องค์การสวนสัตว์ฯ จัดโครงการ“สื่อสารสวนสัตว์สร้างสรรค์ : เที่ยวสวนสัตว์ไทยไปด้วยกัน” พร้อมนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชมความคืบหน้าการก่อสร้าง “สวนสัตว์แห่งใหม่” เฟส 1 เผยความก้าวหน้าเตรียมเปิดเข้าชมนำร่องโซนสวนสาธารณะขนาด 30 ไร่ และอาคารเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 10 ปลายปี 69 และพื้นที่จัดแสดงสัตว์โซนแอฟริกา โซนเอเชียในปี 68
นายอรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า เพื่อประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลโครงการสวนสัตว์แห่งใหม่ระยะที่ 1 คลองหก เมื่อวันที่ 19 กรกฏาคม 2567ผ่านมา องค์การสวนสัตว์ฯได้จัดประชุมประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็นต่อโครงการก่อสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่ เฟส 1 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและลดผลกระทบจากโครงการก่อสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่แก่ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่โครงการ ,กลุ่มผู้นำชุมชนในพื้นที่ 4 อำเภอตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งได้จัดกิจกรรม “สื่อสารสวนสัตว์สร้างสรรค์ : เที่ยวสวนสัตว์ไทยไปด้วยกัน” โดยได้นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมความคืบหน้าก่อสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่ ระยะที่ 1 บริเวณคลองหก จ.ปทุมธานี
นายอรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยความคืบหน้าในการก่อสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่คลอง 6 บนพื้นที่พระราชทาน 300 ไร่ในขณะนี้ว่า การก่อสร้างมีความก้าวหน้าตามลำดับ โดยเฟสแรกคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้อนุมัติวงเงินในการก่อสร้างจำนวน 5,314 ล้านกำหนดระยะเวลาก่อสร้างไว้ 900 วัน ขณะนี้สามารถเบิกจ่ายได้แล้วประมาณ 1,500 ล้านบาท ส่วนการเปิดให้บริการให้ประชาชนเข้าชมในเฟสแรกเบื้องต้นกำหนดให้เข้าชมได้ช่วงต้นปี 2569 แต่เนื่องจากเกิดปัญหาการเบิกงบประมาณล่าช้าและประสบปัญหาฝนตกไม่ตรงตามฤดูกาลส่งผลกระทบน้ำท่วมขังบริเวณก่อสร้าง ทำให้การก่อสร้างล่าช้าจากเดิมเลยอาจต้องขยายการเปิดให้บริการเช้าชมเฟสแรกออกไปเป็นปลายปี 2569 โดยวางแผนให้เข้าชมนำร่องฟรีในระยะแรก 2 โซน คือ สวนสาธารณะขนาด 30 ไร่ และอาคารเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 10 และในปี 2568 วางแผนให้เข้าชมพื้นที่จัดแสดงสัตว์โซนแอฟริกา โซนเอเชียตามลำดับ โดยในช่วงแรกเปิดให้ประชาชนเข้าชมฟรีก่อน
“อยากให้คนไทยมีความภาคภูมิใจในสวนสัตว์ใหม่ที่กำลังสร้างบนแผ่นดินพระราชทานซึ่งมีอาณาจักรกว้างขวางกว่า 300ไร่กำลังจะเกิดขึ้น เป็นสวนสัตว์ที่ได้รับการยกระดับเป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติระดับสากลและเป็นแหล่งเรียนรู้แห่งใหม่ล่าสุดของไทยที่นักท่องเที่ยวจะได้เข้าชมธรรมชาติและสัตว์ป่าอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนมีสัตว์หลายชนิดที่ไม่เคยเห็นในเมืองไทย คนไทยก็จะได้เห็น โดยเราจะมอบประสบการณ์ในการดูสัตว์แบบใหม่ เหมือนได้เข้าไปในพื้นที่ถิ่นที่อยู่เดียวกับสัตว์จริงๆและจะยกระดับเป็นศูนย์กลางเรียนรู้เชิงนิเวศน์ย่านปทุมธานีที่นอกจากได้เรียนรู้เรืองสัตว์แล้วยังได้เรียนรู้ระบบนิเวศน์ของแต่ละถิ่นที่อยู่ของสัตว์ต่างๆรวมไปถึงแหล่งเรียนรู้อื่นๆที่ผู้ชมได้สัมผัสธรรมชาติและสัตว์อย่างใกล้ชิด โดยช่วงแรกเปิดให้ประชาชนเข้าชมฟรีก่อน ส่วนการเปิดให้บริการเต็มรูปแบบมั่นใจว่าสามารถเปิดบริการได้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2571 เป็นต้นไป คาดมีประชาชนเข้าชม 1.2 ล้านคนต่อปี ทำรายได้ 5 พันล้าน/ปี จากตั๋วเข้าชมและร้านค้าโดยรอบ” ผอ.องค์การสวนสัตว์ฯ กล่าวย้ำ
