“MOU 44” ผูกมัดใครกันแน่? #เปลวสีเงิน

เปลว สีเงิน

“MOU 44” จริงๆ แล้ว มันยังไงกัน “ใครได้-ใครเสีย?”
ฟังแต่ละผู้รู้แล้ว ยังมึนซ้าย-มึนขวา
เมื่อวาน อ่านบทสัมภาษณ์ “คุณนพดล ปัทมะ” อดีตรมว.ต่างประเทศ ในเว็บไซต์ “แนวหน้า”
และอ่านที่ “คุณคำนูณ สิทธิสมาน” อดีตสว.โพสต์เฟซ
เกิดความรู้สึกว่า ฟังข้อมูลรอบด้าน “แก้หลง” ได้ดีที่สุด
ฉะนั้น วันนี้ นำบทสัมภาษณ์ “คุณนพดล” มาลงให้อ่านก่อน แล้ววันจันทร์ จะนำที่คุณคำนูณโพสต์หักล้างมาให้อ่าน
……………………………..

“นายนพดล ปัทมะ” ให้สัมภาษณ์ “แนวหน้า ออนไลน์” เมื่อ ๓๑ ต.ค.๖๗

“….ด้านหนึ่งผมเห็นคนสนใจเรื่องนี้มาก แต่อีกด้าน ก็พบปฏิบัติการ “ไอโอ” บิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อทางการเมือง
เผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ บอกว่า “รัฐบาลจะยกเกาะกูดให้กัมพูชา” บ้าง
บอกว่า MOU44 จะทำให้ไทยเสียเกาะกูดบ้าง

ขอยืนยัน ณ ปัจจุบัน เกาะกูดยังเป็นของไทย ไม่ใช่ของกัมพูชา เพราะตามสนธิสัญญา “สยาม-ฝรั่งเศส” 2450 ระบุชัด “เกาะกูดเป็นของไทย”

นอกจากนั้น ตรวจสอบกับทาง “กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย” กระทรวงการต่างประเทศ ก็ไม่พบว่า กัมพูชาเคยอ้างสิทธิ์เหนือเกาะกูด

ดังนั้น เกาะกูดอยู่ในเขตอำนาจอธิปไตยของไทยล้านเปอร์เซ็นต์”

ส่วนประเด็นพื้นที่ทับซ้อน 26,000 ตร.กม.ที่ MOU44 รับรอง จนทำให้เกิดข้อกังวลว่า อาจกลายเป็นของกัมพูชาหรือไม่?

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า MOU44 ทั้งไทยและกัมพูชา ต่างประกาศ “เขตไหล่ทวีปทับซ้อน” กัน
และต่างอ้างสิทธิ์ตาม “อนุสัญญาสหประชาชาติ” ว่าด้วยกฎหมายทะเล 2525(UNCLOS 1982)

โดยกัมพูชาบอกว่า “อ้างสิทธิ์ตามนั้น” ส่วนไทยก็อ้างเช่นกัน โดยประกาศ ในปี 2515 หรือ 2516
จึงทับซ้อนกัน ซึ่งแบ่งได้ 2 ส่วน หากดูแผนที่ประกอบ

1.ส่วนด้านบน ประมาณ 10,000 ตร.กม. เป็นพื้นที่ ที่ต้องมา “แบ่งเขตทางทะเล” กัน

2.ส่วนด้านล่าง หรือใต้เส้น 11 องศาเหนือลงมาประมาณ 16,000 ตร.กม. ใช้คำว่า “เขตพัฒนาร่วม”

“แต่ต้องย้ำว่า MOU44 ไทยไม่ได้ยอมรับเส้นไหล่ทวีปที่กัมพูชาประกาศ ในทางกลับกัน กัมพูชาก็ไม่ยอมรับเส้นไหล่ทวีป ที่ไทยประกาศ”

เมื่อ “ต่างไม่ยอมรับ” ก็ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่นั้นได้ และมีเพียง 2 ทางเลือก คือ

1.ทำสงคราม รบกันให้แพ้-ชนะไปข้างหนึ่ง กับ

2.เจรจาโดยสันติวิธี 2 ชาติ เลือกเจรจา ไม่รบกัน

ไทย-กัมพูชาเลือกอย่างหลัง จึงเป็นที่มาของ MOU44 ที่ไทย “ไม่ได้ยอมรับการประกาศไหล่ทวีปของกัมพูชา”

