..ก่อนนี้ก็ได้เปิดดูไทยพีบีเอสอยู่บ้าง และก็ได้วิพากษ์วิจารณ์ไปตามทัศนะ-มุมมองในบางโอกาส แต่หลังจากเกิดทีวีดิจิทัลขึ้นมา..
ต้องขอสารภาพตามตรงว่า..ผมไม่เคยเปิดดูไทยพีบีเอสอีกเลย!
และนี่ พูดถึงไทยพีบีเอส วันก่อนอ่านข่าวที่คุณองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายในการประชุมสภาฯ..เห็นน่าสนใจ อยากให้ลองอ่านกันดู..
“การชี้ให้เห็นถึงสัดส่วนการนำเสนอรายการ และไทยพีบีเอสเปิดโอกาสให้ประชาชนร้องเรียนความไม่ถูกต้องในสังคมผ่านรายการต่างๆ อีกทั้งมีการนำเสนอสารคดีที่ผลิตโดยคนไทย
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องที่ดี และเป็นจุดที่น่าสนใจของไทยพีบีเอสทั้งนี้ เมื่อสังคมเปลี่ยนไป การเสพสื่อมีหลายช่องทาง ก็เชื่อว่าไทยพีบีเอสมีแนวคิดในการปรับตัวอยู่แล้ว แต่ควรปรับตัวให้มากขึ้น
เพื่อให้ผู้ชมมีความรู้สึกว่าควรเข้ามาสนใจการนำเสนอของไทยพีบีเอสด้วยการใช้เทคนิคกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อให้ประชาชนพบเรื่องราวเด่นๆ ของไทยพีบีเอสและสามารถเข้าชมได้โดยง่าย
ไทยพีบีเอสจะต้องพยายามยึดวิสัยทัศน์เป้าหมายเอาไว้ให้มั่น ไม่คำนึงว่าใครจะเป็นผู้มีอำนาจในยุคใดสมัยใด
เรื่องเรตติ้งอาจไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุด เพราะเมื่อเรตติ้งสำคัญ ช่องที่นำเสนอละครคงได้เรตติ้งสูง เพราะสอดคล้องกับอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนจำนวนมากที่สนใจความบันเทิง
แต่ไทยพีบีเอสต้องคำนึงถึงพันธกิจ และการก่อกำเนิดที่ได้ระบุไว้ในรายงานฉบับนี้ ในสังคมประชาธิปไตยที่มีความหลากหลาย สื่อสาธารณะจะมีความหมาย..
ก็ต่อเมื่อทำหน้าที่อย่างมีอิสระ ทำหน้าที่โดยปราศจากอิทธิพล และอคติทางการเมือง และผลประโยชน์ในเชิงพาณิชย์..”
ครับ..ชัดเจน แต่การทำหน้าที่อย่างมีอิสระ..
จะต้องไม่สร้างความขัดแย้ง-แตกแยกด้วยนะ!
สันต์ สะตอแมน