เปลว สีเงิน
อบอุ่น ปีติ ชื่นใจ
กาลนี้ เป็นอะไรๆ ที่ต้องใช้คำว่า “สุขทั่วหล้า-ประชาพร้อมใจ-ใสสดทั้งนครา”
เมื่อ “๒๘ กรกฎาคม” วันเฉลิมพระชนมพรรษา “พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” รัชกาล ที่ ๑๐ เวียนมาบรรจบ
จากที่ผมสังเกต
ไม่เคยมีปีไหน ที่ “ทุกภาคส่วน” พรึ่บพรั่บ คึกคัก สะพรั่งเหลือง กายนอบ-ถวายรัก ด้วยใจภักดิ์ ต่อองค์ทศภูมินทร์ ปิ่นนคเรศ เท่าปีนี้
เนื่องจาก ๒๘ กรกฏาคม ๒๕๖๗ เป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาทุกปีแล้ว
แต่ปีนี้ “องค์หน่อเนื้อพุทธางกูร” พระชนมพรรษา ทรง ครบ ๖ รอบ คือ ๗๒ พระพรรษา ในวันพรุ่งนี้
ณ วันที่ “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร” ขึ้นทรงราชย์ เป็นพระมหากษัตริย์ ทรงพระนามว่า “สมเด็จพระมหาวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” วันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๙
ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นเป็น “พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” เมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๒
ถึงวันนี้ นับเป็นเวลา ๗ ปี ๒๘๔ วัน
ถ้าเราตั้งใจพิจารณา จะเห็นว่า แผ่นดินใต้ร่มพระบารมี มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านพัฒนา เป็นไปตามพระปฐมบรมราชโองการ ที่ว่า
“เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” เป็นที่ประจักษ์ชัด สิ้นสงสัย
พระราชปณิธานนี้ ไม่เพียงเพื่อสืบสานโครงการและแนวพระราชดำริ “สมเด็จพระบรมชนกนาถ” เท่านั้น
ถ้าเราศึกษาพระราชปณิธานของสมเด็จพระบูรพกษัตริยาธิราชแต่ละพระองค์สืบๆมา ก็พอจะเข้าใจว่า
พระราชปณิธาน ในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ มิได้มุ่งหมาย สืบสาน รักษา ต่อยอด เฉพาะโครงการและแนวพระราชดำริ “สมเด็จพระบรมชนกนาถ” เท่านั้น
หากแต่ทรงน้อมพระราชปณิธานแต่ละสมเด็จบูรพกษัตริย์มาเพื่อทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด ด้วย
อย่างเช่น พระราชปณิธาน “พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช” รัชกาลที่ ๑
“ตั้งใจจะอุปถัมภก ยอยกพระพุทธศาสนา
จะป้องกันขอบขัณฑสีมา รักษาประชาชนแลมนตรี”
แม้ในรัชกาลต่อๆ มา……
เมื่อพิจารณาแล้ว จะห็นว่า “ชาติ ศาสนา ประชาชน” ก็คือหลักในพระราชปณิธาน ที่พระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์ ทรงยึดและประกาศเป็น “ราชภารกิจ” แน่วแน่
พระราชปณิธาน พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” ก็เช่นกัน
ถ้าเราติดตามและนำมาพิจารณาใคร่ครวญ ก็จะพบว่า การสืบสาน รักษา และต่อยอด นั้น ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอดงานของ “สมเด็จบูรพกษัตริย์” ทุกพระองค์
“ทหาร-เพื่อชาติ” ทรงจัดระเบียบ จัดหมวดหมู่ และปรับภารกิจให้สอดคล้องวิถีโลก-วิถีชาติไทย ให้กระชับกาลสมัย
ไทยเป็นประเทศเกษตร
“แผนชีวิต-ผังอาชีพ” ของพสกนิกรเพื่ออนาคตในองค์รวม
ชาติที่ยืนยง ประชาชนต้องมั่นคงในชีวิตความเป็นอยู่
ทรงแบ่งส่วนค่ายทหารกระจายภาค เป็นแปลงงานสาธิต “โคก หนอง นา” ทำจริง เห็นผลจริง เป็นตัวอย่างให้ประชาชนได้เห็น
๒ บ่าทหาร แบกชาติอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมี บ่าที่ ๓ แบกประชาชนด้วย
ยามศึก-รบ, ยามสงบ-รับ
รับอะไร…?
