การแพ้อาหารเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่เด็กเป็นกลุ่มที่พ่อแม่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะการแพ้อาหารอาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสุขภาพของเด็ก ทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่น ผื่นแดง คัน ลมพิษ หน้าบวม ปากบวม และในบางกรณีอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
นายแพทย์สุรวัช หอมวิเศษ กุมารแพทย์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า ภูมิแพ้อาหาร (Food Allergy) คือ ภาวะที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายตอบสนองต่อส่วนประกอบในอาหาร ทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่น ผื่นลมพิษ หน้าบวมปากบวม แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก อาเจียน ถ่ายเหลว และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งอาหารที่มักเป็นสาเหตุการแพ้อาหาร ได้แก่ นม ไข่ แป้งสาลี ถั่วเหลือง ถั่วลิสง สัตว์น้ำ เช่น ปลา กุ้ง ปู หอย หมึก ถั่วเปลือกแข็ง เช่น มะม่วงหิมพานต์ อัลมอนด์ วอลนัท แมคคาเดเมีย พิสตาชิโอ
ภูมิแพ้อาหาร เกิดขึ้นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แบ่งเป็น 2 ชนิดหลักๆ ได้แก่
1. ชนิดเฉียบพลัน (IgE mediated food allergy) อาการจะเกิดอย่างรวดเร็วภายใน 2-4 ชั่วโมง หลังรับประทานอาหาร โดยจะมีอาการหลักคือ ผื่นลมพิษ หน้าบวม ปากบวม ปวดท้อง อาเจียน ในบางกรณีอาจเกิดอาการรุนแรง (Anaphylaxis) อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต เช่น แน่นหน้าอก หายใจลำบาก หน้ามืด และหมดสติ
2. ชนิดไม่เฉียบพลัน (non-IgE mediated food allergy) อาการจะเกิดขึ้นหลายชั่วโมงหรือหลายวันหลังจากรับประทานอาหาร อาการจะค่อยๆเพิ่มขึ้น เช่น ผื่นแดงเรื้อรัง คัน ถ่ายเหลว ถ่ายเป็นมูกเลือด อาเจียนรุนแรง ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้เช่นกัน
ปัจจุบันสาเหตุของภูมิแพ้ทางอาหารยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกี่ยวข้อง เช่น
- พันธุกรรม: เด็กที่มีพ่อแม่หรือสมาชิกในครอบครัวเป็นภูมิแพ้ มีโอกาสเสี่ยงต่อการแพ้อาหารมากขึ้น
- ผื่นผิวหนังอักเสบในเด็ก: เด็กที่มีปัญหาผิว เช่น ผื่นแพ้ ผิวหนังอักเสบ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการแพ้อาหาร
- การงดอาหารที่มากเกินไป: การงดอาหารบางชนิด หรือเริ่มกินอาหารเสริมช้าเกินไปในวัยเด็ก อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการแพ้อาหารเช่นกัน
การวินิจฉัยทำได้โดยการซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียด แพทย์อาจใช้การเจาะเลือด เพื่อตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ (specific IgE) ซึ่งสามารถตรวจได้ทั้งสารก่อภูมิแพ้จากอาหาร และจากทางอากาศ โดยไม่ต้องงดยาแก้แพ้ก่อนเจาะเลือด และสามารถทราบผลได้ภายในวันเดียว นอกจากนั้นยังมีการตรวจยืนยันการแพ้อาหารด้วยวิธีการรับประทานอาหารที่สงสัย (oral food challenge) ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่แม่นยำที่สุด แต่ต้องทำภายใต้การดูแลของ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านโรคภูมิแพ้
ในปัจจุบัน การรักษาภูมิแพ้อาหารไม่ได้จำกัดเพียงการหลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้เท่านั้น แต่ยังมีการรักษาด้วยวิธีการรับประทานอาหารที่แพ้ (oral immunotherapy) โดยแพทย์จะให้รับประทานอาหารที่แพ้ ในระดับที่ปลอดภัย และค่อยๆ เพิ่มปริมาณในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งอาจใช้เวลารักษา 3-5 ปี วิธีนี้ต้องทำภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านโรคภูมิแพ้ และโรงพยาบาลที่มีศักยภาพเพียงพอ เพื่อการรักษาที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงสุด
ข้อดีของวิธีนี้คือ ช่วยลดโอกาสการเกิดอาการแพ้จากการบริโภคอาหารที่ปนเปื้อน ทำให้ไม่ต้องเลี่ยงอาหารที่แพ้ตลอดไป และอาจหายขาดจากการแพ้อาหารได้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยและครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
การรักษาด้วยวิธีนี้เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอายุ มากกว่า 5 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะผู้ที่มีระดับการแพ้อาหารสูง และมีโอกาสหายได้เองยาก รวมถึงผู้ที่มีประวัติแพ้อาหารรุนแรง
“เมื่อก่อนเราเคยมีความเชื่อว่าหากแพ้อาหารชนิดไหนก็ควรที่จะหลีกเลี่ยงอาหารชนิดนั้นไปตลอด เพราะอย่างไรก็ไม่มีทางหาย แต่ในปัจจุบันเราเชื่อว่า ยิ่งเลี่ยงอาหารที่แพ้ยิ่งไม่หาย แต่ถ้าเรากินอาหารที่แพ้ในปริมาณที่ปลอดภัย สุดท้ายร่างกายจะกินอาหารที่แพ้ได้เพิ่มขึ้น หรืออาจหายขาดจากอาการแพ้อาหารได้” นายแพทย์สุรวัชกล่าว
ทั้งนี้ หากสงสัยว่าตัวเอง หรือบุตรหลานมีอาการแพ้อาหาร ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อการประเมิน และวางแผนการรักษาที่เหมาะสมสำหรับแต่ละบุคคลเพื่อผลการรักษาที่ดีที่สุด