เด็กไทยสุดเจ๋ง คว้าเหรียญทอง “World Invention Creativity Olympic 2019”

นับเป็นอีกหนึ่งรางวัลแห่งความภาคภูมิใจที่เด็กไทยพิชิตมาได้จากเวทีประกวดนวัตกรรมระดับนานาชาติ “World Invention Creativity Olympic” (WICO) 2019 ที่จัดขึ้น ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ระหว่างวันที่ 26-27 กรกฎาคม 2562 ซึ่งปีนี้มีผลงานที่ร่วมเข้าประกวดทั้งหมด 345 ผลงาน จาก 22 ประเทศ อาทิ มาเลเซีย, เวียดนาม, ฟิลิปปินส์, จีน, อิหร่าน เป็นต้น โดยศูนย์นวัตกรรมโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม ได้ส่งนักเรียนเข้าประกวดและคว้ารางวัลมาได้ 13 เหรียญทอง 4 เหรียญเงิน 1 Semi Grand Prize และ 6 Special Award จาก Macao, Vietnam, Hong Kong โดยมีที่ผลงานโดดเด่นซึ่งสอดรับกับกระแสตื่นตัวเกี่ยวกับปัญหาขยะในทะเลขณะนี้ คือ

โครงงาน “นวัตกรรมวัสดุทดแทนพลาสติกและหนังสัตว์จากผลิตผลทางการเกษตร” ซึ่งส่งประกวดภายใต้ชื่อ ECO NUT ที่คว้ามาได้ถึง 2 รางวัล คือ รางวัลชนะเลิศเหรียญทอง และรางวัล SPECIAL AWARD: Best Leading Invention Award จาก Macau Innovation and Invention Association (MIIA)

ผลงานดังกล่าวเป็นไอเดียเจ๋งๆ ของทีมเด็กนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ประกอบด้วย ด.ญ. ณิชานันท์ ทรัพย์สมพล ด.ญ. ลภัสรดา ภาษีผล และ ด.ญ. ณฐพร พิบูลย์รัตนกิจ โดย ECO NUT เป็นความคิดต่อยอดของเด็กๆ ที่อยากจะนำวัตถุดิบจากธรรมชาติไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับโลกและสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ การนำผลิตผลทางการเกษตรอย่าง “น้ำมะพร้าวแก่” ซึ่งเป็นวัตถุดิบเหลือใช้จากกระบวนการผลิตน้ำกะทิ มาผ่านกระบวนการย่อยสลายด้วยแบคทีเรียจนเป็นวุ้นมะพร้าว จากนั้นนำมาแช่น้ำและตากจนแห้ง จนได้เป็นวัสดุที่สามารถใช้ทดแทนพลาสติกหรือหนังสัตว์ได้ โดยวัสดุดังกล่าวมีคุณสมบัติพิเศษ คือ น้ำหนักเบา กันน้ำได้ดี และสามารถรับน้ำหนักได้ดีอีกด้วย จึงสามารถนำมาขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการใช้งานต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้มากมาย เช่น กระเป๋าสตางค์ กระเป๋าช้อปปิ้ง พวงกุญแจ ที่เก็บสายไฟ เป็นต้น  ซึ่งวัสดุภายใต้ผลงาน ECO NUT ได้รับความสนใจจากคณะกรรมการเป็นอย่างมาก เพราะนับเป็นวัสดุที่สามารถนำมาใช้เป็นวัสดุทดแทนพลาสติกที่ย่อยสลายยาก และทดแทนหนังสัตว์ซึ่งจะนำไปสู่การลดการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิตหรือการฟอกหนัง

โดยน้องๆ ผู้สร้างสรรค์ผลงาน ECO NUT ได้เล่าให้ฟังถึงแรงบันดาลใจที่จุดประกายไอเดียการคิดค้นวัสดุทดแทนครั้งนี้ว่า “จากการได้รับรู้ถึงผลกระทบของขยะพลาสติกที่ทำให้สัตว์ทะเลเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เลยอยากจะหาวัสดุทดแทนพลาสติกเพื่อลดปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้ส่วนหนึ่งก็ได้รับคำปรึกษาจากอาจารย์ผู้ดูแลว่า ควรจะนำวัสดุที่เหลือใช้จากธรรมชาติมาประยุกต์ใช้ทดแทนพลาสติก จึงไปค้นคว้าหาข้อมูลจนพบวัสดุที่เรียกว่า Bacterial Cellulose  ซึ่งทำจากกากใยของพืชโดยการใช้แบคทีเรีย และ Bacterial Cellulose จากน้ำมะพร้าวจะมีคุณสมบัติที่แข็งแรงกว่าจากพืชชนิดอื่นๆ จึงนำมาประยุกต์เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ใช้งานได้จริง”

จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่มาจากความห่วงใยต่อสัตว์ทะเล บวกกับพลังความคิดสร้างสรรค์และความมุ่งมั่นพยายาม จนสามารถต่อยอดเป็นผลงานที่น่าภาคภูมิใจทั้งต่อตนเอง สถาบันการศึกษา และประเทศชาติ ทั้งนี้ นวัตกรตัวน้อยผู้คิดค้นนวัตกรรมที่เรียกได้ว่าเป็นไอเดียเปลี่ยนโลกในครั้งนี้ เป็นผลผลิตที่ฟูมฟักจากศูนย์นวัตกรรมโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยฝ่ายประถม ที่ต้องการสนับสนุนและส่งเสริมให้เด็กๆ ได้มีเวทีในการแสดงผลงานจากความคิดสร้างสรรค์และเปิดประสบการณ์การเรียนรู้นอกห้องเรียน เพื่อจุดประกายความคิดและการสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมใหม่ๆ ให้แก่เด็กและเยาวชนของประเทศต่อไป

ทั้งนี้ ก็หวังใจให้ “ไอเดียเปลี่ยนโลก” ของเด็กๆ ไม่เพียงแต่ถูกยกย่องเชิดชูบนเวทีการประกวดเท่านั้น หากแต่จะถูกนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมจริง ก็เชื่อว่าจะช่วยรักษ์โลกและสร้างสรรค์ให้โลกให้น่าอยู่มากยิ่งขึ้นสมกับความตั้งใจของเด็กๆ แน่นอน

Written By
More from pp
Kyo Roll En ต้อนรับเทศกาลไหว้พระจันทร์ เปิดตัวเซตขนมสุดพรีเมียม 
พร้อมการกลับมารวมพลัง Collaboration อีกครั้งในปีที่ 2 ระหว่าง Kyo Roll En X Sorn ร้านอาหารใต้ไฟน์ไดน์นิ่ง “ศรณ์” ระดับ 2 ดาวมิชลิน โดยเชฟ “ไอซ์-ศุภักษร จงศิริ และเชฟเดช คิ้วคชา...
Read More
0 replies on “เด็กไทยสุดเจ๋ง คว้าเหรียญทอง “World Invention Creativity Olympic 2019””