ผักกาดหอม
ประชาธิปไตยเหมือนกัน
แต่คนละระบอบ
ฉะนั้นเบื้องต้นต้องเข้าใจระบอบการปกครองของเกาหลีใต้ ก่อนที่จะวิพากษ์วิจารณ์ว่า รัฐบาลเกาหลีใต้เอาอย่างไทย
เกาหลีใต้ปกครองโดยระบอบประธานาธิบดี
ส่วนไทย ระบอบรัฐสภา ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
รัฐประหารในเกาหลีใต้จบมานานแล้ว ตั้งแต่ปี ๒๕๒๒ ตรงกับยุครัฐบาลพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ของไทย ซึ่งก็ยังคงวนเวียนอยู่กับการรัฐประหารเช่นกัน
เหตุการณ์ที่เกาหลีใต้เมื่อคืนวันที่ ๓ ธันวาคม ที่ผ่านมา อาจจะใกล้เคียงกับคำว่ารัฐประหาร แต่ยังไม่ใช่รัฐประหาร
แม้จะมีการประกาศกฎอัยการศึกโดย ประธานาธิบดี ยุน ซอก-ยอล แต่คอการเมืองเกาหลีใต้ก็รู้อยู่แล้วว่า ไม่สามารถพัฒนาไปสู่การรัฐประหารได้เลย
นั่นเพราะความไม่ชัดเจนในเงื่อนไข อีกทั้งรัฐบาลยังเป็นเสียงข้างน้อยในสภาฯ
กฎอัยการศึก คือกฎหมายซึ่งตราไว้สําหรับประกาศใช้เมื่อมีเหตุจําเป็นอย่างยิ่งยวด เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ
เช่น เกิดสงคราม การจลาจล
เป็นการเปิดทางให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอํานาจหน้าที่เหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน ในส่วนที่เกี่ยวกับการระงับปราบปรามหรือการรักษาความสงบเรียบร้อย
แต่สถานการณ์ในเกาหลีใต้ ไม่เฉียดคำว่า สงคราม หรือจลาจลเลย
ตามภาพข่าวจึงเห็นปืนทหารที่เข้าล้อมอาคารรัฐสภาจำนวนมากไม่ได้ใส่แมกกาซีน บางนายใส่โครงนำลูกเลื่อนแบบฝึกสีฟ้า ซึ่งยิงกระสุนจริงไม่ได้
ผู้บัญชาการทหารเองคงวิเคาะห์ออกว่าจุดจบของเรื่องจะเป็นอย่างไร
ซึ่งเรื่องก็เป็นไปตามที่ควรจะเป็น คือกองกำลังทหารถอนออกจากอาคารรัฐสภาทั้งหมด เปิดทางให้สมาชิกรัฐสภาราว ๑๙๐ คน จากทั้งหมด ๓๐๐ คน เข้าร่วมการประชุมเพื่อยกเลิกประกาศกฎอัยการศึก
การลงมติเป็นเอกฉันท์ทั้ง ๑๙๐ เสียง ซึ่งมาจากพรรคฝ่ายค้านที่ครองเสียงข้างมากในสภา
ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้ดำเนินคดีกับ ประธานาธิบดี ยุน ซอก-ยอล ในข้อหากบฏ
นักการเมืองสีส้มของไทยนำเรื่องนี้มาปั่นว่า หากมีการรัฐประหารในไทย จะต้องใช้เกาหลีใต้โมเดล
บ้างก็ว่าเกาหลีใต้รัฐประหารไม่สำเร็จเพราะไม่มีสถาบันไหนรับรอง
เลยเถิดไปถึงเพราะเกาหลีใต้ยังบังคับเกณฑ์ทหาร ทำให้ทหารมีบทบาท
ให้ความเห็นแบบนี้ ไปกินนมนอนยังมีประโยชน์กว่าครับ
รัฐประหารในไทยนั้นต่างไปอย่างสิ้นเชิง
แทบทุกครั้งมักอ้างเรื่อง การคอร์รัปชันของฝ่ายการเมือง
จะสมเหตุสมผลหรือไม่ แต่ในข้อเท็จจริง การคอร์รัปชันมีเกิดขึ้นในแทบทุกรัฐบาล และไม่มีทีท่าว่าจะลดลงแต่อย่างใด
เกาหลีใต้สามารถผ่านยุคไม่มีรัฐประหาร และปราบคอร์รัปชัน มาได้อย่างน่าชื่นชม
แต่ไทยมิได้เป็นเช่นนั้น
การคอร์รัปชันยังคงเป็นสาเหตุนำไปสู่การรัฐประหาร
แต่นักการเมืองเอาแต่เรียกร้องว่าต้องหาทางหยุดรัฐประหารให้ได้ ขณะที่มืออีกข้างยังคงรับผลประโยชน์จากใต้โต๊ะอยู่
คำให้สัมภาษณ์ของ “รังสิมันต์ โรม” เหมือนจะรู้ แต่รู้ไม่หมด
“…ดูเหมือนทางทหารของเกาหลีใต้ มีความยั้งๆ อยู่ แล้วจะเห็นว่าภาคประชาชนของเกาหลีใต้ ก็มีความกระตือรือร้นในการออกมาปกป้องประชาธิปไตยในระดับที่สูงมาก ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีความสำคัญที่จะทำให้ประชาธิปไตยในเกาหลีใต้เดินหน้า
