ส่งตรงจากอเมริกา!!!! ความภูมิใจของชาติ จ.ภูเก็ต คว้า 2 รางวัลใหญ่ในเวทีระดับโลก

ภูเก็ต คว้ารางวัล "เมืองเทศกาลโลก 2024" ในขณะที่ "ประเพณีถือศีลกินผัก จ.ภูเก็ต" คว้ารางวัลสูงสุด Grande Pinnacle จากเวที IFEA ปี 2024

นับได้ว่าเป็นปีทองของ “ภูเก็ต” ที่ต้องจารึกลงบนหน้าประวัติศาสตร์ไทย เพราะในปีนี้ “ภูเก็ต” คว้า 2 รางวัลใหญ่ จากงานประกาศรางวัล “IFEA/Haas & Wilkerson Pinnacle Award 2024” ที่จัดขึ้นโดย สมาคมเทศกาลและกิจกรรมระหว่างประเทศ (International Festivals & Events Association : IFEA) ณ เมืองพิตต์สเบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา โดยได้ประกาศผลไปเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 30 กันยายน 2567 (ตามเวลาประเทศไทย) โดย นายพัฒนชัย สิงหะวาระ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการภาคใต้ เป็นผู้รับมอบรางวัล ของจังหวัดภูเก็ตประเทศไทย

โดยรางวัลที่สร้างความภาคภูมิใจให้ชาวภูเก็ตและคนทั้งชาติก็คือรางวัล “เมืองเทศกาลโลก (World Festival and Event City)” ที่เป็นการแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของจังหวัดภูเก็ต ในทุกมิติสำหรับการเป็นเมืองเจ้าภาพแห่งงานอีเวนต์และเทศกาลในระดับโลก และนอกจากรางวัลเมืองเทศกาลโลกแล้ว “ประเพณีถือศีลกินผัก” ยังสามารถคว้ารางวัล “Grand Pinnacle” ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดจากงานนี้ที่มอบให้โดย International Festivals & Events Association : IFEA ซึ่งเป็นองค์กรระดับโลกที่รวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดงานอีเวนต์ทุกประเภททั่วโลก รางวัลนี้เปรียบเสมือนออสการ์ของวงการอีเวนต์เลยทีเดียว

ภูเก็ต เมืองเทศกาลโลก 2024

การได้รับรางวัล “เมืองเทศกาลโลก (World Festival and Event City)” นั้น ไม่ได้หมายความว่าเมืองนั้นจะต้องเป็นเมืองที่มีจำนวนเทศกาลมากที่สุด หรือเป็นเมืองที่จัดเทศกาลสนุกสนานที่สุด แต่ต้องมองลึกลงไปถึงการหยิบยกเรื่องราว ประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่นอันเป็นอัตลักษณ์ของเมืองนั้นที่สะท้อนให้เห็นผ่าน งานเทศกาล ได้อย่างดีเยี่ยม

เช่นนั้นแล้ว จำเป็นต้องย้อนกลับไปในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ในตอนนั้น ภูเก็ต กำลังเป็นเมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องเหมืองแร่ดีบุก ทำให้มีผู้คนมากหน้าหลายตาต่างอพยพเข้ามาทำงาน ค้าขายและตั้งถิ่นฐานในภูเก็ตจำนวนมาก ทำให้ภูเก็ตกลายเป็นเมืองท่าทางการค้าที่สำคัญในแหลมมลายู ก่อให้เกิดการหลอมรวมทางวัฒนธรรมที่หลากหลายอย่างลงตัว สะท้อนให้เห็นผ่านสถาปัตยกรรมสถาปัตยกรรมชิโน-ยูโรเปียน , อาหาร, วิถีชีวิต, ความเชื่อ ประเพณีและวัฒนธรรมของชาวจีนฮกเกี้ยน ชาวไทยพุทธและชาวมลายูในเวลาต่อมา

