24 กันยายน 2567 ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีกลุ่มผู้ใช้แรงงานแกนนำกลุ่มลูกจ้าง เดินทางไปชุมนุมเรียกร้องการปรับขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทในบางกิจการทั่วประเทศ ที่จะประกาศใช้ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ แต่ต้องเลื่อนไปก่อน หลังการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 22 เมื่อวันที่ 20 กันยายนไม่สามารถลงมติได้ และการประชุมบอร์ดค่าจ้างรอบใหม่ในวันนี้ (24 กันยาน) ถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากองค์ประชุมไตรภาคีไม่ครบ โดย นายเมธี สุภาพงษ์ ตัวแทน ธปท. ที่เกษียณอายุราชการแล้วไม่เข้าร่วมประชุม
นายแสงชัย อนมนวล เลขาธิการสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย นำตัวแทนสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานอุตสาหกรรมเอกชน และสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย รวมตัวกันยื่นหนังสือถึง นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อขอความชัดเจนจาก ธปท. ในเรื่องของผู้แทนฝ่ายภาครัฐในการประชุมบอร์ดค่าจ้าง โดยมี นางสาวดวงพร รอดเพ็งสังคหะ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกลยุทธ์สื่อสารและความสัมพันธ์องค์กร ธปท. เป็นผู้แทนรับหนังสือ
ทั้งนี้ ในหนังสือระบุว่า “สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2567 คณะกรรมการจัดการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ ชุดที่ 22 เพื่อพิจารณาปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท เป็นรอบที่ 3 ของปี พ.ศ. 2567 ปรากฏว่าไม่สามารถจัดการประชุมได้ เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ 2 ใน 3 โดย นายเมธี สุภาพงษ์ ตัวแทนธนาคารแห่งประเทศไทย ที่เกษียณอายุราชการแล้วไม่เข้าร่วมประชุม แต่เนื่องจาก นายเมธี สุภาพงษ์ เป็นผู้ขาดคุณสมบัติไม่ถือว่าเป็นตัวแทนภาครัฐ ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย จัดส่งรายชื่อผู้แทนในส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าเป็นคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำชุดที่ 22 แทนนายเมธี สุภาพงษ์ ต่อไป”
นายแสงชัย เปิดเผยอีกว่า ทุกวันนี้แรงงานรอ ทำงานมา 20 ปีค่าแรงยังได้ 300 กว่าบาท เมื่อประชุมบอร์ดค่าจ้างคราวที่แล้ววันที่ 20 กันยายน นายเมธี ตัวแทนฝั่ง ธปท.ไม่ได้เข้าร่วม ทำให้องค์ประชุมไม่ครบและล่ม และก็ไม่ได้เดินหน้าต่อ แต่จะด้วยเหตุผลอะไร ตนไม่ทราบ
“วันนี้เราอยากขอความชัดเจนจากธปท. ว่าได้แต่งตั้งผู้แทนใหม่หรือยัง เข้าร่วมประชุมได้หรือไม่ ส่วนเรื่องการประชุมบอร์ดค่าจ้างนั้น ขึ้นอยู่กับมติของไตรภาคีที่มีทั้ง 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ฝ่ายลูกจ้าง 5 คน, ฝ่ายนายจ้าง 5 คน และฝ่ายรัฐ 5 คน เมื่อครบทั้งองค์ประชุมแล้วจะมีมติอย่างไร ก็ควรที่จะขับเคลื่อนไปแบบนั้น ไม่ใช่นโยบายทางการเมือง“ นายแสงชัย กล่าว
นายแสงชัย กล่าวต่ออีกว่า เราจึงมายื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯธปท. ว่า ขอความชัดเจนตัวแทนจากธปท. ซึ่งเป็นฝ่ายภาครัฐที่จะเข้าร่วมประชุมบอร์ดค่าจ้างนั้นเป็นใคร และจะสามารถเข้าร่วมประชุมได้หรือไม่
เมื่อถามว่า เรื่องนี้มองว่าเป็นเกมการเมืองหรือไม่ นายแสงชัย กล่าวว่า ขอไม่แตะเรื่องนี้ขออยู่กลางๆดีกว่าในนามตัวแทนลูกจ้าง แต่อยากให้ไตรภาคีใช้อำนาจหน้าที่ที่มีอย่างเต็มที่และเหมาะสม