จับตา “จัดเก็บภาษีความเค็ม” ขนมขบเคี้ยว เพิ่มทางเลือกสุขภาพ ลดเสี่ยงโรค NCDs

โดย รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม

จากกรณีที่กรมสรรพสามิตมีแผนที่จะจัดเก็บภาษีความเค็มเนื่องจากคนไทยติดการบริโภคเค็มมากเกินไป โดยเริ่มจากสินค้าขนมขบเคี้ยวก่อน ซึ่งจะมีความชัดเจนในปี 2568 นี้ โดยกลุ่มขนมขบเคี้ยวจะถูกเก็บตามปริมาณโซเดียมต่อผลิตภัณฑ์ในอัตราภาษีแบบขั้นบันได โดยหวังให้ประชาชนบริโภคความเค็มลดน้อยลง

โดยจะดำเนินการจัดเก็บภาษีความเค็มในรูปแบบเดียวกับภาษีความหวานซึ่งบังคับใช้ในประเทศไทยก่อนหน้านี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาและส่งผลให้ประชาชนลดการบริโภคน้ำตาลลงชัดเจน โดยไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการธุรกิจ

โดยรัฐตั้งเป้าหมายให้คนไทยลดการบริโภคเค็มให้ได้ร้อยละ 30 โดยก่อนหน้านี้ทางกระทรวงการคลังได้มีนโยบายและมอบหมายให้กรมสรรพสามิตไปศึกษาเรื่องกลไกการเก็บภาษีความเค็มในบางสินค้าที่มีอยู่ โดยเฉพาะการควบคุมสินค้าประเภทขนมขบเคี้ยว ซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่กระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่

ซึ่งเป้าหมายหลัก ๆ ของกระทรวงการคลังต้องการจะดูแลเรื่องสุขภาพของคนไทย ซึ่งจากข้อมูล 10 ปีที่ผ่านมา คนไทยก็ยังบริโภคเค็ม ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขก็มีนโยบายเป็นหลักยุทธศาสตร์ที่จะพยายามให้คนไทยลดการบริโภคเค็มลง

สอดคล้องกับ นพ.กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การลดโรค NCDs เป็นภาระงานและความท้าทายสำคัญของระบบสาธารณสุข มีคนไทยเสียชีวิตจากโรค NCDs กว่า 400,000 คนต่อปี รัฐต้องสูญเสียต้นทุนทางเศรษฐกิจกว่า 1.6 ล้านล้านบาทต่อปี ซึ่งในปี 2568 มีสโลแกน “กรมควบคุมโรคห่วงใย อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี” มุ่งสนับสนุนกลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) นำนวัตกรรมเครื่องวัดความเค็ม(Salt Meter) ขยายผลสร้างความตระหนักและควบคุมปริมาณโซเดียมในการปรุงอาหารของครัวเรือน โรงเรียน โรงพยาบาล และสถานที่ทำงานทั่วประเทศ

เป็นแนวทางการดำเนินงานเฝ้าระวังและลดการบริโภคเกลือและโซเดียมระดับจังหวัด รวมถึงกำหนดปริมาณเกลือและโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป ผลักดันมาตรการภาษีโซเดียม มุ่งเป้าให้ประชาชนคนไทยมีสุขภาพดี ห่างไกลโรค NCDs ด้วยการลดการกินเค็ม ลดเกลือและโซเดียมเกินกำหนด สอดรับ 1 ใน 9 เป้าหมายลด NCDs ระดับโลก (9 global targets for noncommunicable diseases for 2025)

