รัฐธรรมนูญ “สักยันต์” #เปลวสีเงิน

เปลว สีเงิน

โชคดีของประเทศ
ที่รัฐสภามี “ภูมิใจไทย” และ “สว.สีน้ำเงิน” ทำหน้าที่คัดท้าย “ระแวด-ระวังภัย” ให้บ้านเมือง
คอยสกัดขบวนการ “กัดกร่อนบ่อนเซาะ” ที่ใช้ระบบ “พวกมากลากไป” ออกกฎหมาย “เปิดประตู” สู่การเปลี่ยนระบบ-ล่มชาติ!

ประชุมรัฐสภาเมื่อวาน (๑๓ ก.พ.)
แก้รัฐธรรมนูญมาตรา ๒๕๖ เพิ่มเติม ๑๕/๑ เปิดทาง “ฉีกรัฐธรรมนูญปัจจุบันทิ้ง-ตั้งสสร.เขียนใหม่”

ยังไม่ทันได้ถก ก็ถูกถีบคว่ำซะแล้ว!

“ภูมิใจไทย-สว.สีน้ำเงิน” ประกาศตัวชัดเจน ไม่ร่วมการพิจารณา เพราะการเพิ่ม ๑๕/๑ แบบนี้ สุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย

“สว.เปรมศักดิ์ เพียยุระ” เสนอส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ สส.เพื่อไทย “สนับสนุน” พรึ่บ

แลกน้ำลายไร้สาระกันไป-มา ก็เสนอนับองค์ประชุม พรรคประชาชน คงนึกว่าชัวร์ ลำพังแค่ ๒ พรรค “เพื่อไทย-ประชาชน” ก็เกินครึ่งแล้ว

ที่ไหนได้ หัวโด่เด่ในห้องประชุม มีแค่ “๒๐๔ หัว”

“ไม่ครบองค์” ประธานวันนอร์เลย “สั่งปิดประชุม”!

นัดใหม่ วาเลนไทน์ ๙.๓๐ น.วันนี้ ค่อยมา “แก้เพื่อฉีก” รัฐธรรมนูญกันใหม่เป็นวันที่ ๒!

ความจริงสส.พรรคประชาชนแต่ละคน หน้าตาก็ฉลาดเหมือนแมงป่องทั้งนั้น แต่สู้เพื่อไทยที่ฉลาดเหมือนจิ้งจอกไม่ได้

ตอนตั้งรัฐบาลก็ถูกเพื่อไทยเล่น “ซ่อนตูดแมว” มาทีแล้ว ไม่จำ

เมื่อวาน ถูกเพื่อไทย “ตัดเชือก” ลอยแพกลางรัฐสภาอีก “อีเย็น” ใน “นางทาส” เป็นสภาพไหน พรรคประชาชน ก็สภาพนั้น คือ “ไม่เคยเข็ด-เคยจำ”

เหตุที่องค์ประชุมไม่ครบ ไม่ใช่เพื่อไทย “หักหลัง” เพื่อน หากแต่ “หักซึ่งๆ หน้า” เลยเชียวหละ

แก้เพื่อฉีกมาด้วยกัน เห็นท่าไม่ดี ชิ่งหนี “ทิ้งเพื่อน” เอาตัวรอด ด้วยการทำให้ที่ประชุม “ไม่ครบองค์” ซะงั้น ทั้งที่เป็นเจ้าของญัตติ

มาออกจอเอาหน้าว่า เพื่อชัวร์ จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความในประเด็น “ต้องทำประชามติกี่ครั้ง”?

วันนี้ ๑๔ กุมภา.ถกยก ๒
ขอบอกรุ่นใหม่ชาวแมงป่องว่า ถ้าต้องการไป “ชูหางเองอ้า อวดกล้าฤทธี” ละก็ ก็ไปประชุมเถอะ

แต่ถ้าไปด้วยความหวัง ว่าจะได้อภิปรายญัตติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๕๖ และเพิ่มหมวด ๑๕/๑ นั้น

นอนผลัดกันเกาหลังอยู่บ้านดีกว่า ยังไงก็ “ไม่ครบองค์ประชุม” เหมือนเมื่อวาน!

เห็น “นายชูศักิ์ ศิรินิล” และ “นายสุทิน คลังแสง” แถลงว่า จะชงเรื่องผ่านประธานรัฐสภาให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอีกครั้ง

ผมขอถามสมุนเทวดา จะให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในประเด็นไหนอีกมิทราบ?

