พปชร.ชำแหละรัฐบาล ปล่อยกัมพูชาปั่นเวทีโลก สร้างภาพไทยละเมิดอธิปไตย ย้ำรัฐบาลไทยต้องชี้แจงตอบโต้พร้อมรายละเอียดทุกประเด็นทันที ไม่ใช่พูดเหมือนคนน้ำท่วมปากมีเพียงหลักการจึงขาดน้ำหนักที่จะแก้ข้อกล่าวหา

8 กรกฎาคม 2568 ภายหลังการประชุมพรรคพลังประชารัฐ ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี กรรมการบริหารพรรค แสดงความเห็นต่อท่าทีของรัฐบาลไทย ในวิกฤตการณ์ชายแดนไทย–กัมพูชา โดยชี้ว่ารัฐบาลยังคงไม่แสดงรายละเอียดในการตอบโต้กัมพูชาเพื้อปกป้องเกียรติภูมิของชาติ หลังฝ่ายกัมพูชาเดินหน้าส่งหนังสือถึงเลขาธิการ UN กล่าวหาไทยว่า เป็นผู้รุกรานไม่ยึดสันติวิธีโดยทหารไทยเปิดฉากยิงทหารกัมพูชาก่อนจนมีผู้เสียวิชิตบริเวณช่องบก พร้อมกล่าวหาว่า ไทยไม่จริงใจในการเจรจาตลอดมา และกัมพูชายังอ้างประวัติศาสตร์ที่บิดเบือนเพื่อสร้างความชอบธรรม พร้อมระบุว่าจะยื่นฟ้องไทยต่อศาลโลก (ICJ)

ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวว่า “การเดินยุทธศาสตรฺ์การเมืองระหว่างประเทศที่ผ่านมา มีประเด็นที่น่ากังวลใจคือ รัฐบาลยังกล้าๆ กลัวๆในการตอบโต้ เช่น กรณีกัมพูชาเปิดฉากรุกรานและยิงทหารไทยก่อนขณะลาดตระเวนในเขตไทย เมื่อ 28 พค 68 รัฐบาลมาชี้แจงอย่างเป็นทางการในเอกสารที่ยื่นต่อสหประชาชาติ หลังจากกัมพูชากล่าวหาไทยไปแล้ว 3 สัปดาห์ แสดงให้เห็นว่า คนในรัฐบาลบางคนยังมีความเกรงใจผู้นำกัมพูชาอยู่ไม่น้อย จนกระทั่งเกิดกรณีคลิปเสียงนายกรัฐมนตรีแอบเจรจากับนายฮุนเซน รัฐบาลจึงเริ่มมีท่าทีจริงจังมากขึ้น แต่ก็สายไปมากเพราะข้อกล่าวหานี้ถูกกัมพูชาเสนอเข้าสมัชชาสหประชาชาติแล้ว การไม่ใช้สิทธิ์ทางการทูตให้เต็มศักยภาพ คือความบกพร่องเชิงยุทธศาสตร์ที่ทำให้ไทยเสียเปรียบในเวทีโลกเพราะเป็นฝ่ายตั้งรับ”

พร้อมทั้งย้ำว่า รัฐบาลไม่เคยชี้แจงเรื่องกัมพูชาไม่ใช่คู่เจรจาตามสนธิสัญญาสยาม–ฝรั่งเศส ปี 1904 และ ปี 1907 จึงนำสนธิสัญญามาอ้างแบบผิดๆ โดยละเลยที่จะยึดถือแนวพรมแดนตาม “สันปันน้ำ” ระหว่างช่องบกถึงช่องสะงำตามสนธิสัญญา ทำให้ไทยสุ่มเสี่ยงต่อการเสียดินแดนจากช่องบก จังหวัดอุบลราชธานี ถึงช่องสะงำ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเรื่องนี้ พันโทแบร์นาด (1904) และพันเอกมองกิเอร์ (1907) ผู้เดินสำรวจเขตแดนได้บันทึก เรื่องสันปันน้ำไว้ตรงกันว่าสันเขามีความชัดเจน จึงไม่จำเป็นต้องมีหลักเขตในบริเวณดังกล่าว

นอกจากนี้ การที่รัฐบาลยอมให้กัมพูชาใช้แผนที่ 1 ต่อ 200,000 ว่าเป็นเอกสารที่อยู่ในสนธิสัญญา ซึ่งคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง เพราะแผนที่นี้ถูกทำขึ้นในปี 1908 ภายหลังจากการเซ็นสนธิสัญญา 1907 ไปแล้ว รัฐบาลไทยขณะลงนามในสนธิสัญญาจึงไม่มีโอกาสตรวจสอบถึงความถูกต้องแต่อย่างใด ฝรั่งเศสได้นำแผนที่ดังกล่าวไปมอบให้ที่สถานทูตไทย ณ กรุงปารีสในภายหลัง ย่อมชัดแจ้งว่าผู้ลงนามในสนธิสัญญาไม่มีโอกาสได้เห็นเอกสารดังกล่าวเลย ที่สำคัญคือแผนที่ดังกล่าวคลาดเคลื่อนไปจากภูมิประเทศจริงอย่างมาก

