๓.ป๋วย-สฤษดิ์ “แตกต่างที่ลงตัว” #เปลวสีเงิน

เปลว สีเงิน

วันนี้เป็น “ตอนสุดท้าย” ของเรื่อง “คิดถึงอาจารย์ป๋วย”
“คุณภิญโญ อุดมบุญญานุภาพ”
เปิดโลกทัศน์สะท้อนอดีต “การเมือง ๓ ยุค” ผ่านบทบาทตัวบุคคลเสริมมุม “รำลึกทางสร้างสรรค์”
แทน “ย้ำคิด-ย้ำแค้น” ซ้ำซาก รังแต่จะทำให้รากสมองเสื่อม
ตอนนี้ ค่อนข้างยาว ก็เข้าเรื่องกันเลย
………………………….

***คิดถึง อ.ป๋วย ตอน ๓ ***
“ฟ้าหัวเราะเยาะข้าชะตาหรือ ดินนั้น ถืออภิสิทธิ์ ชีวิตข้า พรหมลิขิตขีดเส้นเกณท์ชะตา ฟ้าอินทร์พรหมยมพญาข้าหรือเกรง “………

เพลงดัง-เพลงโปรดของ “จอมพลสฤษดิ์” แสดงถึงตัวตนและไลฟ์สไตล์การบริหารชนิดไม่กลัวหน้าอินทร์หน้าพรหม เด็ดขาดจริงจัง

สั่งเผาบ้องฝิ่น บ้องกัญชา ใครมานั่งซ่าหัวสะพานก่อกวนชาวบ้าน เชิญท่านไปซ่าในคุก ไม่ว่าจะเป็น ปุ๊ ระเบิดขวด, แดง ไบเล่ย์, เกชา เปลี่ยนวิถี, ผีบุญมือวางเพลิง-มือเผา “สั่งยิงเป้า” ด้วยม.17 เสร็จสรรพ

“ข้าพเจ้าขอรับผิดขอบแต่เพียงผู้เดียว ”
………………………

เล่ากันว่า หลังจากจอมพลสฤษดิ์ ปฏิวัติ 16 ก.ย.2500 ได้ให้ “พลเอกถนอม กิตติขจร” ขึ้นเป็นนายกฯ เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ

แต่มันมีเรื่อง “คันแข้ง-ขัดขา” แก้ปัญหาประเทศไม่ทันใจ

เช้า 20 ตุลาคม 2501 ที่ “หอประชุมกองทัพบก” ท่ามกลางทหารระดับผู้บัญชาการกรมขึ้นไป จอมพลสฤษดิ์กล่าวเสียงดัง

“วันนี้ เวลา 15.00 น. “รัฐบาลพลเอกถนอม” จะเข้าเฝ้าฯ ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ จากนั้น กำลังทุกหน่วย จะเคลื่อนออกปฏิบัติการตามจุดต่างๆ หากใครในที่นี่ไม่เห็นด้วย โปรดบอก”

ทุกคนนิ่งเงียบ ไม่มีนายทหารคนใดไม่เห็นด้วย

“……ขอให้ทุกคนฟังคำสั่งของผู้บังคับบัญชาอย่างเคร่งครัด คราวนี้เราจะทำงานเพื่อประเทศชาติอย่างจริงจังสักครั้ง
ขอให้ทุกคนโชคดี”

15.00 น. วันที่ 20 ต.ค. 2501 พลเอกถนอมฯ เข้าเฝ้ากราบบังคมทูลลาออกจากนายกฯ

20.45 น. จอมพลสฤษดิ์ “ประกาศปฏิวัติ” โดยมี

-จอมพลสฤษดิ์ หัวหน้าคณะปฏิวัติ
-พลเอกถนอมฯ รองหัวหน้า
-พล.ร.อ.หลวงชำนาญอรรถยุทธ ผู้ช่วยหัวหน้าฯ
-พล ต.พงษ์ ปุณณกันต์ เลขาฯ

ตามมาด้วยพลเอกสุทธิ สุทธิสารรณกร/ พลเอกประภาสฯ/ พลตรีกฤษณ์ สีวะรา/ พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ ฯลฯ…