แต่การจะเป็นเมืองเทศกาลได้นั้น จะขาดพระเอกหลักอย่างงานเทศกาลไปไม่ได้ โดยงานที่สะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์ความเป็นภูเก็ตอย่างดีที่สุด คือ “ประเพณีถือศีลกินผัก จ.ภูเก็ต” ซึ่งผสมผสานองค์ประกอบต่าง ๆ ที่แตกต่างหลากหลายของประเพณี พิธีกรรม อาหารและความร่วมแรงร่วมใจกันของชาวภูเก็ต ตลอด 9 วัน ไว้เป็นหนึ่งเดียว

“ประเพณีถือศีลกินผัก จ.ภูเก็ต” คว้ามง “Grand Pinnacle”

นอกจาก ภูเก็ตจะได้รับการประกาศเป็นเมืองเทศกาลโลกแล้ว “ประเพณีถือศีลกินผัก จ.ภูเก็ต” ยังคว้ารางวัลสูงสุด Grand Pinnacle จากเวทีเดียวกันมาได้อีกด้วย โดยสมาคมเทศกาลและกิจกรรมระหว่างประเทศ (IFEA) ได้พิจารณาจากองค์ประกอบของเทศกาลที่ครบถ้วนตามเกณฑ์ที่กำหนด และที่สำคัญคือต้องเป็นงานเทศกาลที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่เหมือนใคร

แม้ในช่วงวันขึ้น 1 ค่ำ – 9 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี จะเป็นช่วงเวลาของเทศกาลกินเจที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ แต่ ก็มี 9 ไฮไลท์หลักที่ทำให้ “ประเพณีถือศีลกินผัก จ.ภูเก็ต” กลายเป็นเทศกาลที่หาที่ไหนไม่ได้บนโลกนี้

1.ประเพณีที่มีประวัติยาวนาน และสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นกันมาเกือบ 200 ปี

จุดเริ่มต้นของเทศกาลถือศีลกินผัก เกิดขึ้นเมื่อในวันหนึ่งมีคณะงิ้วรับจ้างจากโพ้นทะเลเดินทางมาแสดงงิ้วให้แรงงานชาวจีนฮกเกี้ยนเหมืองแร่ดีบุกในเมืองกะทู้ จ.ภูเก็ต ได้รับชม แต่หลังจากปักหลักแสดงงิ้วที่นี่อยู่ได้ไม่นาน กลับมีชาวคณะงิ้วล้มป่วยลง ซึ่งสันนิษฐานกันว่าเป็นเพราะคณะงิ้วของตน ไม่ได้ประกอบ “พิธีเจี๊ยะฉ่าย” หรือ “พิธีถือศีลกินผัก” ต่อมา คณะงิ้วตัดสินใจทำพิธีถือศีลกินผักอย่างเรียบง่าย เพื่อขอขมาและบูชาเง็กเซียนฮ่องเต้ ราชาธิราชแห่งดวงดาวต่าง ๆ ทั้ง 9 องค์ พร้อมกับงดเว้นการกินเนื้อสัตว์และสุรา เพื่อชำระล้างร่างกายและจิตใจให้บริสุทธิ์ ตั้งแต่ 1 – 9 ค่ำ เดือน 9 เป็นเวลา 9 วัน ผลปรากฏว่า หลังทำพิธีเสร็จสิ้น ชาวคณะงิ้วหายป่วยเป็นปลิดทิ้ง ทำให้พิธีนี้แพร่หลายไปทั่วเมืองและปฏิบัติสืบทอดต่อกันมา กลายเป็นประเพณีถือศีลกินผักในปัจจุบัน

