นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินมาตรการเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของปลาหมอคางดำ และตรวจสอบตามกระบวนการเพื่อหาต้นตอ และหาข้อเท็จจริง บรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน
ล่าสุด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ พ.ศ. 2567 – 2568 เป็นวาระเร่งด่วน ผ่าน 5 มาตรการ สำคัญ
มาตรการที่ 1 ควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด ด้วยเครื่องมือและวิธีการต่าง ๆ เช่น ใช้อวนรุน เป็นต้น
มาตรการที่ 2 กำจัดปลาหมอคางดำโดยปล่อยปลานักล่าเพื่อควบคุมตามธรรมชาติ เช่น ปลากะพงขาว ปลาอีกง และอื่น ๆ ให้ตรงกับบริบทแต่ละพื้นที่
มาตรการที่ 3 นำปลาหมอคางดำที่กำจัดได้ไปใช้ประโยชน์ เช่น ใช้ทำเป็นปลาป่น เพื่อเป็นอาหารสัตว์เลี้ยง สัตว์น้ำ สัตว์บก หรือแปรรูปเป็นอาหาร
มาตรการที่ 4 สำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายปลาหมอคางดำในพื้นที่เขตกันชน ให้มีระบบการแจ้งข้อมูล เก็บข้อมูลเพื่อเฝ้าระวังไม่ให้แพร่ระบาด
มาตรการที่ 5 สร้างการรู้ ความตระหนัก ให้มีส่วนร่วมในการกำจัดปลาหมอคางดำ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้กับทุกภาคส่วน พร้อมจัดทำคู่มือแนวทางการรับมือ
นอกจากนี้ จะดำเนินโครงการวิจัยการเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม 4n โดยจะเปลี่ยนโครโมโซม ให้ปลาหมอคางดำเป็นหมัน เพื่อช่วยลดการแพร่พันธุ์ รวมถึงให้กรมประมงร่วมกับจังหวัด ตั้งจุดรับซื้อปลา และประสานกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่ต้องการรับซื้อปลาหมอคางดำเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป