‘พีระพันธุ์’ ผ่าปมพลังงานไทย ชี้ต้องเดินหน้าทลายการผูกขาดทางธุรกิจ กลับสู่หลักการพลังงานเพื่อประชาชนและความมั่นคงของชาติ

เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2568 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้กล่าวบรรยายในหัวข้อ ‘ความมั่นคงทางพลังงานและการเปลี่ยนผ่านพลังงานในอนาคต’ แก่ผู้อบรมในหลักสูตร วปอ.บอ.2 โดยเน้นย้ำมิติความมั่นคงของชาติและการยึดถือผลประโยชน์ประชาชนเป็นหลักสำคัญ

นายพีระพันธุ์กล่าวว่า เรื่องของพลังงานนั้นมีความเกี่ยวข้องกับตนตั้งแต่สมัยยังเด็ก เนื่องจากคุณพ่อเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การเชื้อเพลิง และสิ่งที่ตนเคยได้รับฟังตั้งแต่เด็ก ก็คือ พลังงานเป็นเรื่องของความมั่นคง โดบพื้นฐานเรื่องพลังงานน้ำมันในประเทศไทยนั้น เริ่มต้นในสมัยที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมีแนวคิดในการพัฒนาแหล่งพลังงานในประเทศเพื่อความมั่นคงของประเทศ ต่อมาจึงมีการสำรวจและขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเดิมนั้นจะนำมาใช้ในกองทัพเพียงอย่างเดียว แต่เนื่องจากน้ำมันที่ขุดได้มีปริมาณเกินความต้องการของกองทัพ จึงมีการเปิดปั๊มน้ำมันสามทหารซึ่งจำหน่ายน้ำมันราคาถูกให้แก่ประชาชนคนไทย และเพื่อแบ่งเบาภาระของประชาชน

ดังนั้นเรื่องของพลังงานของประเทศไทยจึงเริ่มต้นมาจากความมั่นคง เริ่มต้นจากกองทัพ ก่อนที่จะเปลี่ยนไปตามสภาพการณ์ และมีการจัดตั้งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หรือ ปตท. ซึ่งได้มีการโอนทรัพย์สินของ องค์การเชื้อเพลิง มาเป็นของ ปตท. รวมทั้ง ป้ายปั๊มน้ำมันสามทหารก็ถูกเปลี่ยนถ่ายเป็นป้ายของ ปตท. และมีการแปรรูปเป็นรัฐวิสาหกิจในรูปแบบบริษัทมหาชน จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

“หลังจากยุคองค์การเชื้อเพลิง มิติความมั่นคงในด้านพลังงานถูกมองข้ามไปตลอด และมองในมิติธุรกิจการค้าด้านพลังงานมาจนถึงทุกวันนี้ จึงเป็นโจทย์ว่าจะทำอย่างไรจะให้เรื่องของน้ำมันหันมายึดถือผลประโยชน์ของชาติและประชาชนเหมือนดังแต่ก่อน ซึ่งเป็นเรื่องยากแต่ต้องทำ” นายพีระพันธุ์กล่าว

นายพีระพันธุ์กล่าวอีกว่า ทุกวันนี้สถานการณ์น้ำมันในประเทศมีราคาสูงมาก สาเหตุที่แท้จริงมาจากโครงสร้างราคาน้ำมันในประเทศไทยมีลักษณะพิเศษจากประเทศอื่น คือ มีภาษีหลายส่วน จากราคาเนื้อน้ำมันประมาณ 18 บาท ราคาน้ำมันที่ขายให้กับประชาชนอยู่ที่ 42 บาทต่อลิตร ซึ่งมีโครงสร้างจากภาษีน้ำมัน ภาษีมูลค่าเพิ่ม การจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมัน และการจ่ายค่าการตลาด จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้น้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศไทยมีราคาแพงมาก

“หากคิดจากโจทย์ที่ว่าจะต้องเอาหลักการเรื่องความมั่นคงและการดูแลประชาชนมาดูแลเรื่องของน้ำมัน ประเทศไทยจำเป็นจะต้องมีน้ำมันสำหรับผู้มีรายได้น้อย มีน้ำมันสำหรับเกษตรกรที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติ มีน้ำมันสำหรับพี่น้องชาวประมง ที่ทุกวันนี้ใช้น้ำมันมาตรฐาน EURO5 และจ่ายค่าน้ำมันในราคาเดียวกันกับรถ Super Car นี่คือเหตุผลที่จะต้องมีการออกกฎหมายใหม่ให้ยึดผลประโยชน์ของชาติและประชาชน โดยเน้นมิติด้านความมั่นคงมากยิ่งขึ้น” นายพีระพันธุ์กล่าว

นอกจากนี้ นายพีระพันธุ์ยังกล่าวอีกว่า สิ่งที่ประเทศไทยจำเป็นต้องมี ก็คือ น้ำมันสำรองที่เป็นของรัฐซึ่งจะตอบโจทย์ทั้งน้ำมันเพื่อความมั่นคงและความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ และจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นยิ่งตอกย้ำความจำเป็นในข้อนี้ และน้ำมันที่จะสำรองต้องเป็นน้ำมันที่เป็นของรัฐ ไม่ใช่น้ำมันสำรองของเอกชน

ปัจจุบันในทุก ๆ วันมีการใช้น้ำมันประมาณ 120 ล้านลิตร หรือประมาณ 1 ล้านบาร์เรล แต่ที่ผลิตได้มีเพียง 7 หมื่นบาร์เรลต่อวันเท่านั้น การมีน้ำมันสำรองจึงเป็นทางออกในการรองรับทุก ๆ สถานการณ์ด้านพลังงาน

คลังน้ำมันสำรอง หรือ Strategic Petroleum Reserve(SPR) เป็นแนวคิดที่มีจุดเริ่มต้นจากสงครามอ่าวในตะวันออกกลางที่ทำให้ราคาของน้ำมันพุ่งสูงขึ้น และมีการร่วมกันก่อตั้ง International Energy Agency หรือ IEA ภายใต้แนวคิดจะต้องมีการสต็อกน้ำมันเพื่อดูแลประเทศสมาชิกในช่วงที่เกิดสถานการณ์ที่ไม่ปกติเกิดขึ้น เป็นการใช้ปัญหาน้ำมันมาแก้ปัญหาน้ำมัน ด้วยการเก็บน้ำมันในช่วงราคาถูก และเอาออกมาใช้ในช่วงที่ราคาแพง โดยมีมาตรฐานที่จะต้องเก็บไว้ร้อยละ 90 ของปริมาณความต้องการในแต่ละวัน

“จากหลักการนี้ ประเทศไทยจะต้องมีการเก็บสำรองน้ำมันประมาณ 10,000 ล้านลิตร ซึ่งหากมีการริเริ่มทยอยเก็บมาเรื่อย ๆ สิ่งนี้ก็สามารถเป็นจริงได้ หลายคนปรามาสว่าประเทศไทยจะหางบประมาณจากไหนเพื่อจัดทำระบบ SPR ซึ่งในแนวทางของผม เราไม่สามารถใช้เรื่องของเงินมาแก้ปัญหาน้ำมันได้ เราจะต้องใช้เรื่องของน้ำมันมาแก้ไขปัญหาของน้ำมัน โดยการเปลี่ยนจากเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันมาเป็นการเก็บน้ำมันเข้ากองทุนน้ำมันแทน ซึ่งนอกจากจะได้ความมั่นคงด้านพลังงานแล้ว สิ่งหนึ่งที่ทำได้ทันที ก็คือ การลดราคาน้ำมัน เนื่องจากเงินที่ต้องจัดเก็บเข้ากองทุนน้ำมันจะไม่มีอีกต่อไป

“แม้จะมีการท้วงติงว่าถ้าทำเช่นนี้ผู้ประกอบการจะอยู่ไม่ได้ แต่เราต้องนึกไว้เสมอว่า ไม่มีผู้ประกอบการประชาชนอยู่ได้ แต่ไม่มีประชาชนผู้ประกอบการอยู่ไม่ได้ ดังนั้นการแก้ปัญหาเราต้องเอาประชาชนมาก่อน”  นายพีระพันธุ์กล่าว

นายพีระพันธุ์ระบุว่า เรื่องของพลังงานทั้ง น้ำมัน ไฟฟ้า ก๊าซ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีพของพี่น้องประชาชน เราต้องเปลี่ยนจากการคิดบนหลักพื้นฐานของธุรกิจการค้ามาคิดถึงประชาชนเป็นหลักแทน วันนี้เราต้องวางหลักการให้ชัดว่า พลังงานเป็นไปเพื่อความมั่นคงไม่ใช่เพื่อธุรกิจการค้า ซึ่งทั้งหมดกำลังดำเนินการผ่านกฎหมายหลาย ๆ ฉบับ

นายพีระพันธุ์กล่าวอีกว่า ทุกวันนี้ที่เราทราบว่าเนื้อน้ำมันมีราคา 18 บาทนั้น ตัวเลขที่มีการรายงานมาถูกต้องหรือไม่ ผู้ประกอบกิจการทุกรายไม่ต้องรายงาน เพราะที่ผ่านมาถือว่าเป็นความลับทางการค้า และเป็นที่มาของการอ้างอิงราคาน้ำมันที่สิงคโปร์ในการดำเนินการใด ๆ มาตลอด ทำให้ตนต้องออกประกาศเป็นครั้งแรกให้มีการแจ้งต้นทุนราคาน้ำมัน ซึ่งปรากฎว่าราคาน้ำมันของไทยแพงกว่าตลาดโลก เนื่องจากมีการตั้งบริษัทลูกหลายบริษัท และขายต่อเป็นทอด ๆ ทำให้ราคาสูงกว่าตลาดทั่วไป

