รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ตะวันชัย จิรประมุขพิทักษ์ อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ผลการศึกษาจากโครงการวิจัยด้านจิตสังคมบำบัดเพื่อดูแลผู้ติดสุราในชุมชน บนข้อสันนิษฐานว่าหากรักษาผู้ป่วยติดสุราด้วย “วิธีการตั้งรับ” คือการให้ผู้ป่วยเดินทางมารับการรักษาต่อเนื่องที่สถานพยาบาล มักมีอัตราการหยุดรักษากลางคันที่สูง จำนวนไม่น้อยกลับไปดื่มสุราใหม่ จนกระทั่งเกิดภาวะแทรกซ้อนทางกายและต้องกลับมารักษาตัวใหม่ในโรงพยาบาล ทำให้เกิดต้นทุนการรักษาที่สูงและเป็นภาระต่อระบบสาธารณสุข
การใช้ “วิธีการเชิงรุก” คือการคัดกรองผู้เสี่ยงติดสุราในชุมชน อำนวยความสะดวกในการส่งรักษาต่อในสถานพยาบาล และติดตามต่อ โดยการเยี่ยมบ้านโดยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) โดยเน้นการสื่อสารเชิงบวก และมี “เครื่องเป่าวัดแอลกอฮอล์” มือถือราคาย่อมเยาเป็นอุปกรณ์หลักในการเยี่ยมบ้าน และติดตามผล ว่ายังมีการดื่มสุราอยู่หรือไม่ หากหยุดดื่มได้ อสม. จะกล่าวชมเชย หากยังหยุดดื่มไม่ได้ ก็กล่าวให้กำลังใจให้ผู้ดื่มมีความพยายามในการเลิกสุราต่อไป
อาจารย์ยังได้กล่าวว่า “ต้องให้เวลากับผู้ดื่มระยะหนึ่งในการเลิกสุรา เนื่องจากจำนวนไม่น้อยยังอาจมีการดื่มๆ หยุดๆ ในระยะแรก แต่เมื่อผ่านไป 4 เดือน ผู้ป่วยมากกว่าครึ่งหนึ่ง สามารถหยุดดื่มได้ติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือน”
นอกจากนี้ การให้รางวัลเล็กๆ น้อยๆ เป็นสิ่งจูงใจเมื่อหยุดดื่มได้ จะทำให้อัตราการหยุดดื่มเพิ่มสูงขึ้นอีก จะเห็นได้ว่ารูปแบบการดูแลแบบใหม่นี้ อสม. มีบทบาทสำคัญมาก
บทสรุปของงานวิจัย การดื่มสุรา และภาวะแทรกซ้อนจากการดื่มสุรา ก่อให้เกิดภาวะโรค และต้นทุนต่อสังคมที่สูง การแก้ปัญหาต้องทำที่ทุกระดับ ตั้งแต่ปัจจัยมหภาคที่กำหนดการดื่มสุรา เช่น นโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นตัวกำหนดการเข้าถึงสุราในภาพรวม ไปจนถึงการดูแลผู้ป่วยติดสุราในระบบสาธารณสุข แนวคิดและนวัตกรรมใหม่ๆ ในการจัดการปัญหา จึงมีความจำเป็นเพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการแก้ปัญหา