2.ศูนย์รวมแห่งพิธีกรรมและประเพณี

เทศกาลถือศีลกินผัก เป็นช่วงเวลาแห่งการรักษากายใจให้บริสุทธิ์ ผ่านพิธีกรรมและความศรัทธา ทำให้ตลอดทั้งเทศกาลจะเต็มไปด้วยประเพณีวัฒนธรรมต่าง ๆ มากมาย ซึ่งสะท้อนให้เห็นความเชื่อและความศรัทธาของชาวภูเก็ตที่สืบทอดกันมายาวนาน ตั้งแต่ในเย็นวันก่อนเริ่มเทศกาล จะมีพิธียกเสาโกเต้ง หรือ พิธียกเสาเทวดา จุดตะเกียงไฟบนยอดเสา 9 ดวงที่ตลอดทั้ง 9 วัน

ตามมาด้วย พิธีอิ้วเก้ง หรือ พิธีแห่พระรอบเมือง โดยแต่ละศาลเจ้า หรือ แต่ละอ๊ามกว่า 40 แห่ง จะต้องแห่องค์เทพบนเกี้ยวที่ประดับประดาอย่างยิ่งใหญ่ตระการตาไปรอบเมือง เพื่อเยี่ยมเยียนผู้ถือศีลกินผัก ทำให้สองข้างทางระหว่างเส้นทางแห่พระเต็มไปด้วย ‘ตั๋ว’ หรือโต๊ะรับพระที่กำลังรอรับพรจากเทพเจ้า โดยในปีที่แล้วนั้นมีผู้เข้าร่วมขบวนแห่กว่า 37,000 คนและมีชาวบ้านมารอรับพระเต็มตลอดทุกเส้นทาง

ในขบวนแห่พระนี้ จะมี ม้าทรง ที่แต่งตัวสวยหล่อ ทำหน้าที่เป็นร่างรับใช้ขององค์เทพ คอยทิ่มแทงอาวุธ มีด ดาบหรือเข็ม ลงบนร่างกาย เพื่อรับเคราะห์แทนผู้ถือศีลกินผัก และจะเป็นตัวแทนให้พรแก่ผู้ถือศีลกินผักที่กำลังรอรับพร

ความยิ่งใหญ่ของพิธีแห่พระจากอ๊ามกว่า 40 แห่งที่ตกแต่งเกี้ยวอย่างอลังการ พร้อมกับการทำพิธีศักดิ์สิทธิ์จากม้าทรง จนมีจำนวนประชากรชาวภูเก็ตที่รอรับ-ส่งพระและเข้าร่วมขบวนแห่เกือบ 40,000 คนนี้เอง ทำให้ขบวนแห่พระถ่ายทอดความเป็นภูเก็ตออกมา ส่งผลให้ถูกเสนอเข้าชิงรางวัลสาขา Best Parade อีกรางวัลหนึ่งด้วย

ก่อนจะเข้าสู่โค้งสุดท้ายของเทศกาลด้วย พิธีโก้ยโห้ย หรือ พิธีลุยไฟ เพื่อชำระล้างพลังลบออกจากร่างกาย ด้วยการเดินข้ามสะพานไปให้ม้าทรงปัดเป่าสิ่งไม่ดี และลงตราประทับยันต์บนหลังเสื้อ พร้อมกับในคืนเดียวกันนั้น ต้องทำพิธีส่งองค์กิ้วอ๋องไต่เต่ ส่งองค์กิ้วอ่องไต่เต่และบรรดาเทพต่าง ๆ กลับสู่สวรรค์ โดยม้าทรงและพี่เลี้ยงจะร่วมกันหามเกี้ยวตั่วเหลี้ยนไปยังเสาโกเต้ง ซึ่งผู้ถือศีลกินผักสามารถตั้งโต๊ะบูชาและจุดประทัดเฉลิมฉลองได้ตลอดเส้นทาง เป็นอันเสร็จสิ้นพิธี

3.รวม Gen รวมใจ

ประเพณีถือศีลกินผักถือเป็นเทศกาลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชาวภูเก็ตที่ในหนึ่งปีจะมีเพียงครั้งเดียว และจะจัดยาวนานต่อเนื่องถึง 9 วัน ดังนั้นแล้ว เทศกาลนี้จึงจำเป็นต้องอาศัยแรงจากชาวภูเก็ตทุกเพศ ทุกวัย ทุกเจนเนอเรชั่นมาร่วมกันอาสาเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลนี้ สานสัมพันธ์ให้ผู้คนและเมืองได้ใกล้ชิดกันอีกครั้ง