แต่เป็นการที่ ทั้ง 2 ชาติ มาตกลงกัน “ในสิ่งซึ่งตกลงไม่ได้” เป็นกลไกในการเจรจาเท่านั้นเอง

ที่มีข้อมูลว่า แม้กัมพูชาจะอ้างกฎหมายระหว่างประเทศอย่าง UNCLOS แต่กัมพูชาก็ไม่ได้เข้าร่วมอนุสัญญา UNCLOS

เพราะเกรงว่าเข้าแล้ว จะทำให้เสียเปรียบประเทศเพื่อนบ้านในการเจรจา ประเด็นนี้ต้องบอกว่า

1.UNCLOS เป็นกฎหมายจารีตที่ผูกพัน แม้ประเทศนั้นจะไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกก็ตาม

ซึ่งกฎหมายระหว่างประเทศในหลายเรื่อง แม้เราไม่ได้เป็นสมาชิก เช่น กฎหมายว่าด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และอาชญากรรมสงคราม

2.ไทยจำเป็นต้องปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ก็คือกฎหมายระหว่างประเทศ

ดังนั้น กัมพูชาไม่สามารถเลือกเอาแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์กับตนเองได้ ต้องปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศด้วย

เพราะอย่างน้อย กัมพูชาก็เข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ (UN) ดังนั้น การเจรจาในอนาคต ก็ต้องอยู่ในกรอบของ UNCLOS 1982

เพราะเป็นหนึ่งในกฎหมายระหว่างประเทศของสหประชาชาติ

“กลไกในการเจรจาก็คือคณะกรรมการเทคนิคร่วมไทย-กัมพูชา หรือ Joint Technical Committee (JTC) ซึ่งในอดีตก็มี เข้าใจว่ารองนายกฯท่านหนึ่ง

ก่อนรัฐบาลเศรษฐา ท่านเป็นประธาน JTC ในรัฐบาลนี้ยังไม่ได้ตั้ง ยังไม่ได้เข้าครม.”

ฉะนั้น กลไกในการเจรจา JTC ยังไม่เกิดขึ้น เห็นมีพรรคการเมืองหนึ่ง เรียกร้องที่จะให้บอกว่า “MOU44 จะทำให้เสียดินแดน”

แต่ก็มีการตั้งคำถามว่า “แล้วในอดีตทำไมไปเจรจาบนพื้นฐานของ MOU44” ลองไปคิดดูนะ “ผมไม่คิดว่า MOU44 ทำให้ไทยเสียดินแดน”

คนลงนาม MOU 44 คือ “นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย” เป็นผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศ ในระดับหาตัวจับยาก จึงไม่คิดว่านายสุรเกียรติ์จะเพลี่ยงพล้ำให้ฝ่ายกัมพูชา

ที่มีการเทียบเคียงกรณี “ปราสาทพระวิหาร” ที่มีบันทึกความตกลงร่วม(MOU43)แล้วศาลโลกตัดสินให้ไทยเสียดินแดน แม้จะไม่ได้ระบุชัดเจนก็ตาม

ต้องอธิบายก่อนว่า ตัวปราสาท “ไทยยกให้กัมพูชา” ไปแล้ว ตั้งแต่ปี 2505 หลังแพ้คดีใน “ศาลโลก”

แต่ที่มีปัญหาคือ ในเวลานั้น ศาลโลกไม่ได้ตัดสินเรื่องเส้นเขตแดน จึงเกิดการกล่าวอ้างที่ทับซ้อนกัน

ฝ่ายไทยยึดแนวสันปันน้ำ แต่ฝ่ายกัมพูชา ยึดตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส เหลื่อมกันประมาณ 14.6 ตร.กม.