“จากข้อมูลพบว่าคนไทยได้รับโซเดียมจากการกินอาหาร 4,351.69 มิลลิกรัมต่อคนต่อวัน สูงกว่าเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดอยู่ที่ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเทียบเท่าเกลือ 1 ช้อนชา ที่สำคัญยังพบว่า คนไทยป่วยด้วยโรคที่สัมพันธ์กับการบริโภคโซเดียม เช่น โรคความดันโลหิตสูง ไต หัวใจและหลอดเลือดสมองกว่า 22 ล้านคน ซึ่งคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกระบุว่า ภายในปี 2568 ไทยควรจะต้องทำให้ประชาชนลดการบริโภคเกลือและโซเดียมลง 30% โดยจะต้องปรับเปลี่ยนและพัฒนาผลิตภัณฑ์ลดเกลือและโซเดียม สร้างความรู้สร้างความตระหนักแก่ผู้บริโภค การปรับสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และผลักดันให้เป็นรูปธรรมเพื่อบรรลุเป้าหมายประชาชนมีสุขภาพดี”

รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า เราควรให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาโรคที่ไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs ซึ่งมีสาเหตุสำคัญจากการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสมและเกินความพอดี ส่งผลทำให้ตัวเลขของผู้ป่วยด้วยเพิ่มขึ้น เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไต โรคหลอดเลือดสมอง พบว่าคนไทยมากกว่า 22 ล้านคน ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวกับการบริโภคโซเดียม ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาทเลยทีเดียว และทางกระทรวงสาธารณสุขมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ คิดเป็นร้อยละ 52 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กไทยกินเกลือโซเดียมเกินความต้องการ และมีอุบัติการณ์ของภาวะความดันโลหิตสูงถึง 10 % ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการกินขนมกรุบกรอบและอาหารสำเร็จรูปมาก ดังนั้นภาครัฐจึงรณรงค์เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมบริโภคของคนไทย ในขณะที่ภาคเอกชนสามารถมีส่วนร่วมสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพประชาชนมากขึ้น

โดยที่ผ่านมาเครือข่ายลดบริโภคเค็มและองค์กรพันธมิตร รณรงค์และให้ความรู้ เผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อโซเชียลมีเดียและสื่อสารมวลชนทุกแขนงในด้านโภชนาการเพื่อให้ผู้บริโภคบริโภคโซเดียมลดลง สนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรม ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารที่มีโซเดียมต่ำ เครื่องตรวจวัดความเค็ม (Salt Meter) และการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของการบริโภคโซเดียมต่อสุขภาพ สร้างเครือข่ายความร่วมมือ (โรงเรียน ชุมชน โรงพยาบาล และองค์กรเอกชน) เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารของประชาชน รวมทั้งประสานความร่วมมือกับผู้ผลิตอาหารในการลดปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์อย่างค่อยเป็นค่อยไป ช่วยให้แต่ละคนสามารถปรับลิ้นให้คุ้นเคยรสชาติที่เปลี่ยนไปได้เมื่อเวลาผ่านไป หรือเป็นนิสัยที่ “เค็มน้อยอร่อยได้” ซึ่งนําไปสู่การควบคุมการบริโภคเกลือและความดันโลหิตที่ดีขึ้นภายในชุมชนอย่างยั่งยืน

การปรับเปลี่ยนสูตรผลิตภัณฑ์อาหารให้มีโซเดียมลดลงเป็นมาตรการที่สามารถลดการเสียชีวิตจากโรค NCDs ได้ดี โดยมีค่าใช้จ่ายจากฝั่งภาครัฐน้อยและให้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิผล ซึ่งหนึ่งในวิธีหรือมาตรการที่จะกระตุ้นภาคอุตสาหกรรมให้ปรับเปลี่ยนสูตรผลิตภัณฑ์อาหารให้มีความเค็มน้อยลง คือการใช้มาตรการทางภาษีและราคาโดยมีประเทศที่ได้ดำเนินมาตรการภาษีเกลือและประสบความสำเร็จ คือ ประเทศฮังการี ซึ่งผลของการดำเนินงานแสดงให้เห็นถึงการปรับเปลี่ยนสูตรอาหารของภาคอุตสาหกรรม และการลดการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารที่มีเกลือสูง นอกจากนี้มีหลายประเทศที่ได้มีการวิเคราะห์และคาดการณ์ผลกระทบด้านสุขภาพหากมีการนำมาตรการภาษีเกลือและโซเดียมมาปฏิบัติใช้ ซึ่งทุกการศึกษาชี้ให้เห็นผลกระทบเชิงบวกทั้งด้านสุขภาพ และความคุ้มค่าในการดำเนินมาตรการ