สำหรับสวนสัตว์แห่งใหม่ ได้ก่อสร้างบนแผ่นดินพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานโฉนดที่ดินที่คลอง 6 ต.รังสิต อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี จำนวน 300 ไร่ เพื่อทดแทนสวนสัตว์ดุสิตที่มีขนาดแค่ 118 ไร่ เพื่อให้สัตว์มีพื้นที่อยู่อย่างกว้างขวาง ไม่แออัด และเป็นแหล่งเรียนรู้สัตว์ป่าในระดับสากล เป็นห้องเรียนธรรมชาติ ศูนย์เรียนรู้แห่งใหม่ของไทย ภายใต้แนวคิด “ชุบชีวิตทุ่งน้ำ” เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตามแนวพระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร แบ่งการใช้ประโยชน์พื้นที่ออกเป็น 6 ส่วน ได้แก่1.พื้นที่จัดแสดงสัตว์โซนแอฟริกา โซนเอเชีย โซนออสเตรเลีย โซนอเมริกาใต้ โซนสวนสัตว์เด็กและนิทรรศการ 171 ไร่ 2.พื้นที่ป้องกันน้ำท่วมและถนน 42 ไร่ 3.พื้นที่ส่วนบริหารและวิจัย 33 ไร่ 4.พื้นที่สวนเฉลิมพระเกียรติ 21 ไร่5.พื้นที่ส่วนกลางและเชิงพาณิชย์ 18 ไร่ 6. พื้นที่จอดรถ 15 ไร่ โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติวงเงินในการก่อสร้าง 10,974 ล้านบาทมี โดยกำหนดระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2566 – 2570 โดยแบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ระยะ ระยะที่ 1 มีมูลค่าการก่อสร้าง 5,383.82 ล้านบาท และระยะที่ 2 มีมูลค่าก่อสร้าง 4,340.16 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดให้บริการระยะแรก ในปี พ.ศ. 2569 และเปิดให้บริการเต็มรูปแบบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2571 เป็นต้นไป
ปัจจุบันองค์การสวนสัตว์ฯ สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีภารกิจหลักคือ การอนุรักษ์และขยายพันธุ์การให้การศึกษา และการจัดสวนสัตว์ให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนทั่วไป ซึ่งปัจจุบันมีสวนสัตว์อยู่ในความดูแล 6 แห่ง และ 2 โครงการ คือ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว สวนสัตว์เชียงใหม่ สวนสัตว์นครราชสีมา สวนสัตว์สงขลา สวนสัตว์อุบลราชธานี สวนสัตว์ขอนแก่น โครงการคชอาณาจักร จังหวัดสุรินทร์ และโครงการก่อสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่ จังหวัดปทุมธานี
ทั้งนี้ ตามแผนวิสาหกิจ พ.ศ. 2565 – 2569 องค์การสวนสัตว์ฯ ยุทธศาสตร์ที่ 4 กำหนดให้มีการพัฒนาธุรกิจสวนสัตว์ให้ทันสมัย (Smart Zoo) สร้างรายได้เพื่อความยั่งยืนขององค์กร โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มรายได้ทางธุรกิจและสร้างความแข็งแกร่ง กับพันธมิตรสู่การเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยนำอัตลักษณ์ของสวนสัตว์ในสังกัดมาจัดกิจกรรมทางการตลาด การสื่อสารประชาสัมพันธ์รวมทั้งการสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ รวมทั้งให้ความสำคัญในการสร้างการรับรู้ด้านความคืบหน้าของการก่อสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่ จังหวัดปทุมธานีและสวนสัตว์อยู่ในความดูแล 6 แห่ง และ 2 โครงการให้ประชาชนได้รับทราบอย่างกว้างขวาง