เริ่มตั้งแต่ช่วง 3 วันก่อนงานเทศกาล ชาวภูเก็ตและหน่วยงานต่าง ๆ จากทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนจะร่วมกันทำความสะอาดศาลเจ้าและเตรียมสถานที่จัดงานให้เรียบร้อย เมื่อเข้าสู่ช่วงเทศกาล ชาวภูเก็ตทุกคนจะอาศัยทักษะความสามารถตามที่ตนเองถนัดไปเป็นอาสาสมัคร ประชาสัมพันธ์กว่า 630 คน หรือจะในส่วนพิธีกรรมและขบวนแห่ต่าง ๆ ที่มีผู้เข้าร่วมกว่า 37,700 คน ยังรวมไปถึงอาสาสมัครในโรงเจอีกกว่า 1,600 คน และหน่วยรักษาความสะอาดที่คอยดูแลเมืองอีกกว่า 300 คน

4.ภูเก็ตไม่ได้มีดีแค่ทะเล ยังเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารของยูเนสโก

โดยภูเก็ตได้รับรางวัลเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารของยูเนสโก ที่องค์การยูเนสโกมอบให้กับเมืองต่าง ๆ ทั่วโลกที่โดดเด่นในด้านอาหาร มีวัฒนธรรมการกินที่หลากหลาย และมีการส่งเสริมอาหารท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล โดยในเทศกาลถือศีลกินผัก จ.ภูเก็ต นักเดินทางที่เดินทางมาเข้าร่วมงานประเพณีจะได้ลองลิ้มชิมรสความเป็นภูเก็ตผ่านอาหารเจ หลายหลากไม่ว่าจะเป็นอาหารเจต้นตำรับ และสไตล์ฟิวชันที่ผสมรสชาติความเป็นจีนฮกเกี้ยน ไทย และมลายู พร้อมเหล่าเชฟจากร้านอาหารระดับมิชลินสตาร์ หลายร้าน ต่างพากันรังสรรค์อาหารจานผักขึ้นมาอย่างพิถีพิถัน ลบภาพผักใบเขียว รสชาติฝาดลิ้น ให้กลายเป็นเมนูอร่อย แถมยังได้บุญคำโต

ด้วยเหตุนั้นเอง ทำให้ตลอดทั้ง 9 วันในปีนี้ไม่ว่าจะมองไปมุมไหน ก็ล้วนมีแต่อาหารมังสวิรัติสไตล์ภูเก็ตให้ได้ลองลิ้มชิมรสความเป็นภูเก็ตอยู่ทั่วทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะร้านอาหารมิชลินสตาร์ โรงเจ หรือ สตรีทฟู๊ดเฉพาะกิจอย่างตลาดหน้าอ๊าม ก็พร้อมต้อนรับและคอยแบ่งปันอาหารให้ทุกคนได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับเทศกาลถือศีลกินผักได้ ทุกที่ ทุกเวลา

5.พิธีกรรมทุกพื้นที่ เพื่อทุกคนได้เข้าถึง

เพื่อให้ชาวเมืองภูเก็ตทุกคนได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลนี้อย่างแท้จริง ในพิธีขบวนแห่พระ อ๊ามกว่า 40 แห่งที่กระจายตัวอยู่ทั่วภูเก็ตจะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับพิธีนี้ โดยแต่ละอ๊ามจะมีเส้นทางการแห่พระของตนเอง และจะผลัดเปลี่ยนกันไปตามวัน ซึ่งหากได้เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครในขบวนแล้ว จะได้สัมผัสถึงร่องรอยความเจริญรุ่งเรืองของภูเก็ต ผ่านบรรยากาศเมืองเก่าและอาคารบ้านเรือนสไตล์ชิโน-โปรตุกีสตลอดสองข้างทาง