ต้องเข้าใจให้ชัด “ศาลรัฐธรรมนูญ” ไม่ใช่ติวเตอร์ของพรรคการเมืองหรือรัฐสภา ที่ต้องคอยบอกข้อสอบให้นะ

อีกอย่าง ศาลฯ ก็เคยวินิจฉัย “กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม ของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕๖ (๑)” ไปแล้ว เมื่อ มีนา.๖๔

ปี ๖๗ เพื่อไทยพยายามจะดันญัตติร่าง “แก้เพื่อฉีก” รัฐธรรมนูญเข้าที่ประชุมรัฐสภาอีกให้ได้ แต่ประธานวันนอร์ไม่ยอมบรรจุญัตติเข้าระเบียบวาระ

เพราะ “สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร” มีความเห็นว่า ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทยนั้น

ต้องด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ ๔/๖๔ ที่ระบุว่า จะต้องทำประชามติสอบถามประชาชนก่อนว่า “ประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่?” แล้ว

จึงไม่สามารถบรรจุระเบียบวาระสู่ที่ประชุมของรัฐสภาได้!

เพื่อไทย โดยนายชูศักดิ์นั่นแหละ ทำเป็น “ดื้อตาใส” ข้องใจไม่เสร็จว่า “รัฐสภามีอำนาจพิจารณาเรื่องนี้หรือไม่?”

เมษา.๖๗ “เพื่อไทย” ส่งเรื่องให้ศาลฯตีความเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาอีกครั้งว่า
การเสนอแก้รัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสสร.ที่มาจากการเลือกตั้งนั้น
รัฐสภามีอำนาจลงมติพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญได้เลยหรือต้องทำประชามติก่อน?

ศาลฯ ท่านก็บอกแบบเอ็นดูว่า….

“กรณีนี้ ไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาที่เกิดขึ้นแล้ว
และคำร้องมีสาระสำคัญเป็นเพียงข้อสงสัย ขอให้ศาลฯ อธิบายเนื้อหาคำวินิจฉัยที่ ๔/๒๕๖๔ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยโดยละเอียดและชัดเจนแล้ว”

และศาลฯ ท่านก็ “ยกคำร้อง” นี้!

เนี่ย ความซ้ำซากเป็นมาอย่างนี้ ความจริง ไม่น่าเกิดขึ้นอีก ถ้าไม่มีวาระ “แอบจิต”

เพราะญัตตินี้ ประธานวันนอร์เคยปฎิเสธมาครั้งแล้วว่า “ไม่สามารถบรรจุระเบียบวาระเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาได้
เพราะต้องด้วยคำวินิจฉัยที่ ๔/๖๔ ที่ว่า จะต้องทำประชามติสอบถามประชาชนก่อนว่า “ประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่?”

เรื่องควรจำ ประธานวันนอร์กลับแสร้งลืม นำญัตตินี้บรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมให้มีปัญหาอีกทำไมก็ไม่ทราบ!?

เพื่อไทยส่งเรื่องผ่านประธานวันนอร์ให้ศาลฯ ตีความอีก ศาลฯ ท่านก็ “ตีตก” อีกแหละ เชื่อเหอะ

เพราะเรื่องเดิม-ประเด็นเดิม มีคำวินิจฉัยที่ ๔/๒๕๖๔ ละเอียดและชัดเจนแล้ว!
นำมา “สีซอ” ให้ฟังในประเด็นสำคัญอีกครั้งก็ได้
………………………

“รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ หมวด ๑๕ เพียงบัญญัติให้สามารถแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้เท่านั้น

ไม่มีบทบัญญัติให้ “จัดทำขึ้นใหม่ทั้งฉบับ”

การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ด้วยวิธีการร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ให้มีหมวด ๑๕/๑

ย่อมมีผลเป็นการ “ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐”

อันเป็นการ “แก้ไขหลักการสำคัญ” ที่มีผู้อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญดั้งเดิมต้องการปกป้องคุ้มครองไว้

หากรัฐสภาต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ต้องจัดให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญออกเสียงประชามติเสียก่อนว่า “สมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่”

ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วย จึงดำเนินการ “จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ต่อไป

เมื่อเสร็จแล้ว ต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติว่า เห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ซึ่งเป็นการให้ประชาชนพิจารณาเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
แล้วจึงนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย

เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว จึงนำประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อไป อันเป็นกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญตามครรลองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงวินิจฉัยว่า…..
รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่า

“ประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่” และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง
…………………………….