ต่อมาเมื่อ 10 ก.พ. 2502 ก็ได้มีประกาศพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง “จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” เป็นนายกฯ คนที่ 11 ของประเทศไทย

นั่นคือเส้นทางจอมพล สฤษดิ์ ผู้พิศมัยเพลง “เย้ยฟ้าท้าดิน” มีการร้องและตบรางวัลผู้ขับร้องทุกครั้งในงานเลี้ยงของเหล่านายทหาร เป็นตำนานถูกเล่าขานกันมา

แม้แต่ “ป๋าต๊อก-สิบตรีล้อต๊อก” ยังเล่าแล้ว เล่าอีก
………………………………..

เมื่อสิ้นจอมพลสฤษดิ์ สู่ยุค “จอมพลถนอม” การเมืองก็เข้าสู่กงล้อแห่งความยุ่งยาก หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา.16

การรอคอยเอาคืนของ “ขวาพิฆาตซ้าย” ก็มาถึง

ซุ่มแผนปล่อยให้ขบวนการนิสิตนักศึกษาเล่นบทล้ำเส้นมานาน ตั้งแต่ขับไล่ “จอมพลถนอม” ต้องหนีออกนอกประเทศ

ก่อนหน้านั้น อาจารย์ป๋วย เขียนจม.เปิดผนึกอันลือลั่น จาก “นายเข้ม เย็นยิ่ง” ถึง “นายทำนุ เกียรติก้อง” (ถนอม กิตติ
ขจร) ผู้ใหญ่ “บ้านไทยเจริญ”

เสมือนเตือนว่า “การบริหารประเทศเริ่มมีปัญหา” เล่นพรรค-เล่นพวก เครือญาติ หาผลประโยชน์เชิงนโยบาย แต่ก็สายเกินที่จะแก้

จอมพลถนอมถูกขับไล่ใน “วันมหาวิปโยค” 16 ตุลา.16

วกมาดูสมรภูมิ…สนามหลวง

“สนามหลวง” เมื่อก่อนเป็นที่แข่งว่าว เช่าจักรยาน แสดงกล ขายยา พังพอนกัดงูเห่า เขย่าป๋องแป๋ง ร้อง… ‘อับดุล เอ้ย..เอ๊ย.!’

ได้กลายมาเป็นสมรภูมิ “นิสิตนักศึกษา” ชุมนุมเรียกร้อง อยู่ใกล้ “ธรรมศาสตร์ อีกต่างหาก

เอะอะมาที่สนามหลวงและธรรมศาสตร์ เป็นที่หนักใจ

อาจารย์ป๋วย ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งอธิการบดีมธ.

โดยมี “ดร.ประกอบ หุตะสิงห์” เป็นนายกสภามหาวิทยาลัย

ขณะนั้น ปี 2519 “มรว.เสนีย์ ปราโมช” เป็นนายกฯ บริหารประเทศแบบ “ฤาษีเลี้ยงลิง” อิงแต่กฏหมาย ไม่ทันเกมส์ ไม่มีเหลี่ยมคู สู้หม่อมน้องที่ชื่อ “คึกฤทธิ์ ปราโมช” ไม่ได้

ขนาดนักร้องลูกทุ่ง “เพลิน พรหมแดน” ยังร้องและแต่งเพลงให้ ไม่รู้ว่าชมหรือเหน็บ

“คึกฤทธิ์ เป็นคนคิดลึก..กลางคืนดึกๆ นั่งนึก นอนคิด”

ปฏิบัติการ “ขวาพิฆาตซ้าย” กำจัดขบวนการนิสิตนักศึกษา มีการตั้งกลุ่ม “กระทิงแดง” กลุ่ม “นวพล” และ “ลูกเสือชาวบ้าน”

มีการกล่าวหาว่าอ.ป๋วย มีแนวคิดและปลูกฝังให้ นศ.เป็นคอมมิวนิสต์ มีการสะสมอาวุธ ใน มธ.

