วันที่ 17 พฤษภาคมของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น “วันความดันโลหิตสูงโลก” (World Hypertension Day) แม้จะเป็นโรคที่พบได้บ่อยในสังคมไทย แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ตัวว่ามีความเสี่ยงในการเป็นผู้ป่วยความดันโลหิตสูง เนื่องจากโรคนี้มักไม่แสดงอาการชัดเจนในระยะแรก แต่หากปล่อยไว้มักส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตในระยะยาว
แพทย์หญิงทรายด้า บูรณสิน อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายว่า โดยปกติเมื่อเราวัดความดันโลหิต เครื่องวัดจะแสดงผลเป็นตัวเลข 2 ค่า ได้แก่
ความดันตัวบน (Systolic Blood Pressure) หมายถึง ค่าที่ได้ขณะหัวใจบีบตัวส่งเลือดไปยังร่างกาย
ความดันตัวล่าง (Diastolic Blood Pressure) หมายถึง ค่าที่ได้ขณะหัวใจคลายตัวระหว่างการเต้นแต่ละครั้ง
ส่วนภาวะความดันโลหิตสูง คือภาวะที่แรงดันเลือดในหลอดเลือดแดงสูงกว่าระดับปกติ โดยทั่วไปหากค่าความดันโลหิตอยู่ที่ 140/90 มิลลิเมตรปรอท หรือสูงกว่านี้อย่างต่อเนื่อง จะถือว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งสาเหตุของความดันโลหิตสูงมีทั้งปัจจัยที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ เช่น พันธุกรรมซึ่งพบว่าผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้มักมีความเสี่ยงสูงขึ้น รวมถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป
อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การบริโภคอาหารเค็มจัด การรับประทานอาหารไขมันสูง การไม่ออกกำลังกาย ความเครียดสะสม การสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดภาวะนี้ได้มากขึ้นในกลุ่มคนทุกวัย
การตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวอย่างเบาหวาน จะช่วยให้สามารถตรวจพบและเริ่มต้นการรักษาได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนที่รุนแรงตามมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูงแล้ว การรักษาจะประกอบด้วยการปรับพฤติกรรมควบคู่กับการใช้ยา ซึ่งแพทย์จะพิจารณาตามระดับความรุนแรงและปัจจัยร่วมของผู้ป่วยเป็นรายบุคคล โดยทั่วไปแพทย์มักเริ่มด้วยแนะนำให้ผู้ป่วยปรับพฤติกรรมสุขภาพอย่างเคร่งครัด เช่น ควบคุมอาหาร ลดเค็ม ออกกำลังกาย และจัดการความเครียด หากยังไม่สามารถควบคุมความดันได้ภายในระยะเวลาเหมาะสม แพทย์จะเริ่มพิจารณาใช้ยาลดความดัน
การใช้ยารักษาความดันโลหิตสูงจำเป็นต้องใช้ต่อเนื่องและสม่ำเสมอตามคำแนะนำของแพทย์ การหยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์อาจทำให้ความดันกลับมาสูงและเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อนอย่างเฉียบพลัน นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรพบแพทย์เพื่อติดตามผลเป็นระยะ และเพื่อปรับแผนการรักษาให้เหมาะสมกับการตอบสนองของร่างกาย
วิธีดูแลและป้องกันความดันโลหิตสูงเริ่มต้นได้จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมง่าย ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การรับประทานอาหารให้เหมาะสม ลดการบริโภคโซเดียมจากอาหารเค็มหรือแปรรูป หันมาเพิ่มการบริโภคผัก ผลไม้ และธัญพืชไม่ขัดสี ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย 30 นาทีต่อวันในแต่ละสัปดาห์ เลิกสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ และควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ข้อแนะนำเหล่านี้ล้วนมีส่วนช่วยให้ระดับความดันโลหิตลดลงและป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว
แม้ความดันโลหิตสูงอาจไม่ก่อให้เกิดความผิดปกติในทันที แต่หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ควบคุมอย่างเหมาะสม อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น โรคหัวใจขาดเลือด หัวใจล้มเหลว เส้นเลือดในสมองแตกหรืออุดตัน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของอัมพฤกษ์ อัมพาต รวมถึงโรคไตเรื้อรัง ความเสี่ยงเหล่านี้สามารถลดลงได้หากรู้เท่าทันและเริ่มป้องกันตั้งแต่เนิ่น ๆ