ช่วงปี 2549 หรือ 2550 กัมพูชาจะนำปราสาทพระวิหารไปขึ้นทะเบียนมรดกโลก นับรวมพื้นที่ทับซ้อนนั้นไปด้วย

“ตอนที่ผมเป็น รมว.ต่างประเทศ จึงไปเจรจาให้กัมพูชาตัดพื้นที่ทับซ้อนออก ให้เอาไปขึ้นเฉพาะตัวปราสาท แล้วเขียนแผนผังใหม่ เรื่องก็มีเพียงเท่านี้”

แต่ผมกลับถูกกล่าวหาว่าขายชาติ ทำให้ไทยเสียดินแดน แต่ข้อเท็จจริงก็อยู่ในคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อปี 2558 ที่ยกฟ้องผม

เป็นการยืนยันว่า ผมไม่ได้ขายชาติ อีกทั้งยังช่วยปกป้องดินแดนด้วยซ้ำ …ฯลฯ…

ส่วนความขัดแย้งว่าด้วยกัมพูชาจะนำปราสาทพระวิหารไปขึ้นทะเบียนมรดกโลก เมื่อตกลงกันไม่ได้ มีการปะทะกันตามแนวชายแดน

ทำให้ช่วงปลายเดือน เม.ย. 2554 กัมพูชาจึงไปยื่นเรื่องที่ศาลโลก และมีคำตัดสินออกมาในวันที่ 11 พ.ย. 2556

ระบุว่า พื้นที่บริเวณปราสาท(Vicinity)ศาลบอกชัดเจน อยู่ในย่อหน้าที่ 98 ของคำตัดสิน ซึ่งจะกินความแค่ไหนทั้ง 2 ประเทศต้องไปเจรจา

เรื่องนี้ “ยังไม่ได้ข้อยุติ” แต่จุดเด่นอย่างหนึ่ง ผมเข้าใจว่าอยู่ในย่อหน้าที่ 25 ระบุว่า

“กัมพูชาได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลก “เฉพาะตัวปราสาท” โดยไม่รวมพื้นที่พิพาท(Disputed Area)หรือพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร”

นี่คือผลงานของผมและรัฐบาลอดีตนายกฯ สมัครได้ทำไว้ …ฯลฯ…

MOU43 เป็นเรื่องทางบก เทียบเคียงกับ MOU44 ซึ่งเป็นเรื่องทางทะเลไม่ได้ เพราะทางบกฟ้องร้องมีคำตัดสินไปแล้วตั้งแต่ปี 2505

อีกทั้งทางบก อ้างเส้นเขตแดนคนละเส้น ส่วนทางทะเลยังไม่เคยมีการฟ้องร้องกัน ยังเป็นเพียงการเจรจา

“ผมเชื่อว่าจะไม่ซ้ำรอยเสียดินแดนอย่างกรณีเขาพระวิหาร”

ที่กัมพูชาลากเส้นเขตแดนในการตกลงกับเวียดนามและลากยาวเข้ามาพื้นที่เกาะกูดของไทย จะส่งผลกระทบอะไรกับไทยหรือไม่?

เรื่องนี้ต้องย้ำว่า “ไทยไม่ได้ไปยอมรับเส้นที่กัมพูชาลาก” ดังนั้น ตามกฎหมายระหว่างประเทศ “จึงไม่มีผลผูกพันใดๆ กับไทย”

“กัมพูชาจะลากอย่างไรก็เรื่องของเขา หากเราไม่ยอมรับก็ไม่ผูกพัน ส่วนที่มีการพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างนายทักษิณกับ ฮุน เซน

ดังนั้น จะเป็นอย่างไร หากให้นายทักษิณเข้ามาร่วมเจรจาเพื่อยุติปัญหาที่ยืดเยื้อยาวนานนี้?”

ผมขอเรียนด้วยความบริสุทธิ์ใจ ว่าเป็นเรื่องของคณะกรรมการเทคนิคร่วมหรือ JTC ที่จะเป็นกลไกหลักในการเจรจา…ฯลฯ…

ส่วนรัฐบาลปัจจุบันที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย เป็นรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ก็ยังไม่รู้จะดำเนินการอย่างไร แต่ก็คงไม่นาน น่าจะมีการขับเคลื่อน …ฯลฯ…

คำถามที่ว่า “ในเมื่อทั้งเกาะกูดและพื้นที่ทางทะเลเป็นของไทย เหตุใดต้องแบ่งผลประโยชน์ทางพลังงานกับกัมพูชาด้วย?”

