20 เมษายน 2568 จากกรณี พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับคดีนอมินี หรือความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทผู้ก่อสร้างที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (อาคาร สตง.) แห่งใหม่ ความสูง 30 ชั้นถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว เป็นคดีพิเศษที่ 32/2568
ต่อมามีการแต่งตั้งคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ รวมทั้งสิ้น 36 ราย โดยมี ร.ต. อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน และมี พ.ต.ท.อมร หงษ์ศรีทอง ผอ.กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค เป็นรองหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน รวมถึงมีการประชุมเปิดคดีของคณะพนักงานสอบสวนครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา
กระทั่งต่อมาคณะพนักงานสอบสวนได้มีการกระจายการดำเนินงาน มีการลงพื้นที่จุดเกิดเหตุ ลงพื้นที่สืบสวนสอบสวนญาติของ 3 กรรมการผู้ถือหุ้นชาวไทยใน บ.ไชน่า เรลเวย์ฯ รวบรวมหลักฐานขอหมายศาลเข้าตรวจค้น 4 พื้นที่เป้าหมาย บริษัท คาร์ฮัพ จำกัด , กิจการร่วมค้า PKW , บริษัท ว.และสหายคอลซัลแตนตส์ จำกัด และบริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จำกัด ร่วมบูรณาการหน่วยงานอื่น ออกหนังสือเชิญบุคคลซึ่งเข้าไปเกี่ยวข้องในเอกสารการก่อสร้างตึก สตง. เข้าให้ข้อมูล นำทีมอายัด 24 ตู้คอนเทนเนอร์ใต้อาคารจอดรถ ตึก สตง.ถล่ม
หลังสืบสวนพบมีการเก็บเอกสารสำคัญบริเวณไซต์ก่อสร้างของกิจการร่วมค้าไอทีดี-ซีอาร์อีซี และกิจการร่วมค้า PKW เป็นต้น เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานต่าง ๆ สำหรับนำเข้าสำนวนคดี อีกทั้งในการประชุมติดตามความคืบหน้าที่ทำเนียบรัฐบาลวันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยังยืนยันว่าหากหลักฐานมีความเพียงพอเมื่อใดให้ออกหมายจับได้ทันที ซึ่งการออกหมายจับใกล้เข้ามาแล้ว ตามที่มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 19 เม.ย.68 คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 32/2568 เปิดเผยถึงกระบวนการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อเตรียมขอศาลออกหมายจับบุคคลที่เกี่ยวข้อง ว่า ภายหลังจากที่คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวน ขยายผลมาอย่างต่อเนื่อง และได้มีการเร่งรวบรวมหลักฐาน คู่ขนานไปกับการสอบสวนปากคำพยานที่ได้ดำเนินการไปพอสมควรแล้ว จนรับฟังได้ว่าอาจมีการกระทำความผิดเกิดขึ้นตามที่ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ คือ คดีนอมินี หรือความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542
ล่าสุดได้รับการยืนยันจากคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ว่า ศาลอาญาอนุมัติหมายจับความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 มาตรา 37 และมาตรา 41 จำนวน 4 หมายจับ ได้แก่
1.บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด โดยนายชวนหลิง จาง กรรมการฯ ในฐานะกรรมการ/ส่วนตัว
2.นายมานัส ศรีอนันท์
3.นายประจวบ ศิริเขตร
4.นายโสภณ มีชัย
ทั้งนี้ นายชวนหลิง จาง ตามรายงานการสืบสวนพบว่ามีรายชื่อเป็นกรรมการอยู่ในบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งมาเป็นกิจการร่วมค้า หรือ Joint Venture กับบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) โดยบริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ มีที่ตั้งเลขที่ 493 ซอยพุทธบูชา แยก 11 แขวงบางมด เขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร โดยตามการจำแนกเป็นสัดส่วนของบริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ มีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทย 51% ดังนี้
นายโสภณ มีชัย ถือหุ้น 40.7997% นายประจวบ ศิริเขตร ถือหุ้น 10.2% และนายมานัส ศรีอนันท์ ถือหุ้น 0.0003% ส่วนสัดส่วนผู้ถือหุ้นสัญชาติจีน 49% เป็นบุคคล 1 ราย คือ นายชวนหลิง จาง
คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้นี้ชุดสืบสวนสะกดรอยและการข่าว ดีเอสไอ ได้ติดตามตัวนายชวนหลิง จาง จนพบว่าเจ้าตัวได้เข้าพักอยู่ที่โรงแรมแห่งหนึ่งย่านรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ มาประมาณ 2 วัน เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างเตรียมอ่านหมายจับของศาลอาญาให้นายชวนหลิง จาง (ผู้ต้องหารายสำคัญ) รับฟังพฤติการณ์แห่งคดี โดยเจ้าตัวได้ประสงค์ขอรอล่ามแปลภาษาก่อน ซึ่งล่ามแปลภาษาดังกล่าวเป็นทนายความด้วย
โดยขณะเข้าจับกุมภายในโรงแรมนั้น นายชวนหลิง จาง สวมใส่เสื้อผ้าชุดลำลอง และมีอาการตกใจที่ถูกออกหมายจับ ซึ่งหลังจากจบกระบวนการแจ้งจับแล้ว ชุดสืบสวนสะกดรอยและการข่าว จึงจะได้มีการควบคุมตัวนายชวนหลิง จาง เข้าไปที่อาคารดีเอสไอ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร นำส่งให้คณะพนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนคดี เพื่อสอบสวนปากคำและทำบันทึกการจับกุม ส่วนกรรมการผู้ถือหุ้นชาวไทย 3 ราย คือ นายประจวบ นายโสภณ และนายมานัส เจ้าหน้าที่ยังคงอยู่ระหว่างไล่ล่าติดตามจับกุมตัว