14 กุมภาพันธ์ 2568 ที่รัฐสภา พรรคประชาชน นำโดย นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคประชาชน และ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคประชาชน แถลงหลังการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต้องล่มลง เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบเป็นวันที่สอง
นายณัฐพงษ์ ระบุว่า พรรคประชาชนผิดหวังอย่างยิ่ง เพราะการประชุมครั้งนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญ หากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเดินหน้า ก็ยังพอมีโอกาสให้ประเทศไทยได้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันการเลือกตั้งปี 2570 แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลขาดเจตจำนงทางการเมือง และพรรคเพื่อไทยไม่ได้มีความจริงใจในการผลักดันเรื่องนี้อย่างแท้จริง
“ถ้าพรรคเพื่อไทยต้องการผลักดันร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจริงๆ ร่างที่เสนอเข้ามาควรเป็นร่างของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่ใช่ร่างของพรรคเพื่อไทยเพียงพรรคเดียว นี่เป็นสาเหตุที่พรรคร่วมรัฐบาลไม่ให้การสนับสนุน” นายณัฐพงษ์กล่าว
นอกจากนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เคยให้สัมภาษณ์ระบุว่า นายกฯ แพทองธารไม่เคยหารือเรื่องนี้กับพรรคภูมิใจไทยอย่างจริงจัง ซึ่งชี้ให้เห็นว่า พรรคเพื่อไทยไม่ได้เดินหน้าผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างจริงใจแต่แรก
นายณัฐพงษ์ กล่าวต่อว่า หากนายกรัฐมนตรีจริงจังกับการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรใช้สถานะผู้นำรัฐบาลเจรจากับพรรคร่วมรัฐบาล และแสดงจุดยืนให้ชัดว่า พรรคเพื่อไทยเคารพเสียงของประชาชน
“ถ้ารัฐบาลไม่สามารถผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นนโยบายที่พรรคร่วมรัฐบาลแถลงไว้ต่อรัฐสภาได้ นายกฯ มีอำนาจในการยุบสภา เพื่อคืนเสียงให้ประชาชนตัดสิน” นายณัฐพงษ์กล่าว
ทั้งนี้ พรรคประชาชนยืนยันเดินหน้าเรียกร้องให้มีการอภิปรายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป โดยมองว่าการแก้ไขมาตรา 256 และการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญจากประชาชน 100% เป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาระบบการเมืองไทยให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
ด้านนายพริษฐ์ วัชรสินธุ ชี้ว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องได้รับเสียงสนับสนุนจาก สว. อย่างน้อย 1 ใน 3 หรือ 67 เสียง แต่จากสถานการณ์ในสภา พบว่าเสียง สว. ที่เข้าร่วมประชุมมีไม่ถึงเกณฑ์ ทำให้พรรคเพื่อไทยกังวลว่าหากเดินหน้าโหวต อาจจะพ่ายแพ้
“หากพรรคเพื่อไทยกลัวว่าลงมติแล้วจะตกเหว เราก็สามารถเดินหน้าอภิปรายไปก่อนได้ เพราะการปิดประชุมรัฐสภา 2 วันเต็มๆ เป็นการเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์แทนที่จะใช้เวทีรัฐสภาสื่อสารกับประชาชนที่รอฟัง” นายพริษฐ์กล่าว
นายพริษฐ์ยังตั้งคำถามถึงสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา ว่าเป็นเพราะ ข้อกังวลทางกฎหมาย หรือเป็นเพราะความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลกันแน่
“หากพรรคเพื่อไทยกังวลเรื่องคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ก็ควรเชิญชวนพรรคภูมิใจไทยและ สว. ให้มาสนับสนุนการส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ แต่ปรากฏว่า ทั้ง สส. พรรคภูมิใจไทย และ สว. กลุ่มนี้ ไม่แม้แต่จะลงมติสนับสนุนให้ส่งเรื่องไปศาล ดังนั้น ต้นตอของปัญหานี้จึงไม่ใช่ข้อกังวลทางกฎหมาย แต่มาจาก ความขัดแย้งกันเองในพรรคร่วมรัฐบาล”
![](https://plewseengern.com/wp-content/uploads/2024/09/plew-300x245.jpg)