การมีเกณฑ์สำหรับภาษีความเค็มในประเทศไทยที่ทางกระทรวงสาธารณสุขจะร่วมกับกรมสรรพสามิต ในการที่จะพิจารณาในการจัดเก็บ ทำให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ประกอบการ ซึ่งเป้าหมายตอนนี้ไม่ใช่เรื่องของรายได้ แต่เน้นเรื่องสุขภาพของคนไทย หากมีการเก็บภาษีความเค็มจริง จะเก็บเฉพาะสินค้าที่มีปริมาณโซเดียมสูงเกินเกณฑ์ที่กำหนดเท่านั้น เช่น สินค้าประเภทขนมขบเคี้ยวที่มีรสเค็ม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และโจ๊กสำเร็จรูป ดังนั้นผู้ประกอบการควรมุ่งเน้นไปที่การปรับสารอาหารให้มีปริมาณโซเดียมน้อยลงหรือใช้เกลือโซเดียมต่ำแทน อย่างไรก็ตามสินค้าในบางประเภท เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มีข้อจำกัดในแง่ของการปรับราคา ซึ่งผู้ประกอบการเองจะต้องปรับกลยุทธ์ทางการตลาด เพราะว่าตอนนี้คนไทยรักสุขภาพมากขึ้นและหันมาบริโภคสินค้าที่ดูแลสุขภาพมากขึ้นโดยปรับสูตรอาหารเพื่อลดบริโภคเค็มลงหรือโซเดียมลดลง ซึ่งเมื่อปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์ลดต่ำลงในระดับที่เหมาะสมปลอดภัย ผลิตภัณฑ์นั้นก็จะไม่ถูกเก็บภาษี ทำให้ราคาสินค้าคงเดิมและยังลดต้นทุนในการใช้เกลือโซเดียมอีกด้วย มาตรการภาษีนี้จะเป็นแรงจูงใจให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคหันมานิยมอาหารโซเดียมต่ำ เค็มน้อยและดีต่อสุขภาพในระยะยาว ขณะเดียวกันต้องมีมาตรการควบคู่ไปกับการปรับพฤติกรรมผู้บริโภคเลือกรับประทานอาหารให้ถูกต้องตามหลักโภชนาการ โดยเราจะต้องศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค ให้เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารตามไปด้วย รวมถึงต้องให้ความรู้ความเสี่ยงในการบริโภคโซเดียมมากเกินไปด้วย

ในส่วนของกลุ่มตลาดอาหารขนมขบเคี้ยว ประกอบด้วย มันฝรั่งทอด ขนมขึ้นรูป และขนมที่ทำมาจากเนื้อปลา สาหร่าย ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการของขนมสาหร่ายรายใหญ่ มีการปรับลดโซเดียมลงได้ร้อยละ 50 หรืออีกกลุ่มคือ มันฝรั่งทอดรายใหญ่ ก็ลดโซเดียมลงถึงร้อยละ 30 ด้วย

Written By
More from pp
“กำลังใจจากบะหมี่หนึ่งชาม” เรื่องราวดีๆ ที่อยากแบ่งปัน
“แม้เวลาจะผ่านไป แต่บทความบทนี้ยังคงสามารถสร้างความประทับใจไม่รู้ลืมแก่หลายๆท่านที่เคยได้อ่าน ลองมาทบทวนอีกสักครั้ง เชื่อว่าบะหมี่ชามนี้ยังสามารถเป็นกำลังใจให้คุณได้ไม่เสื่อมคลาย” “บะหมี่หนึ่งชาม” เรื่องราวต้องย้อนหลังไปนานโข ในร้านบะหมี่ชื่อ ฮอกไกเต เมืองซับโปโร
Read More
0 replies on “จับตา “จัดเก็บภาษีความเค็ม” ขนมขบเคี้ยว เพิ่มทางเลือกสุขภาพ ลดเสี่ยงโรค NCDs”