เบื้องหลังคนที่ชอบเรียกร้องความสนใจ ทำตัวเด่น อาจเป็น “โรคฮิสทีเรีย”

ในชีวิตคนเราทุกคนล้วนพบเจอคนหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นคนที่มีอารมณ์แปรปรวนง่าย หรือชอบทำตัวเป็นจุดเด่น เพื่อดึงดูดความสนใจจากคนรอบข้าง โดยบางคนอาจไม่รู้ตัวว่า อาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนของ “โรคฮิสทีเรีย” หรือ “บุคลิกภาพแปรปรวนแบบฮิสทริโอนิก” ซึ่งเป็นโรคทางจิตเวชที่ส่งผลต่อการควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมของบุคคล

แพทย์หญิงณัฏฐพัชร์ ลำเลียงพล จิตแพทย์โรงพยาบาลBMHH- Bangkok Mental Health Hospital กล่าวว่า คำว่า ฮิสทีเรีย (Hysteria) หมายถึง การแสดงออกทางอารมณ์ และท่าทางมากกว่าปกติ พฤติกรรมลักษณะนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง ถ้ามีพฤติกรรมนี้ร่วมกับมีปัญหาด้านการควบคุมอารมณ์ ควบคุมความวิตกกังวลของตัวเองไม่ค่อยได้ และไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของตัวเองได้ดีเท่าคนปกติ อาจนึกถึงโรคบุคลิกภาพแปรปรวนในกลุ่มบี (Cluster B Personality Disorder)
โรคฮิสทีเรียมี 2 ประเภท ดังนี้

โรคประสาทฮิสทีเรีย(Conversion Reaction) คือ เมื่อมีความเครียดหรือความกังวลใจมาก จะทำให้เกิดอาการผิดปกติที่ระบบการเคลื่อนไหว และการรับรู้ เช่น ชาที่แขน ขา พูดไม่มีเสียง ตามองไม่เห็น กล้ามเนื้อกระตุก สูญเสียความทรงจำบางเรื่องที่กระทบกระเทือนจิตใจ แต่เมื่อผู้ป่วยตรวจร่างกายอาจจะไม่พบความผิดปกติเพราะเกิดจากสภาพจิตใจของผู้ป่วยเอง

โรคบุคลิกภาพแปรปรวนแบบฮิสทริโอนิก(Histrionic Personality Disorder) เป็นอาการที่หลายคนอาจจะเข้าใจผิดว่าเป็นโรคติดเซ็กซ์ ที่ไม่สามารถขาดผู้ชายได้ ซึ่งที่จริงแล้ว ผู้ป่วยแค่ต้องการได้รับความสนใจจากคนอื่นเป็นอย่างมาก โดยมีอาการดังนี้
ต้องการเป็นจุดเด่น หรือจุดสนใจ เช่น พูดจา แสดงท่าทางเกินจริง ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้จะรู้สึกอึดอัด และทนไม่ได้ทันทีหากตัวเองไม่ได้รับความสนใจจากคนรอบข้าง

การแสดงออกดูเหมือนยั่วยวน พยายามเข้าหาผู้อื่น โดยเฉพาะเพศตรงข้าม ด้วยพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น ชอบแต่งตัวยั่วยวนเพื่อให้ตนเองเป็นจุดสนใจ

แสดงออกถึงความสนิทสนมกับผู้อื่นมากเกินจริง คิดไปเองว่าสนิทสนมกับอีกฝ่าย ทั้งที่อีกฝ่ายอาจไม่ได้รู้สึกสนิทใจด้วย

พฤติกรรมดราม่า: แสดงอารมณ์รุนแรง แปรปรวนง่าย และชอบสร้างเรื่องราวให้ดูน่าตื่นเต้น

ต้องการการเอาใจใส่: ต้องการได้รับการยกย่อง ชมเชย และสนับสนุนจากผู้อื่น

ขาดความมั่นใจในตนเอง: ต้องการการยืนยันจากผู้อื่น กลัวถูกทอดทิ้ง

มีความสัมพันธ์ที่ไม่มั่นคง: มักมีความสัมพันธ์ที่สั้น รุนแรง และเต็มไปด้วยความขัดแย้ง