แต่ต้องยอมรับว่าการรัฐประหารปี ๒๕๕๗ ของไทย ความเข้มแข็งของฝ่ายการเมือง การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ ดูเหมือนจะพร้อมใจปฏิบัติและเชื่อฟังในสิ่งที่คณะรัฐประหารกำหนด ถ้าเป็นแบบนี้ โอกาสที่เราจะเห็นรัฐประหารครั้งสุดท้ายคงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นคงเป็นบทเรียนสำคัญที่เราเรียนจากเพื่อนบ้าน และเรียนจากตัวเราเองเมื่อ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗
เรารู้แล้วการรัฐประหารไม่ใช่สิ่งที่ควรจะยอมรับ และก่อวิกฤตปัญหาจำนวนมาก ซึ่งเราจะเห็นว่าสภาต้องเสนอร่างกฎหมายในการยกเลิกคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ใช้เวลาและงบประมาณเยอะมาก
เพราะฉะนั้นต้องระลึกได้แล้วว่าปัญหาการรัฐประหารแบบนี้ การที่ฝ่ายกองทัพจะมาอยู่เหนืออำนาจประชาชนควรจะพอได้แล้ว และหลักการสำคัญของทั่วโลก ถ้าไปประเทศที่เจริญแล้ว คือกองทัพต้องอยู่ใต้พลเรือน
ก็หวังว่าเราจะใช้โอกาสนี้ทำให้ประเทศไทยมีระบบกฎหมายที่เข้มแข็ง และทำให้กองทัพอยู่ใต้พลเรือนอย่างแท้จริง…”
เห็นด้วยครับว่า รัฐประหารไม่ควรเกิดขึ้นอีก
แต่ “รังสิมันต์ โรม” ก็ไม่ได้พูดถึงสาเหตุของการทำรัฐประหาร อย่าว่าอื่นไกลเลยครับ กรณีทุจริตจำนำข้าว พรรคส้มตั้งแต่เป็นพรรคอนาคตใหม่ ก้าวไกล มาถึงพรรคประชาชนแทบไม่แตะเลย
การที่ “รังสิมันต์ โรม” ตำหนิว่าฝ่ายการเมืองพร้อมใจปฏิบัติและเชื่อฟังในสิ่งที่คณะรัฐประหารกำหนด ก็อาจเป็นเพราะไม่เคยมีประสบการณ์ตรงด้วยตัวเอง
ก็ไม่แปลกหรอกครับเมื่อรัฐประหารแล้วนักการเมืองเอาแต่ก้มหน้าก้มตาทำตามทหารสั่ง
โดยเฉพาะนักการเมืองโกง
ที่จริง “รังสิมันต์ โรม” กับพรรคพวกในพรรคส้มเองก็มีประสบการณ์น้ำท่วมปากคล้ายๆ กันนี้
เคยเกิดกรณี สส.พรรคส้มละเมิดทางเพศ ขณะนั้นแทบจะหานักการเมืองในพรรคส้มให้ความเห็นไม่ได้เลย
ก้มหน้าก้มตาปิดปากเงียบกันหมด
“รังสิมันต์ โรม” ก็รวมอยู่ในนั้นด้วย
กว่าจะตั้งหลักได้ ว่าต้องตอบกับสังคมที่คาดหวังกับพรรคส้มอย่างไร ก็ใช้เวลานับเดือน
พูดง่ายๆ เรื่องต่อต้านรัฐประหารต้องใช้ความกล้าอย่างมาก เพราะอาจถูกจับไปนอนกินโอเลี้ยง ข้าวผัด ฟรีๆ ได้
แต่เรื่อง สส.ร่วมพรรค ก่อคดีละเมิดทางเพศ มันยากเย็นอะไรนักหนาที่จะอธิบายต่อสังคม
เหม็นขี้ฟันครับ!
เกาหลีใต้ให้อำนาจประธานาธิบดีเป็นผู้ประกาศกฎอัยการศึก
ขณะที่ไทย การประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๗ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย
นี่คือความแตกต่าง
เมื่อเกาหลีใต้ไม่เกิดการรัฐประหารนานแล้ว การกระทำของ ประธานาธิบดี ยุน ซอก-ยอล จึงถูกมองเป็นเรื่องความจนตรอกทางการเมือง มากกว่าการจะนำไปสู่การรัฐประหาร
แต่การรัฐประหารในไทย จริงจัง และเด็ดขาด สั่งปิดเทอม ส่ง สส.กลับบ้านทุกครั้ง
ประชาธิปไตยเกาหลีเขาพัฒนาไปไกลกว่าไทยมาก สาเหตุไม่ใช่เพราะไม่มีรัฐประหาร แต่เพราะเขาปราบคอร์รัปชันกันอย่างจริงจัง
พูดแล้วลงมือทำ
แต่ในไทยวันนี้ ยังต้องจับตาดูกันอยู่ครับว่า รัฐบาลจะโกงตอนไหน
