สสส. ผนึกกำลัง 6 ภาคีสุขภาวะทางปัญญา ได้แก่ ธนาคารจิตอาสา ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล มูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา โครงการผู้นำแห่งอนาคต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่ม We Oneness และเครือข่าย Creative Citizen จัดทำชุดความรู้ ‘เมนูสร้างภูมิคุ้มใจ 14 วันฉันทำได้’ ชูแนวคิด หยุดเดินทางภายนอก ย้อนกลับมาภายในใจ ชวนคนไทยอยู่บ้านพัฒนาจิตใจ ในช่วงโควิด-19 นำเสนอวันละ 1 เมนู ติดต่อกัน 14 วัน เริ่มเมนูแรกเสาร์ที่ 28 มีนาคม 2563 ทางเว็บไซต์ https://www.happinessisthailand.com และเฟสบุ๊กแฟนเพจ ความสุขประเทศไทย https://www.facebook.com/happinessisthailand
อยู่บ้านอย่างสร้างสรรค์
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด–19 ส่งผลให้คนทั่วไปใส่ใจเรื่องความปลอดภัยในการดำรงชีวิต เลือกที่จะอยู่ในบ้านหลังทราบตัวเลขผู้ติดเชื้อในไทยที่ค่อย ๆ เพิ่มจำนวนขึ้น เพื่อลดความเสี่ยง หนึ่งในพันธกิจของ สสส. ที่สำคัญคือเรื่องจิตและปัญญา จึงร่วมกับ 6 ภาคีเครือข่ายสุขภาวะทางปัญญา ได้แก่ ธนาคารจิตอาสา ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล มูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา โครงการผู้นำแห่งอนาคต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่ม We Oneness และเครือข่าย Creative Citizen จัดทำชุดความรู้ ‘เมนูสร้างภูมิคุ้มใจ 14 วันฉันทำได้’ เพื่อเป็นแนวทางในการใช้เวลาอยู่บ้านอย่างสร้างสรรค์ สร้างความผ่อนคลาย ฝึกสติ เรียนรู้ด้านสุขภาวะทางปัญญา เป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์ชวนคนอยู่บ้านเพื่อช่วยชาติลดการระบาดของโรค
หยุดเดินทางภายนอก ย้อนกลับมาภายในใจ
นายธีระพล เต็มอุดม ผู้อำนวยการร่วมธนาคารจิตอาสา กล่าวว่า สถานการณ์ตอนนี้อยู่ในจุดที่ทุกคนต้องให้ความร่วมมือกัน ควรเริ่มต้นจากตัวเราเองก่อน คำว่า “อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ” เป็นส่วนสำคัญในการหยุดการระบาดของโรคได้ แต่หลายคนก็อาจยังไม่คุ้นชินกับวิถีชีวิตที่ต้องเปลี่ยนไป เกิดสภาวะตึงเครียดฝังลึก ตื่นตระหนก หวาดกลัว สับสน สภาพจิตใจย่ำแย่ จึงเกิดแนวคิด ‘หยุดเดินทางภายนอก ย้อนกลับมาภายในใจ’ ใช้ช่วงเวลาที่เราอยู่บ้านในการสร้างภูมิคุ้มใจ พัฒนาคุณภาพจิตให้รู้เท่าทันการรับข้อมูลข่าวสาร เข้าใจในการดูแลจิตใจตัวเองและผู้อื่น ไม่บั่นทอนจิตใจซึ่งกันและกัน เป็นการ ‘อยู่รอด อยู่ร่วม อยู่อย่างมีความหมาย’ พัฒนาเป็นกิจกรรมในชุดความรู้ ‘เมนูสร้างภูมิคุ้มใจ 14 วันฉันทำได้’ ที่คนไทยทุกเพศ ทุกวัย สามารถทำได้ง่าย ๆ ที่บ้านของตัวเอง
เสิร์ฟ 14 เมนู เมนูละ 4 กิจกรรม
ดร.จิรัฐกาล พงศ์ภคเธียร รองผู้อำนวยการศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในช่วงเวลาที่ทุกคนมีเวลาหยุดอยู่บ้านเป็นเวลานาน ๆ นั้น ให้มองว่าเป็นโอกาสที่ดี ที่จะได้ใช้เวลาอยู่กับตัวเองและครอบครัว และหันกลับมาดูแลตัวเอง กิจกรรม ‘เมนูสร้างภูมิคุ้มกันใจ 14 วันฉันทำได้’ เป็นแนวทางปฏิบัติง่ายๆ มีเกณฑ์หลัก 4 ข้อ ที่นำมาสู่กิจกรรมที่เป็นรูปธรรม คือ 1.กิจวัตรประจำวันที่สร้างความรู้เนื้อรู้ตัวหรือมีสติ (Readjust) เช่น อาบน้ำ รับประทานอาหาร ล้างมือ ล้างจาน 2.การหันกลับมาสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของตัวเองและใคร่ครวญชีวิตที่ผ่านมา (Reflect) 3.การดูแลความสัมพันธ์ของเรากับคนรอบข้าง (Relate) และ 4.การทำกิจกรรมที่ได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเอง (Retreat) เช่น งานศิลปะ กีฬา การเจริญภาวนา ซึ่งกิจกรรมในแต่ละเมนูก็ช่วยให้เกิดความผ่อนคลายจิตใจ เป็นเครื่องมือในการช่วยเยียวยา พัฒนาคุณภาพจิตใจให้เกิดสติ เกิดความหวังพลังใจ เข้าถึงภาวะความสงบ ความสุขในภาวะตึงเครียดของสถานการณ์ได้