9 ธันวาคม 2564 นางสาวกัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา พร้อมด้วย นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา จ.สุพรรณบุรี ได้แก่ นายสรชัด สุจิตต์ นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ นายเสมอกัน เที่ยงธรรม นายนพดล มาตรศรี พร้อมพี่น้องประชาชนชาวสุพรรณบุรี กว่า 3,000 คน ให้การต้อนรับ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในโอกาสเดินทางมาเปิดพิธีการจ่ายเงินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว และมาตรการคู่ขนานปีการผลิต 2564/65 ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง และ ธ.ก.ส. วงเงิน 829 ล้านบาท ณ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สาขาตลาดกลางสินค้าเกษตรสุพรรณบุรี อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี
โครงการดังกล่าวฯ เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง และ ธนาคาร ธ.ก.ส. ที่จะให้ความช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยกระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรมาปรับปรุงและขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกระทรวงเกษตรฯ ให้เป็นปัจจุบัน เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลกลางของประเทศ และเพื่อให้การช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกร
สำหรับโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 นั้น ได้รับการอนุมัติวงเงินงบประมาณเพิ่มเติมจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 และคณะกรรมการ ธ.ก.ส. เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 จำนวน 74,569 ล้านบาท เป้าหมายเกษตรกร 4.69 ล้านครัวเรือน
สำหรับโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 จะประกันราคาให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว 5 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลินอกเขต ตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน
โดยจะโอนเงินเข้าบัญชีของเกษตรกรโดยตรงตามข้อมูลทะเบียนเกษตรกรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผ่านการประชุมของคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงฯ งวดที่ 3 – 7 ในช่วงระหว่างวันที่ 9 – 13 ธันวาคม 2564 รวมทั้งสิ้น 3.58 ล้านครัวเรือน เป็นเงินจำนวนกว่า 64,000 ล้านบาท สำหรับในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี มีการโอนเงินให้เกษตรกร จำนวน 51,203 ครัวเรือน วงเงิน 1,064 ล้านบาท
ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถตรวจสอบผลการโอนเงินได้ทางแอปพลิเคชัน ธ.ก.ส. A-Mobile ตลอด 24 ชั่วโมง และจะมีข้อความแจ้งเตือนเงินเข้าบัญชีผ่าน LINE Official BAAC Family กรณีที่ลูกค้าสมัครใช้บริการ BAAC Connect รวมถึงสามารถเบิกถอนเงินสดผ่านตู้ ATM ของ ธ.ก.ส. ทั่วประเทศ
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการยกระดับราคาข้าวเปลือก ธ.ก.ส. ยังได้ดำเนินมาตรการคู่ขนานผ่านโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2564/65 เพื่อให้เกษตรกรมีเงินทุนหมุนเวียนระหว่างชะลอการขายข้าว ไม่ต้องเร่งขายข้าวเปลือกในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมากและราคาตกต่ำ วงเงินสินเชื่อรวมกว่า 20,000 ล้านบาท โดยไม่คิดดอกเบี้ยกับเกษตรกร เป็นระยะเวลา 5 เดือน
ตั้งเป้าดูดซับปริมาณข้าวเปลือก 2 ล้านตัน ประกอบด้วย ชนิดข้าวเปลือกหอมมะลิในเขต 23 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด และภาคเหนือ 3 จังหวัด (เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกเขต 23 จังหวัด ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกปทุมธานี 1 และข้าวเปลือกเหนียวอีกด้วย