อีกทั้ง ผู้ถือศีลกินผัก ชาวเมือง และนักท่องเที่ยว ที่ต้องการรอรับ-ส่งพระ สามารถตั้งโต๊ะรอรับพระในวันที่เส้นทางขบวนแห่พระของแต่ละอ๊ามผ่านหน้าบ้านเรือนได้ ทำให้ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งไหนของเมืองภูเก็ต หรือจะเป็นใคร ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ที่เดินทางไม่สะดวกก็สามารถรอรับพระในจุดที่ง่ายต่อการเดินทางได้ทุกที่ ซึ่งช่วยลดปัญหาความแออัดและปัญหาการสัญจรที่อาจจะเกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี

6.เทศกาลกินผักที่รักษ์โลก

เทศกาลถือศีลกินผัก กินเวลาไปนานกว่า 9 วัน พาให้เมืองภูเก็ตทั้งเมืองเต็มไปด้วยร่องรอยของการเฉลิมฉลองสุดยิ่งใหญ่ที่จำเป็นต้องได้รับการบริหารจัดการที่ยอดเยี่ยม เพื่อฟื้นคืนสภาพภูเก็ตให้กลับมาอีกครั้ง

ในส่วนของ อาหาร ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด ทางเมืองภูเก็ตจึงเห็นว่าจำเป็นต้องมีการจัดการตั้งแต่ต้นลม ผ่านการรณรงค์ให้ลดการใช้พลาสติก และเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเห็นได้ชัดในพื้นที่โรงเจ โดยผู้ถือศีลกินผักสามารถนำปิ่นโตมา เพื่อรับอาหารกลับบ้านได้ หรือหากไม่สะดวก ทางโรงเจจะมีใบตองและชามที่ทำจากวัสดุธรรมชาติไว้ให้บริการ หรือถ้าหากผู้ถือศีลกินผักต้องการรับประทานอาหารที่โรงเจก็สามารถช่วยเมืองได้ด้วยการตักอาหารในปริมาณที่พอเหมาะกับตนเอง เพื่อลดปริมาณอาหารเหลือทิ้งได้

ส่วนเศษอาหารและเศษผักจะถูกเปลี่ยนเป็นปุ๋ยชีวภาพและอาหารสัตว์ ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนและความยั่งยืน ทางเมืองภูเก็ตให้ความใส่ใจกับการแยกขยะอินทรีย์และขยะพลาสติก เพื่อนำไปรีไซเคิลอย่างเหมาะสม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภาคเกษตรกรรมท้องถิ่น รวมถึงยังช่วยลดขยะจากการฝังกลบ และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลได้

7. ประเพณียิ่งใหญ่ ส่งคืนพื้นที่ไว

เมื่อในส่วนของอาหาร เมืองภูเก็ตสามารถจัดการได้แล้ว ยังเหลือพื้นที่ทางกายภาพที่ทางเมืองต้องฟื้นคืนสภาพแวดล้อมอันสวยงามของภูเก็ตให้กลับมาเป็นดังเดิม โดยตลอดทั้งเทศกาล เมืองภูเก็ตจะถูกประดับประดาไปด้วยโคมไฟ ธง และของตกแต่งมากมาย ซึ่งในแต่ละปีจะนำสิ่งเหล่านั้นกลับมาใช้ใหม่ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดอีกด้วย

มากไปกว่านั้น ทางเมืองภูเก็ต ยังให้ความสำคัญไปถึงการลดปริมาณกระถางธูปและขวดน้ำมัน พร้อมใช้เครื่องตรวจจับควันในศาลเจ้า เพื่อลดการก่อให้เกิดควันและมลพิษทางอากาศที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

