วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) นำโดย ดร.ธเนศ วีระศิริ นายก วสท., คุณจีระศักดิ์ ปราชญ์โกสินทร์ เลขาธิการ วสท, คุณบุญพงษ์ กิจวัฒนาชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์วิศวกรรมสนับสนุนต้านภัย COVID-19 วสท. พร้อมด้วย รศ.ดร.สมิตร ส่งพิริยะกิจ ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วสท. และคณบดีวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เข้าตรวจการประกอบและทดสอบประสิทธิภาพ ตู้ความดันลบ (Negative Pressure Cabinet) รุ่น EIT-01-3/31032020 แบบที่ 3 ซึ่งเป็นตู้ความดันลบพร้อม Ante Room พื้นที่สำหรับแพทย์และเจ้าหน้าที่ ณ โรงงานผลิตคอนกรีตผสมเสร็จบางซ่อน เพื่อรับรองคุณภาพตามมาตรฐานที่วสท.กำหนดไว้พร้อมส่งลงภาคใต้ของไทย
จากสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 จำนวนผู้ติดเชื้อในภาคใต้เพิ่มสูงและการขาดแคลนอุปกรณ์การแพทย์ ทำให้บุคลากรการแพทย์เสี่ยงต่อการติดเชื้อมาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ด้วยความร่วมมือจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ได้เร่งสร้าง “ตู้ความดันลบ (Negative Pressure Cabinet)” ตามแบบมาตรฐานของ วสท. เพื่อส่งมอบให้กับสถานพยาบาลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) และจังหวัดสงขลา รวมจำนวน 30 ตู้ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของแพทย์พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ให้มีความปลอดภัย ลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และมีตู้ความดันลบเพียงพอสำหรับใช้ดูแลผู้ป่วยโควิด-19
ดร.ธเนศ วีระศิริ นายก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า ผลการทดสอบการผลิตตู้ความดันลบ(Negative Pressure Cabinet) นี้ ผ่านเกณฑ์มาตรฐานเป็นอย่างดี ทั้งการรักษาระดับความดันลบภายในตู้ความดันลบ อัตราการระบายอากาศ 12 ครั้งต่อชั่วโมง และการควบคุมอุณหภูมิภายในตู้ให้ใกล้เคียงกับอุณหภูมิภายนอกตู้ความดันลบ นอกจากนี้ยังผ่านการทดสอบการลามไฟของพลาสติกที่ใช้ทำผนังและหลังคาตู้ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ที่ไม่อนุญาตให้ใช้วัสดุที่ติดไฟได้ในอาคาร โดยอาศัยมาตรฐานสากล UL 94 : Standard for Safety of Flammability of Plastic Materials for Parts in Devices and Appliances Testing เป็นแนวทาง เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้ใช้งานซึ่งเป็นบุคคลากรทางการแพทย์ซึ่งเปรียบเสมือนนักรบในสงครามชีวภาพ ผู้รับภาระหนักในการดูแลรักษาประชาชนและหยุดยั้งการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19
คุณบุญพงษ์ กิจวัฒนาชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์วิศวกรรมสนับสนุนต้านภัย COVID-19 วสท. กล่าวว่า ในด้านการประกอบตู้ความดันลบ ทาง มจพ. มีการวางแผนการจัดการเป็นไลน์การประกอบ และถอดประกอบแบบน็อคดาวน์ แบ่งงานตามขั้นตอน ทำให้การประกอบเสร็จอย่างรวดเร็ว และทำให้ช่างทั่วไปสามารถนำชิ้นส่วนเหล่านี้มาประกอบได้ด้วยตนเอง นอกจากนี้แต่ละตู้ความดันลบที่ถอดประกอบเป็นชิ้นส่วนลงหีบห่อเพื่อส่งให้หน่วยงานต่าง ๆ นั้น ยังได้เตรียมเครื่องมือที่จำเป็น เช่น ค้อนยาง ค้อนไม้ ระดับน้ำ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับหน่วยงานโรงพยาบาลปลายทางใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และจังหวัดสงขลาได้ใช้ในการประกอบติดตั้งอีกด้วย