ตัดสินใจโดยใช้อารมณ์: มักตัดสินใจโดยไม่คำนึงถึงผลลัพธ์

อาจมีพฤติกรรมขู่หรือลงมือทำร้ายตัวเองเพื่อเรียกร้องความสนใจจากผู้อื่น

สาเหตุของโรคบุคลิกภาพแบบฮิสทริโอนิก อาจเกิดจากประสบการณ์ในวัยเด็ก เช่น การไม่ได้รับความรัก ความอบอุ่น การถูกทอดทิ้ง ทำให้เด็กเกิดความกังวลที่ต้องแยกจากพ่อแม่ การถูกทารุณกรรม เป็นต้น, มีความเสี่ยงทางพันธุกรรม โดยหากบุคคลในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคนี้ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นผู้ที่มีบุคลิกภาพฮิสทริโอนิกได้ จนเกิดจากการเลียนแบบพฤติกรรมของคนในครอบครัวที่เป็นโรคฮิสทีเรีย และปัจจัยส่วนบุคคล เช่น ลักษณะทางจิตวิทยา วิธีจัดการกับอารมณ์และความเครียดของแต่ละคน เป็นต้น

การรักษาโรคบุคลิกภาพแปรปรวนแบบฮิสทริโอนิก จิตแพทย์จะเน้นการรักษาด้วยการทำจิตบำบัดเพื่อหาสาเหตุการเกิดโรค พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ปรับความคิดให้ผู้ป่วยมีมุมมองบวกกับตัวเองและทำให้ผู้ป่วยเกิดความเชื่อมั่นในความรักความสัมพันธ์ของตัวเอง แต่อาจจะมีการรักษาด้วยยาหากผู้ป่วยมีอาการซึมเศร้า หรือวิตกกังวล ร่วมด้วยก็จะมีการให้ยาต้านเศร้า หรือยารักษาวิตกกังวล

สำหรับการอยู่ร่วมกับผู้ป่วยโรคบุคลิกภาพแปรปรวนแบบฮิสทริโอนิก ต้องดูแลตามความเหมาะสมกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง หรือถ้าพบว่าผู้ป่วยมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม สามารถบอกกับผู้ป่วยตรงๆ เพื่อให้เค้ารู้ว่า สิ่งที่ตัวเองทำอยู่ส่งผลกระทบอย่างไรต่อคนรอบข้าง
ทั้งนี้ โรคฮิสทีเรียเป็นโรคทางจิตเวชที่มีความซับซ้อนและต้องได้รับการรักษาเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้อย่างเหมาะสม หากคุณหรือคนใกล้ชิดมีอาการที่สงสัยว่าเป็นโรคฮิสทีเรีย ควรปรึกษาจิตแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง

แพทย์หญิงณัฏฐพัชร์ ลำเลียงพล
จิตแพทย์โรงพยาบาลBMHH- Bangkok Mental Health Hospital

Line Open Chat *เพิ่มช่องทางการรับข่าวสาร จากเว็บไซต์ *อ่านคอลัมน์ เปลว สีเงิน ก่อนใคร *ส่งตรงถึงมือทุกคืน *เปิดกว้างเพื่อแฟนคอลัมน์พูดคุยแบบกันเอง ทุกเรื่องราว ข่าวสารบ้านเมือง สังคม ฯลฯ
Written By
More from pp
ศธ.และ สธ. เร่งกำหนดมาตรการให้โรงเรียนกลับมาเรียน-สอน ตามปกติ ขณะที่จุดผ่อนปรนการค้า 91 แห่งทั่วประเทศยังต้องรอ ศบค. พิจารณา
โฆษก ศบค. ชี้แจง มีโรงเรียนจำนวนหลายหมื่นแห่งทั่วประเทศที่เริ่มกลับมาเปิดการเรียนการสอนปกติ เหลือเพียงอีก 4,532 แห่งที่ยังต้องสลับกลุ่ม สลับวันมาเรียน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนที่พื้นที่จำกัด ห้องเรียนขนาดเล็ก
Read More
0 replies on “เบื้องหลังคนที่ชอบเรียกร้องความสนใจ ทำตัวเด่น อาจเป็น “โรคฮิสทีเรีย””