หลังเสร็จสิ้นเทศกาล เมืองภูเก็ตจะเข้าสู่โหมดฟื้นฟูอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อคืนสภาพถนนและสถานที่จัดงานเทศกาล ให้เมืองภูเก็ตกลับสู่สภาพปกติในระยะเวลาอันรวดเร็ว ด้วยแรงกำลังจากอาสาสมัครในจังหวัดภูเก็ตกว่า 300 คน

8.ถือศีลกินผัก ได้บุญ ได้กระตุ้นเศรษฐกิจ

นอกจาก ในช่วง 9 วันนี้ จะได้ชำระกายและจิตใจให้บริสุทธิ์แล้ว ยังมีส่วนช่วยให้เมืองได้ประโยชน์ไปพร้อมกัน โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมเทศกาลถือศีลกินผัก จ.ภูเก็ตกว่า 650,000 คน สร้างรายได้ให้เกิดการหมุนเวียนในพื้นที่สูงถึง 5,750 ล้านบาท พร้อมทั้งก่อให้เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพให้ชาวภูเก็ตอีกกว่า 4,500 ตำแหน่ง เพื่อรองรับการท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้นในช่วงเทศกาลนี้ ซึ่งส่งผลให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น ทั้งในส่วนการโรงแรม ค้าขายและการขนส่งได้จำนวนมาก

9.ภูเก็ต – เมืองเทศกาลโลก และ Grand Pinnacle

จะเห็นได้ว่า “เทศกาลถือศีลกินผัก” เป็นตัวแทนของงานเทศกาลไทยที่ใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรม ประเพณีความเชื่อ อาหาร และสถาปัตยกรรม นำเสนออัตลักษณ์ท้องถิ่นสอดคล้องไปกับงานเทศกาลถือศีลกินผักได้อย่างลงตัว ผ่านการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนของชาวภูเก็ตที่ร่วมใจกันส่งให้ ภูเก็ต คว้ารางวัล “เมืองแห่งเทศกาลโลก” และ “Grand Pinnacle” ได้อย่างสมฐานะ

การที่ในปีนี้ ภูเก็ต คว้าถึง 2 รางวัลใหญ่จากสมาคมเทศกาลระดับโลกอย่าง IFEA นั้น ถือเป็นการรันตีว่า ภูเก็ต มีศักยภาพในการใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรมผ่านงานเทศกาล เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพจากทั่วโลก สอดคล้องกับนโยบาย Festival Economy ที่ต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการจัดงานเทศกาล พร้อมยกระดับประเพณี ถือศีลกินผัก ที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น (Homegrown) ให้กลายเป็น Flagship Event หรืองานเทศกาลประจำปีที่ยกระดับให้ ภูเก็ต ประเทศไทย ก้าวสู่การเป็นเมืองอีเว้นต์ระดับนานาชาติอย่างเต็มตัว

ใครอ่านแล้วอยากลองประเดิมเมืองแห่งเทศกาลและอีเวนต์โลก พร้อมกับเฉลิมฉลองรางวัล Grand Pinnacle ของ “ประเพณีถือศีลกินผัก จ.ภูเก็ต” และตื่นตาอลังการไปกับ “ขบวนแห่พระ” ก็สามารถเข้าร่วมเทศกาลนี้ได้ตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม 2567 – วันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม 2567 ที่ จ.ภูเก็ต ประเทศไทย

Written By
More from pp
“ไทยยามาฮ่า” แนะนำ “All New WR155R” สืบทอดสายพันธุ์ Enduro
บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด เสริมทัพด้วย All New WR155R สายพันธุ์เอ็นดูโร่ของยามาฮ่า มาพร้อมดีไซน์โฉบเฉี่ยวสะดุดตา ตอบโจทย์ความต้องการสำหรับสายลุย ที่มีไลฟ์สไตล์เป็นของตัวเอง พร้อมโปรโมชั่นพิเศษสำหรับลูกค้า...
Read More
0 replies on “ส่งตรงจากอเมริกา!!!! ความภูมิใจของชาติ จ.ภูเก็ต คว้า 2 รางวัลใหญ่ในเวทีระดับโลก”