ฝ่ายขวาที่ปลุกปั่นประกอบด้วย พล.ต.สุดสาย หัสดินฯ พท.อุทาร สนิทวงศ์ฯ ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ แม้แต่ “พระกิตติวุฑโฒ” ยังสุมไฟว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป”

สำหรับ “ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์” ผู้นี้ นัยว่าอยากจะมาเป็นใหญ่ใน มธ. แต่นักศึกษาและบุคคลากรไม่ต้อนรับ ต้องกลับไปเล่นดนตรีไทย สีซอ ล่อลูกระนาด อยู่ ม.เกษตร บางเขน เค้นความแค้น อิจฉา อ.ป๋วย อยู่ตลอด
……………………

เมื่อถึงจุดแตกหัก “พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่” ออกมายึดอำนาจเรียก “คณะปฏิรูปการปกคองแผ่นดิน”

จะปฏิรูปกวาดล้างประเทศ ออกไล่จับปราบปราม นศ. อาจารย์ป๋วยขอให้ นศ.เข้ามาอยู่ใน มธ.

แต่กลุ่มกระทิงแดง และนวพล ก็ไล่ทำร้ายนักศึกษา ลากตัวออกไปฆ่า แขวนคอที่ต้นมะขามสนามหลวง ต่อหน้าตำรวจผู้รักษากฎหมายของบ้านเมือง ยากจะแก้ไข

ในที่ประชุมคณาจารย์ใน มธ.มีเพื่อนฝูงและอาจารย์หลายคนแนะให้ อ.ป๋วย เดินทางไปต่างประเทศ เพื่อความปลอดภัย

เพราะวิทยุยานเกราะ ยุยงปลุกปั่น ให้ลงประชาทัณฑ์อธิการบดีมธ.ในฐานยุยงส่งเสริมนศ.ให้เป็นคอมมิวนิสต์ ทำลายสถาบันฯ

อ.ป๋วย เห็นว่าหลบซ่อนอยู่ไปก็ไม่มีประโยชน์

ในขณะที่ อ.ป๋วย เดินทางไปสนามบินดอนเมือง วิทยุุยานเกราะ ได้ออกอากาศปลุกเร้าโดย “อุทิศ นาคสวัสดิ์”

“พวกเรา…ขณะนี้ไอ้หัวโจก “คอมมิวนิสต์ใหญ่” มันกำลังจะหนีไปต่างประเทศที่ดอนเมือง เร็วๆ พวกเรา…ตามไปบ้อมมัน”

ผมขอยืนยัน ได้ยินจาก “วิทยุยานเกราะ” เต็มสองหูด้วยความหดหู่ใจว่า “อาจารย์ผมจะรอดไหมหนอ”?

ที่ดอนเมือง กระทิงแดง/ นวพล/ ลูกเสือชาวบ้าน ทยอยไปล้อม นายตำรวจยศ พ.ต.ท.เข้าไปตบหน้าอ.ป๋วย ขณะโทรศัพท์ จนโทรศัพท์หลุดมือและหมวกกระเด็น นำมาควบคุมในห้อง รอคำสั่งจาก “หน่วยเหนือ” และสุดท้าย “หน่วยเหนือ” สั่งให้ปล่อยอาจารย์ป๋วย ให้ไปได้
………………………………….

“กงล้อแห่งกรรม” ภายหลังทราบว่า นายตำรวจผู้ตบหน้าอาจารย์ป๋วย ได้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าเมื่อแก่ตัวและกระโดดจากชั้นสามของอาคารศูนย์การค้าดังแห่งหนึ่ง…ฆ่าตัวตาย!

อ.ป๋วย เป็นคนดี มีคุณธรรมมาก แม้คนทั้งเมืองจะรู้ชื่อของนายตำรวจผู้นี้ แต่อาจารย์ไม่ได้บอก

แม้แต่ในบันทึกที่อาจารย์เขียน เพียงแต่เล่าว่า “เมื่อนายตำรวจผู้นั้นคืนกระเป๋าและเอกสาร อาจารย์ก็บอกขอบใจและบอกเขาว่า….