“ที่ผ่านมาเราไม่เคยกำกับ ไม่เคยควบคุมราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เพราะเราไม่ได้ยึดว่าเรื่องของพลังงานต้องเอาความมั่นคงมาเป็นตัวตั้ง สิ่งหนึ่งที่ผมใช้อธิบายตลอด ก็คือ การขอขึ้นราคาบะหมี่สำเร็จรูปมาม่าต้องมีการขออนุญาตกระทรวงพาณิชย์ ต้องชี้แจงต้นทุน แต่เรื่องน้ำมันเชื้อเพลิงผู้ประกอบการสามารถกำหนดราคาได้ด้วยตนเอง” นายพีระพันธุ์กล่าว

ส่วนเรื่องของไฟฟ้าและเรื่องของก๊าซก็เป็นเรี่องที่มีความเชื่อมโยงกันค่อนข้างมาก ในอดีตไฟฟ้าที่ผลิตขึ้นส่วนมากใช้น้ำมันเตาและถ่านหินในการผลิต แต่เนื่องด้วยปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมทำให้มีการปรับตัวและหันมาใช้ก๊าซธรรมชาติที่มีการปล่อยคาร์บอนน้อยที่สุด และกำลังเดินหน้าสู่ยุคพลังงานสะอาด

ปัจจุบันแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยมีกำลังการผลิตประมาณ 2,500 ล้าน ลบ.ฟุต ต่อวัน แต่มีความต้องการในการใช้ 5,000 ล้าน ลบ.ฟุต ซึ่งส่วนที่ขาดมีทั้งการนำเข้าจากแหล่งก๊าซในพม่า และนำเข้าจากต่างประเทศในรูปแบบ LNG ที่มีต้นทุนสูงในการเปลี่ยนสถานะจากของเหลวเป็นก๊าซและมีความผันผวนตามราคาตลาดโลก

จากระบบปัจจุบันที่ก๊าซมีราคาเดียว (Pool Gas) ทั้งสำหรับโรงไฟฟ้า สำหรับพี่น้องประชาชน และสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ก๊าซในการเดินเครื่องจักรซึ่งมีประมาณ 1,000 โรงงาน ควรต้องปรับเป็นสองราคา โดยโรงงานอุตสาหกรรมไม่ควรใช้ก๊าซราคาเดียวกับพี่น้องประชาชน และไม่ควรมีการแบกราคาก๊าซของโรงงานอุตสาหกรรมไว้บนบ่าของพี่น้องประชาชนชาวไทยทั้งชาติ

แต่ในเรื่องนี้เมื่อมีการสอบถามทางโรงงานแล้วปรากฎว่า มีเอกชนที่ส่งก๊าซมาขายยังโรงงานอุตสาหกรรมกำหนดราคาขายตามตลาดโลก ทำให้มี 2 บริษัทในประเทศที่กอบโกยผลประโยชน์ของประเทศไปเปล่า ๆ ถึงปีละ 20,000 ล้านบาท

ในเรื่องของไฟฟ้านั้น ปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังการผลิตประมาณ 50,700 MW ซึ่งตามกฎหมายหน้าที่ส่วนนี้ควรเป็นของ กฟผ. แต่ปัจจุบัน กฟผ. ผลิต 16,261.02 MW เอกชนรายใหญ่ผลิต 18,973.50 MW และในส่วนเอกชนรายใหญ่นี้ มีเพียงบริษัทเดียวผลิตถึง 16,000 MW

สำหรับผู้ผลิตรายเล็ก 9,254.68 MW ส่วนใหญ่เป็นการผลิตโดยใช้พลังงานสะอาด และมีปัญหาจากสัญญาที่ทำไว้ตั้งแต่เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ซึ่งมีการจ่ายค่า ADDER หรือให้กำไรฟรี ๆ เพื่อจูงใจนักลงทุน และแทนที่จะให้สัญญาปีต่อปี ก็มีการแก้ไขจนกลายเป็นสัญญาชั่วนิรันดร์ เนื่องจากเอกชนบอกว่าต้นทุนสูงและหาคนปล่อยกู้ยาก โดยทำสัญญากันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 แต่ที่ร้ายแรงกว่านั้นก็คือ สัญญาเหล่านี้ไม่มีการหมดอายุ คือพอครบวาระจะต่อสัญญาโดยทันที และรัฐไม่สามารถยกเลิกสัญญาฝ่ายเดียวได้ ซึ่งสัญญาที่มีค่า ADDER นี้ เรามีมากกว่า 500 สัญญา

ในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยใช้ไฟฟ้าสูงสุด 36,000 MW ค่าเฉลี่ย 25,100 MW แต่เรามีกำลังการผลิตประมาณ 50,000 MW ทำให้เรามีไฟสำรองเกินกว่า 25,600 MW และมีมากกว่าครึ่งหนึ่งของกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ไม่ต้องเดินเครื่องจักร แต่ตอนทำสัญญา เอกชนอ้างว่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้า 1,000 MW ต้องลงทุนสูง และหากเดินเครื่องไม่เต็มกำลังการผลิตจะทำให้การชำระเงินกู้ลำบาก รัฐจึงต้องมีการจ่าย ‘ค่าพร้อมจ่าย’ ให้เต็มกำลังการผลิต ซึ่งเป็นการจ่ายเหมือนเดินเครื่องจักรปกติ และทั้งหมดนี้ประชาชนเป็นผู้แบกภาระ

นี่คือเหตุผลที่ผู้ผลิตไฟฟ้าถึงร่ำรวยมหาศาลในระยะเวลาไม่กี่ปี โดยกฎหมายของ กฟผ. มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 ซึ่งสภาพการผลิตไฟฟ้า การค้า และเศรษฐกิจแตกต่างจากปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพราะทุกวันนี้ กฟผ. ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องของการผลิตไฟฟ้า โดยทุกอย่างขึ้นอยู่กับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ทั้งหมด ซึ่งเป็นเรื่องแปลกที่ผู้ที่เซ็นสัญญาไม่มีอำนาจในการเจรจากำลังการผลิต

สำหรับเรื่องของการเปลี่ยนผ่านพลังงานนั้น น้ำมันและก๊าซเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่สามารถเปลี่ยนผ่านได้ แต่พลังงานไฟฟ้ากำลังสู่การเปลี่ยนผ่าน โดยเป็นการเปลี่ยนผ่านกรรมวิธีการผลิตไฟฟ้า จากปัจจุบันที่ใช้ก๊าซธรรมชาติไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน หรือที่เรียกว่า RE (Renewable Energy) คือพลังงานที่ใช้แล้วไม่หมด ทั้งแสงแดด ลม น้ำ และชีวมวล

เป้าหมายของการเปลี่ยนผ่านมีการกำหนดร่วมกันว่าในปี ค.ศ. 2050 เราจะต้องมีการปล่อยคาร์บอนน้อยที่สุด และในปี ค.ศ.2070 เราจะมีการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ดังนั้น ก่อน 2070 เราจะต้องเปลี่ยนการใช้ก๊าซ น้ำมัน ถ่านหิน ในการผลิตไฟฟ้าเป็น RE ทั้งหมด โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ เนื่องจากทั้งพลังงานลมและพลังงานน้ำมีความไม่แน่นอนสูง รวมทั้งการให้ความสำคัญกับเทคโนโลนีแบตเตอรี่ เพื่อจัดเก็บ RE ในช่วงที่ไม่สามารถผลิตได้

“เราทุกคนเป็นเจ้าของประเทศ มีส่วนได้เสียด้านพลังงาน ผมเป็นนักการเมือง มาแล้วก็ไป แต่ช่วงที่มาทำงานต้องทำให้ดี วางแผนยังไงให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากการคิดถึงแต่เรื่องของธุรกิจการค้า และสามารถเปลี่ยนผ่านเป็นพลังงานหมุนเวียน แต่ถ้าเราไม่สามารถแก้ไขปัญหาการผูกขาดด้านพลังงานได้ มันก็ไม่มีประโยชน์ ทุกคนต้องช่วยผลักดันให้เรื่องพลังงานหลุดพ้นจากธุรกิจการค้ากลับมาเป็นเรื่องความมั่นคงของประเทศให้ได้” นายพีระพันธุ์กล่าวในตอนท้าย

Written By
More from pp
“นายกฯ” แนะประชาชน “สวมหน้ากาก หมั่นล้างมือ เว้นระยะห่าง และตรวจ ATK” สม่ำเสมอ เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อโควิด -19
4 เมษายน 2565-นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ย้ำมาตรการป้องกันตนเองขอประชาชน “สวมหน้ากาก หมั่นล้างมือ...
Read More
0 replies on “‘พีระพันธุ์’ ผ่าปมพลังงานไทย ชี้ต้องเดินหน้าทลายการผูกขาดทางธุรกิจ กลับสู่หลักการพลังงานเพื่อประชาชนและความมั่นคงของชาติ”