อีกประเด็นที่นำไปสู่ความขัดแย้ง คือ บันทึกความเข้าใจ MOU 2543 ฝ่ายไทยไม่ได้บรรจุแผนที่ 1 ต่อ 50,000 เป็นเอกสารที่ใช้เจรจาทั้งที่ ราชการไทยใช้อยู่ และตรงกับภูมิประเทศจริง แต่กลับให้กัมพูชานำแผนที่ 1 ต่อ 200,000 มาใช้เป็นกรอบในการเจรจาได้ อันเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้การเจรจาไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะใช้แผนที่คนละฉบับ

ที่ผ่านมาฝ่ายกัมพูชาเจตนาละเมิด MOU 2543 มากถึง 600 ครั้ง ย่อมชี้ให้เห็นว่า กัมพูชาขาดความจริงใจในการดำเนินการตามข้อตกลงร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาชายแดนโดยสันติวิธีตามกรอบ “การเจรจาทวิภาคี” แต่มีเจตนาสร้างความขัดแย้งเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างแรงกดดันจากนานาชาติ โดยมีเป้าหมายเพื่อนำเรื่องดังกล่าวขึ้นสู่ศาลโลก

ส่วนพื้นที่ “ปราสาทตาเมือนธม” “ปราสาทตาเมือนโต๊ด“ และ “ปราสาทตาควาย” รัฐบาลก็ไม่ได้ชี้แจงว่า ปราสาททั้งสามอยู่หลังอยู่ทางทิศตะวันตกของช่องสะงำซึ่งเป็น ที่ตั้งหลักเขตที่หนึ่ง จึงยึดถือหลักเขตที่สยามปักปันแล้วกับฝรั่งเศสเป็นสำคัญ เมื่อปราสาททั้งสามอยู่หลังหลักเขตที่ปักปันจึงเป็นของประเทศไทย แต่รัฐบาลไทยกลับปล่อยให้กัมพูชาแถลงอยู่ฝ่ายเดียวเป็นเวลานานว่าเป็นของตน จนภาคประชาชนต้องออกมาชี้แจงว่าประสาทตาเมือนธมนั้นได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถาณโดยกรมศิลปากรก่อนที่จะเกิดประเทศกัมพูชาในปี 2496 การนิ่งเฉยของรัฐบาลโดยไม่ยกหลักฐานทางประวัติศาสตร์ขึ้นต่อสู้ เรื่องดังกล่าวจึงถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของฝ่ายตรงข้ามได้อย่างดี

“ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องยอมอยู่ในภาพผู้ถูกกล่าวหาฝ่ายเดียว เราต้องลุกขึ้นพูดอย่างมีหลักฐานว่า พื้นที่ตลอดแนวสันเขาพนมดงรักนั้นเป็นของไทย ไม่ใช่แค่ฝากทูตยื่นเอกสารให้สหประชาชาติ เงียบ ๆ ตามหลังกัมพูชา รัฐบาลต้องกล้าพูดความจริงบนเวทีโลกว่าเราไม่ใช่ผู้รุกราน การตอบโต้แบบน้ำท่วมปากของรัฐบาลทำให้อดคิดไม่ได้ว่า ผู้มีอำนาจบางคนติดหนี้บุญคุณผู้นำกัมพูชาใช่หรือไม่” ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าว พร้อมย้ำว่าพรรคพลังประชารัฐพร้อมสนับสนุนท่าทีเชิงรุกในเวทีสากลระหว่างประเทศ เพื่อปกป้องอธิปไตยไทยบนพื้นฐานของความยุติธรรมและกฎหมายระหว่างประเทศ

Written By
More from pp
“ธรรมนัส” เปิดปฏิบัติการฝนหลวง ประจำปี 2567 จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 16 หน่วย ครอบคลุมพื้นที่ 77 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร สร้างความชุ่มชื้นให้กับป่า
รัฐมนตรีเกษตรฯ เปิดปฏิบัติการฝนหลวง ประจำปี 2567 จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 16 หน่วย ครอบคลุมพื้นที่ 77 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร สร้างความชุ่มชื้นให้กับป่าไม้...
Read More
0 replies on “พปชร.ชำแหละรัฐบาล ปล่อยกัมพูชาปั่นเวทีโลก สร้างภาพไทยละเมิดอธิปไตย ย้ำรัฐบาลไทยต้องชี้แจงตอบโต้พร้อมรายละเอียดทุกประเด็นทันที ไม่ใช่พูดเหมือนคนน้ำท่วมปากมีเพียงหลักการจึงขาดน้ำหนักที่จะแก้ข้อกล่าวหา”