“คุณกำลังทำบาปอย่างร้าย เพราะผมบริสุทธิ์จริงๆ”
…………………………………

อาจด้วยความกระทบกระเทือนทางจิตใจอย่างรุนแรง ภายหลัง อ.ป๋วย ได้ล้มป่วย ด้วยโรคเส้นโลหิตในสมองแตก เป็นอัมพาต พูดไม่ได้ เดินและขยับตัวไม่ได้

แม้จะพักรักษาตัวกลับมาได้ ก็ไม่เหมือนเดิม มือขวาใช้ไม่ได้ เดินลำบาก การรับรู้ต่างๆ ไม่ปกติ

ซึ่งเป็นภาพที่ผมได้ไปพบและเห็นมา จากการไปพบอาจารย์ที่บ้าน ซอยอารีย์พหลโยธิน ที่เล่ามา

มันช่างเป็น “กงล้อแห่งกรรม” ที่เกิดกับปุถุชนทั้งหลาย แต่ทำไมมันถึงมาเกิดกับบุคคลที่ทำดี หวังดี/ มุ่งดีต่อคนไทย/ต่อชาติบ้านเมืองอย่างนี้หนอ

ก็ได้แต่ตัดใจ ให้นึกถึงภาพในวรรณคดี

ที่ ‘โจโฉ’ ตกต่ำ ขี่ม้าหนีตาย ถูกไล่ล่า ต้องตัดหนวด ถอดเสื้อคลุมทิ้ง รอดตายได้หวุดหวิด

ริมฝั่งแยงซี โจโฉ ตะโกนขึ้นฟ้า….

“มันเป็นเวรกรรมของข้า มันเป็นคำพิพากษาของสวรรค์
มนุษย์ไม่อาจฎีกาได้”

คุณูประการใหญ่หลวงที่อาจารย์ทำไว้ให้ประเทศ จะยังคงจารึกอยู่ในความทรงจำของลูกศิษย์ผู้ต่ำต้อยคนนี้อยู่เสมอมิรู้ลืม

ที่บ้านที่ผู้เขียนสร้างไว้เพื่อใช้พำนักในบั้นปลายชีวิตที่ริมฝั่งโขง นครพนม (ถิ่นเดียวกันกับบ้านเกิดของจอมพลสฤษดิ์)
ได้อุทิศผนังด้านหนึ่ง เป็น WALL OF THE HEROES (The Heroes Who Changed The World.)

ประดับภาพของ อ.ป๋วยและจอมพลสฤษดิ์ เคียงคู่วีรบุรุษดังๆ ของโลก เพื่อให้เป็นภาพที่เตือนใจและรำลึกถึงนิรันดร์

อีกด้านหนึ่ง ไม่ลืมที่จะตั้งตู้ไวน์ ไว้ใต้รูปป๋า “สุเทพ วงศ์กำแหง” เจ้าของเพลง “เย้ยฟ้าท้าดิน” เพลงโปรดของ “จอมพลสฤษดิ์”

**ส่งภาพมาอ้างอิงให้ดูว่าข้อยทำจริง ไม่ได้โม้***
สวัสดี….”ภิญโญ อุดมบุญญานุภาพ”
……………………………….

ผมก็สวัสดีและขอบคุณ “คุณภิญโญ” ที่ให้ผมอาศัยเกาะกินซะ ๓ วันสบายไป

เปลว สีเงิน
๑๕ ตุลาคม ๒๕๖๗

Written By
More from pp
ขสมก.ผ่อนคลายมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ต้อนรับเปิดเทอม เริ่ม 1 ก.ค.นี้
องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จะผ่อนคลายมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) บนรถโดยสารประจำทาง เพื่อให้รถโดยสารแต่ละคัน สามารถรองรับผู้ใช้บริการได้เพิ่มขึ้นเป็น 70 % สอดรับกับมาตรการคลายการผ่อนคลาย มาตรการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด...
Read More
0 replies on “๓.ป๋วย-สฤษดิ์ “แตกต่างที่ลงตัว” #เปลวสีเงิน”