ในส่วนของเกาะกูดชัดเจนอยู่แล้วว่าเป็นของไทย

ส่วน MOU 44 จะมี 2 พื้นที่

ส่วนอยู่เหนือเส้น 11 องศาเหนือขึ้นไป เป็นเรื่องการแบ่งเขตแดน(Delimitation)หรือ “แบ่งพื้นที่ทางทะเล”
แต่ส่วนอยู่ใต้เส้น 11 องศาเหนือลงไป เป็น “เขตพัฒนาร่วม”

ตามกฎหมายระหว่างประเทศ เขตแดนคือ 12 ไมล์ทะเล จาก Baseline ออกไป ประเทศจะมีอำนาจอธิปไตยเต็มที่ เช่น เรื่องภาษี เรื่องการศุลกากร

เลยจากนั้นออกไปอีก 12 ไมล์ทะเล เรียกว่า “เขตต่อเนื่อง” จากนั้นออกไปอีก เป็นเขต “เศรษฐกิจจำเพาะ” หรือประกาศ “เขตไหล่ทวีป”

แต่ละประเทศ จะไม่ได้มีอำนาจสมบูรณ์ ในเมื่อเกิดการซ้อนกันแล้วจะให้ทำอย่างไร ซึ่งผมก็ไม่ได้อยากให้มีพื้นที่ทับซ้อน

แต่ประเทศที่มีชายแดนติดกัน พอประกาศเขตออกไป 200 ไมล์ทะเล มันซ้ำซ้อนกันโดยสภาพอยู่แล้ว …ฯลฯ…

กรณีอ่าวไทย MOU44 ระบุว่า….
การเจรจาเขตแดนเหนือเส้น 11 องศาเหนือ และการพัฒนาร่วมใต้เส้น 11 องศาเหนือ

“แยกจากกันมิได้” คือต้อง “เจรจาควบคู่กันไป”

ดังนั้น การจะตกลงกันว่าเรามาพัฒนาร่วมกันก่อนแล้วค่อยพูดคุยเรื่องเขตแดนจึง “ไม่สามารถทำได้”

“ทั้ง 2 ส่วน มีผลผูกกัน ไม่สามารถเลือกทำเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งได้”

ย้ำว่า MOU44 “ไม่ใช่การยอมรับเส้นไหล่ทวีปของกัมพูชา” เป็นเพียงกลไกในการมาพูดคุยกัน
เพราะมีการ “อ้างสิทธิ์ทางทะเลซ้อนกัน”

“ท่านมองว่าถ้าเกิดการฟ้องร้องกันในอนาคต ศาลโลกจะยึดเอา MOU44 เป็นผลร้ายต่อไทย ผมคิดว่าไม่ใช่
เพราะ MOU44 ไม่ได้ตกลงอะไรกัน

“มันเป็นการตระหนักว่า เส้นที่คุณอ้าง เราไม่ยอมรับ ถึงต้องพูดคุยกันเท่านั้นเอง”
…………………………………….

นี่..คำให้การ “ฝั่งรัฐบาล”
วันจันทร์อ่าน “ฝั่งประชาชน” พระท่านว่า “สุสสูสัง ลภเต ปัญญัง”

“ฟังดีย่อมเกิดปัญญา” นั่นแล!

เปลว สีเงิน
๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๗

Line Open Chat *เพิ่มช่องทางการรับข่าวสาร จากเว็บไซต์ *อ่านคอลัมน์ เปลว สีเงิน ก่อนใคร *ส่งตรงถึงมือทุกคืน *เปิดกว้างเพื่อแฟนคอลัมน์พูดคุยแบบกันเอง ทุกเรื่องราว ข่าวสารบ้านเมือง สังคม ฯลฯ

 

Written By
More from plew
เรื่อง “คนก่อ” กับ “คนแก้” – เปลว สีเงิน
เปลว สีเงิน ดูๆ แล้วก็แปลกดี….. เลือกตั้งปี ๒๕๖๒ เสร็จ รัฐสภาเลือก “พลเอกประยุทธ์” เป็นนายกฯ ๙ มิย.,...
Read More
0 replies on ““MOU 44” ผูกมัดใครกันแน่? #เปลวสีเงิน”