รับใช้ประชาชน ฝนตก น้ำท่วม น้ำแล้ง สารพัดอุบัติภัย ทำไร่ ไถนา ปราบยาเสพติด พิชิตโรคระบาด ฉีดยา ปลูกบ้าน กระทั่งเป็นครัวเคลื่อนที่เร็ว
เป็นภารกิจทหารของพระราชา เพื่อประชาชนใน “ยามสงบ”
กายภาพบ้านเมือง หลายแห่ง ไร้ระเบียบ ถูกปล่อยทรุดโทรม ไม่จำเริญตา ไม่ได้รับการดูแลรักษาเท่าที่ควร
ก็ได้รับการบูรณะ เสริมสร้าง รักษา พัฒนา ชุมชนแออัด ลำน้ำ คูคลอง หนอง บึง อาคาร โบราณสถานวัตถุ
บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะรอบบริเวณ “พระบรมมหาราชวัง” กระทั่งสองฝั่งเจ้าพระยา ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด
ณ เวลานี้ รายรอบและ “พระบรมมหาราชวัง” สมดังชื่อ อมรรัตนโกสินทร์ มหินทราอยุธยามหาดิลก ภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์
เป็นที่ตะลึงแล ประหนึ่งชลอฟ้าลงมาดิน ชาวโลกดิ้น เดินทางมายล
พระองค์ทรงเป็น “อัครศาสนูปถัมภก” พระผู้ทำนุบำรุงศาสนา “ทุกศาสนา” ทรงอุปถัมภ์ ค้ำจุน สม่ำเสมอและเสมอเหมือน
พระพุทธศาสนา เป็นศาสนา “คู่ชาติ-คู่แผ่นดิน” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแสดงพระองค์เป็น “พุทธมามกะ” ต่อหน้าสังฆมณฑล ณ วันบรมราชาภิเษก
พระองค์ทรงเข้าถึงทั้งด้าน ปริยัติ ปฎิบัติ สู่เส้นทางปธิเวธลึกซึ้ง เป็นที่ประจักษ์ ทั้งทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เอาใจใส่ดูแลพระ “ผู้ปฎิบัติดี-ปฎิบัติชอบ” หมู่ชนต่างสาธุการ
ในประเด็นที่มักถามกันว่า “ในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ กับรัชกาลที่ ๙ เหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร?”
และ “รัชกาลที่ ๑๐ ทรงทำอะไรให้ชาวบ้านตั้งมากมาย จัดระเบียบกรุงเทพฯ “เมืองหลวง” จนเป็นที่เจริญตา-เจริญใจ แต่ทำไมคนจึงไม่ค่อยรู้?”
ผมเคยดูคลิปที่ “ศ.คลินิก นายแพทย์ อุดม คชินทร” อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เคยถวายงานใกล้ชิดทั้งสองพระองค์ บอกเล่าให้ทราบ
ถ้าเข้าใจไม่ผิด น่าจะเป็นช่วงวิกฤติโควิด ที่ขาดแคลนอุปกรณ์ เครื่องมือ หยูกยา ทางรักษาประชาชนที่ระส่ำกันทั้งประเทศ
แกะความเก็บไว้นานแล้ว……..
กาลนี้ เป็นมงคลกาล ขออนุญาตนำเผยแพร่ต่อ เป็นบางช่วง-บางตอน ดังนี้
………………………………
“ศ.คลินิก นายแพทย์ อุดม คชินทร”
“ร.๙ กับ ร.๑๐” ไม่เหมือนกัน ต่างกัน อย่างไร?
(อุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ)……….แจ้งมาทางในวังได้เลย เดี๋ยวพระองค์ท่านจะจัดหามาให้
ผมฟังแล้วชื่นใจ พระองค์ท่านใส่พระทัยตลอดเวลา
จะบอกว่าสไตล์การทำงานไม่เหมือนกับ ร.๙ สไตล์การทำงาน ร.๙ กับ ร.๑๐ ต่างกัน แต่น้ำพระทัย เหมือนกันเลย
ก็คือใส่ใจห่วงใยประชาชนตลอดเวลา เพราะพระองค์ท่านตามงานตลอดเวลา
อย่างองคมนตรี ที่เห็นข่าวทีวีทุกวัน ข่าวในพระราชสำนัก ๓-๔ คน ออกงานทั้งวัน ทุกคนไปทุกงาน
ต้องกลับมา “เขียนรายงาน” ถวายพระองค์ท่าน
พระองค์ท่านอ่าน ยืนยันเลย พระองค์ท่านอ่านทุกฉบับ แล้วมีปัญหาอะไรต่างๆ พระองค์ท่านจะสั่งการ ร.๑๐ พระองค์ท่าน หลาย ๆ อย่างจะทำ
บอก “ไม่ต้องไปประชาสัมพันธ์”
ท่านไม่เคยออกข่าว พวกเราไม่เคยรู้ นอกจากจะไปค้นกัน ถึงจะรู้ ท่านทำโน่น ทำนี่มากมาย
พระองค์ท่านเคยรับสั่ง ในหลวง ร.๑๐ เคยรับสั่ง
“เราทำงานไม่อยากให้เกินหน้าในหลวง ร.๙ อยากให้ทุกคน คนไทย มีภาพจำของในหลวง ร.๙ ซึ่งดูแลช่วยเหลือประชาชนคนไทยให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น มาตลอด ๗๐ ปี ที่ทรงครองราชย์”
พระองค์ท่านรับมาทั้งหมด รับมาดูแลต่อ โครงการพระราชดำริต่างๆ รับมา เหมือนกับ ร.๙ แต่สไตล์การทำงานไม่เหมือนกัน
“พระองค์ท่านก็จะทำ ก็อยากดูแลคนไทย ทำแบบเงียบๆ ทำแบบหลังฉาก ปิดทองหลังพระ”
แล้วในหลวง ร.๙ เคยรับสั่งว่า “เราปิดทองหลังพระไปให้มากๆ เดี๋ยวก็ล้นมาหน้าพระเอง ไม่ต้องไปบอกใครหรอก ผลงานจะออกมาข้างหน้าเอง”
แล้วในหลวง ร.๑๐ จึงยึดหลักตามพระราชดำรัสในหลวง ร.๙ “เราจะปิดทองหลังพระ เดี๋ยวผลงานจะออกมาข้างหน้าเอง”
……………………………….
เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
ข้าพระพุทธเจ้า ขอพระราชทานถวายพระพรชัยมงคล ขอพระองค์ทรงพระเจริญ
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้า เปลว สีเงิน
๒๗ กรกฏาคม ๒๕๖๗