ขนาดนี้แล้ว ยังจะเค้นกระษัยเอาอะไรอีก หือ?

ที่ทำเป็นไม่เข้าใจ เพราะศาลฯ วินิจฉัย “ไม่ตรงใจ” มากว่า

กลัวทำประชามติก่อน “ประชาชนจะไม่เอาด้วย”
จึงหักดิบ จะตั้งสสร.ให้ได้ก่อน อย่างอื่นค่อยพลิกแพลงทีหลัง

ไอ้การเพิ่มหมวด ๑๕/๑ ตั้งสสร.เขียนใหม่ทั้งฉบับนั้น มันเป็นการ “ยกเลิกรัฐธรรมนูญ” ฉบับปัจจุบันโดยตรงชัด ๆ

การยกเลิกรัฐธรรมนูญ….
เท่ากับ “ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” มันทำไม่ได้

ศาลฯ ท่านบอก “หากจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ได้”

ขั้นแรก ต้องทำประชามติ ถามประชาชนก่อนว่า “สมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่?”

ถ้าส่วนใหญ่โอเค.การร่างฯ ก็ร่างตามกรอบมาตรา ๒๕๖(๑)…(๘)โดยรัฐสภา มาตรา ๑๕๖(๑๕)
ไม่ใช่ไประดมคนอายุ ๑๘ มาสมัครเป็นสสร.อย่างที่ทำ

เมื่อมีการร่างแก้ไขเพิ่มเติม หมวด ๑ หมวด ๒ หมวด ๑๕ และเรื่องเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่องค์กรอิสระ

ก็ต้องทำประชามติเป็นครั้งที่สอง ว่าประชาชนเห็นชอบกับร่างนั้นหรือไม่ ตาม(๘)ของมาตรา ๒๕๖

ร่างเสร็จทั้งฉบับ ก็ให้ประชาชนพิจารณาเนื้อหา ด้วยการทำประชามติครั้งที่ ๓ ถามประชาชนว่า
“เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่?

เนี่ย ตามคำวินิจฉัย ศาลฯท่านก็ตอบชัด จะต้องไปเซ้าซี้-ซ้ำซากถามทำไมอีก

จะให้ศาลท่านลงมาจ้ำจี้-จ้ำไช อย่างนั้นหรือ ว่า …
นี่…แบบนี้นะ ก.ไก่ ต้องเขียนแบบนี้นะ เป็นอักษรตัวเดียวที่ไม่มีหัว นี่ ค.ควาย เป็นอักษรตัวเดียว ที่ใช้กับทั้งคนและทั้งควาย

มันจำเป็นต้องถึงขนาดนั้นเชียวหรือ ท่านผู้ทรงเกียรติ?

ถ้าถึงขนาดนั้น ราชบัณฑิตยสภา คงต้องนำอักษร ฅ.คน กลับมาใช้สำหรับฅนแล้วหละ แล้ว ค.ควาย ก็ใช้กับสัตว์มีคุณ คือควาย ตรงตัวไปเลย!

ประเด็นที่จะตามให้สนุกวันนี้ก็คือ การประชุม “แก้เพื่อฉีก” รัฐธรรมนูญ จะล่ม “ซ้ำรอย” เมื่อวานหรือไม่?

ประเด็นที่สอง อยากรู้จัง อาจารย์ชูศักดิ์-เพื่อไทย จะอ้างมาตราไหน-ประเด็นใด ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอีก?

นายกฯ หญิง “ยอดอัจฉริยะ” ล่ะ ว่าไง…รายการนี้ พ่อสั่งสู้หรือสั่งหมอบล่ะ?

เปลว สีเงิน
๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๘

Line Open Chat *เพิ่มช่องทางการรับข่าวสาร จากเว็บไซต์ *อ่านคอลัมน์ เปลว สีเงิน ก่อนใคร *ส่งตรงถึงมือทุกคืน *เปิดกว้างเพื่อแฟนคอลัมน์พูดคุยแบบกันเอง ทุกเรื่องราว ข่าวสารบ้านเมือง สังคม ฯลฯ
Written By
More from plew
“ทฤษฎีใหม่” รัฐประหาร
เข้าใจเลย…… ที่นาย “ชินโซ อาเบะ” ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ ญี่ปุ่น สาเหตุหนึ่ง จากโรค “ลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง”
Read More
0 replies on “รัฐธรรมนูญ “สักยันต์” #เปลวสีเงิน”