12 กันยายน 2567 เวลา 10.15 น. ณ อาคารรัฐสภา ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพฯ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ตามมาตรา 162 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ยืนยันเจตนารมณ์และนโยบายรัฐบาลสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเปลี่ยนความท้าทายเป็นโอกาสในการพัฒนา และสร้างความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประชาชนทุกคน
ช่วงแรกของการแถลงนโยบายรัฐบาล นายกรัฐมนตรี ระบุถึงความท้าทายที่ประเทศไทยกำลังเผชิญทั้ง 9 ประการ ได้แก่ ปัญหาหนี้สินครัวเรือนและความเหลื่อมล้ำของประชาชน ความท้าทายจากสัดส่วนผู้สูงอายุมากกว่า ร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด ความมั่นคงของสังคมถูกท้าทายจากการแพร่ระบาดยาเสพติด อาชญากรรมออนไลน์ การประสบปัญหาสภาพคล่องของผู้ประกอบการ SMEs ความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและการแข่งขันทางการค้าจากต่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองยาวนานอันเป็นผลจากการรัฐประหาร ระบบราชการไม่สามารถตอบสนองประชาชนได้อย่างเต็มที่ และการเผชิญความท้าทายจากสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics)
จากนั้น นายกรัฐมนตรีแถลงกล่าวถึงนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องทำทันที เพื่อนำความหวังของคนไทยกลับมาให้เร็วที่สุด ได้แก่
1. ปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ 2. สนับสนุนผู้ประกอบการไทย SMEs 3. ลดราคาค่าพลังงานและสาธารณูปโภค 4. การนำเศรษฐกิจนอกระบบภาษีและเศรษฐกิจใต้ดินเข้าสู่ระบบภาษี 5. กระตุ้นเศรษฐกิจโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 6. เพิ่มมูลค่าสินค้าการเกษตรและราคาพืชผลเกษตร ยกระดับรายได้เกษตรกร 7. ส่งเสริมการท่องเที่ยว 8. แก้ปัญหายาเสพติด 9. เร่งแก้ปัญหาอาชญากรรม 10. ส่งเสริมศักยภาพและจัดสวัสดิการสังคม
นอกจากนี้ ยังมีนโยบายระยะกลางและระยะยาว เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน วางรากฐานสู่การพัฒนาประเทศในอนาคต ประกอบด้วย
1. การสร้างโอกาสต่อยอดจากอุตสาหกรรมเดิม 1.1 ส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์เครื่องยนตืสันดาปไปสู่ยานยนต์แห่งอนาคต (HEVs PHEVs BEVs และ FCEVs) 1.2 ส่งเสริม ยกระดับภูมิปัญญาไทยไปสู่วัฒนธรรมสร้างสรรค์ (Creative Culture) เพื่อส่งเสริม Soft Power ของประเทศ
2. ส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งอนาคต 2.1 ส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy or Eco-friendly Economy) 2.2 ต่อยอดพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) 2.3 มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพ (Care and Wellness Economy) และบริการทางการแพทย์ (Medical Hub) 2.4 มุ่งสู่เป้าหมายที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการเงินของโลก (Financial Hub)
3. พัฒนาโครงสร้างเพื่อขยายโอกาส 3.1 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิจัยและนวัตกรรม 3.2 เดินหน้าลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่ (Mega Projects) 3.3 เร่งพัฒนาระบบสาธารณูปโภคที่มีคุณภาพ 3.4 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล 3.5 เปลี่ยนโครงสร้างทางภาษีครั้งใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับการกระจายรายได้ 3.6 เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการที่ดินของรัฐ
นอกจากนี้รัฐบาลจะเร่งผลักดันให้เกิดการพัฒนาคนไทยทุกช่วงวัย ประกอบด้วย
1. ส่งเสริมการเกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพของเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียม
2. ยกระดับทักษะและปลดล็อกศักยภาพของคนไทยเพื่อสร้างงานสร้างรายได้
3. ยกระดับระบบสาธารณสุขให้ดียิ่งกว่าเดิม ต่อยอดจากรัฐบาลที่แล้วจากพื้นฐานความสำเร็จหลายสิบปีของนโยบาย “30 บาทรักษาทุกโรค” มาเป็น “30 บาทรักษาทุกที่”
4. ส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ
ส่วนของการสร้างความยั่งยืนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐบาลจะดำเนินการควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ประกอบด้วย
1. ให้ความสําคัญกับการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ
2. ยกระดับการบริหารจัดการน้ำ
3. สานต่อนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)
ขณะที่การพัฒนาการเมือง รัฐบาลจะต้องพลิกฟื้นความเชื่อมั่นของทั้งคนไทยและต่างชาติ ในระบอบประชาธิปไตยให้เข้มแข็งมีเสถียรภาพมีนิติธรรมและความโปร่งใส ประกอบด้วย
1. เร่งจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น
2. ยึดมั่นในหลักนิติธรรม (Rule of Law) และความโปร่งใส (Transparency)
3. ปฏิรูประบบราชการและกองทัพเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ
4. ยกระดับการบริการภาครัฐให้ตอบสนองความต้องการของประชาชนมากยิ่งขึ้น
ท้ายนี้ รัฐบาลจะแปลงความท้าทายด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศมหาอํานาจ ไปสู่ยุทธศาสตร์ที่จะเสริมสร้างโอกาสให้ประเทศไทยและเกื้อกูลผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนมากที่สุด ประกอบด้วย
1. รักษาจุดยืนของการไม่เป็นส่วนหนึ่งของความยัดแย้งระหว่างประเทศไทย (Non-Conflict)
2. เดินหน้าสานต่อนโยบายการทูต เศรษฐกิจเชิงรุก และการสร้าง Soft Power
ในตอนท้ายของการแถลงนโยบายฯ นายกรัฐมนตรีย้ำเจตนารมณ์ในการบริหารราชการแผ่นดินว่า รัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติพระราชกรณียกิจของสถาบันพระมหากษัตริย์ และดำเนินงานตามแนวพระราชดำริอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งส่งเสริมสถาบันศาสนาให้เป็นกลไก ในการสร้างคุณธรรมและจริยธรรมในการดำเนินชีวิต ตลอดจนดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้ กฎหมายอย่างเคร่งครัดและจริงจัง โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบต่อชีวิต และทรัพย์สิน รวมถึงการป้องกันและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้วย