“ธรรมนัส” ประกาศมาตรการเร่งด่วนล่าปลาหมอคางดำ เคาะราคารับซื้อ 15 บาท/กก. สั่งกรมประมงประสานจังหวัดตั้งจุดรับซื้อภายในสัปดาห์หน้า

"ธรรมนัส" ประกาศมาตรการเร่งด่วนล่าปลาหมอคางดำ เคาะราคารับซื้อ 15 บาท/กก. สั่งกรมประมงประสานจังหวัดตั้งจุดรับซื้อภายในสัปดาห์หน้า ‘รมช.อรรถกร’ ย้ำชัด ต้องกำจัด ไม่สนับสนุนให้นำไปเพาะเลี้ยง เผยมติที่ประชุมอนุมัติกรอบ 5 มาตรการ

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ครั้งที่ 2/2567 ที่มีนายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ณ ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ห้อง 123) และผ่านระบบ Zoom Cloud Meeting ว่า

จากปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำที่มีการขยายวงกว้างมากขึ้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้ความสำคัญและเร่งให้กรมประมงดำเนินการแก้ไข เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยที่ประชุมได้มีมติร่วมกันในการดำเนินแผนมาตรการระยะเร่งด่วน คือการกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด และรับซื้อในราคา 15 บาท/กิโลกรัม ซึ่งเป็นที่พอใจของตัวแทนเครือข่ายชาวประมง

โดยตนได้หารือกับนายกรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว เบื้องต้นจะใช้เงินจากกองทุน​สงเคราะห์​การทำ​สวนยาง​ในระหว่างที่รอของบกลางในการรับซื้อเพื่อให้การแก้ปัญหาเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยด่วน และมอบหมายให้กรมประมงประสานกับจังหวัดเพื่อตั้งจุดรับซื้อภายในสัปดาห์หน้า สำหรับมาตรการอื่นๆ ให้ดำเนินการคู่ขนานกันไป

ขณะที่นายอรรถกร รมช.เกษตรฯ กล่าวย้ำว่า ไม่มีการส่งเสริมให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงอย่างเด็ดขาด ต้องกำจัดเท่านั้น ซึ่งกรมประมงจะประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ที่มีความต้องการรับซื้อปลาหมอคางดำเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป สำหรับกรณีการตรวจสอบที่มาต้นทางการนำเข้าปลาหมอคางดำนั้น หากมีหลักฐานที่ชัดเจน ก็ยินดีจะดำเนินการต่อไปตามกระบวนการที่ถูกต้อง
รมช.อรรถกร กล่าวต่อไปว่า

นอกจากนี้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ พ.ศ. 2567 – 2568 ภายใต้กรอบ 5 มาตรการ 12 กิจกรรม ระยะเวลาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 ถึง เดือนกันยายน 2568 ซึ่งได้รวบรวมร่างแผนปฏิบัติการตามมติที่ประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ระดับจังหวัด 16 จังหวัด (จันทบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครราชสีมา สงขลา ตราด และชลบุรี)

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้กรมประมงประชุมร่วมกับจังหวัดอีกครั้งเพื่อทบทวนในรายละเอียด งบประมาณ เพื่อให้เหมาะสมในแต่ละกิจกรรมและครอบคลุมการแก้ไขปัญหา

สำหรับ 5 มาตรการ 12 กิจกรรม ประกอบด้วย

มาตรการที่ 1 การควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด 4 กิจกรรม โดยมุ่งเน้นการกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ ด้วยเครื่องมือและวิธีการต่าง ๆ

มาตรการที่ 2 การกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยการปล่อยปลาผู้ล่าอย่างต่อเนื่อง 2 กิจกรรม มุ่งเน้นการประเมินสถานภาพปลาหมอคางดำก่อนปล่อยลูกพันธุ์ปลาผู้ล่า เช่น ปลากะพงขาว ปลาอีก

มาตรการที่ 3 การนำปลาหมอคางดำที่กำจัดได้ไปใช้ประโยชน์ เน้นการจัดหาแหล่งกระจายและรับซื้อ จัดหาแนวทางการใช้ประโยชน์

มาตรการที่ 4 การสำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายปลาหมอคางดำในพื้นที่เขตกันชน เน้นการสร้างความพร้อมในการรับมือเมื่อพบการแพร่ระบาดให้กับองค์กรประมงชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง สำรวจและเฝ้าระวังในแหล่งน้ำที่ยังไม่พบการแพร่ระบาด

และมาตรการที่ 5 การสร้างความรู้ ความตระหนัก และการมีส่วนร่วมในการกำจัดปลาหมอคางดำ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้กับทุกภาคส่วน พร้อมจัดทำคู่มือแนวทางการับมือเมื่อพบ

สำหรับอีกมาตรการที่สำคัญ คือโครงการวิจัยการเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม 4n ในปลาหมอคางดำ เป็นการควบคุมการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำโดยการทำให้ประชากรปลาหมอคางดำเป็นหมัน โดยการศึกษาสร้างประชากรปลาหมอคางดำพิเศษที่มีชุดโครโมโซม 4 ชุด (4n) จากนั้นจะปล่อยปลาหมอคางดำพิเศษเหล่านี้ลงสู่แหล่งน้ำเพื่อให้ไปผสมพันธุ์กับปลาหมอคางดำปกติที่มีชุดโครโมโซม 2 ชุด (2n)

การผสมพันธุ์นี้จะทำให้เกิดลูกปลาหมอคางดำที่มีชุดโครโมโซม 3 ชุด (3n) ซึ่งลูกปลาที่มีโครโมโซม 3 ชุดนี้จะกลายเป็นปลาหมอคางดำที่เป็นหมัน ไม่สามารถสืบพันธุ์ต่อได้ โดยมีแผนปล่อยพันธุ์ปลาหมอคางดำ 4n ลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ทยอยปล่อยอย่างน้อย 250,000 ตัว ภายในระยะเวลา 15 เดือน (กรกฎาคม 2567 – กันยายน 2568) คาดว่าสามารถเริ่มปล่อยพันธุ์ปลาได้อย่างช้าสุดในเดือนธันวาคม 2567 อย่างน้อยจำนวน 50,000 ตัว

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รายงานการควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำจากแหล่งน้ำธรรมชาติทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด (ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567) กำจัดปลาหมอคางดำได้ทั้งสิ้น 623,370 กิโลกรัม จำแนกเป็นปริมาณปลาหมอคางดำที่จับจากแหล่งน้ำธรรมชาติ 325,668 กิโลกรัม และปริมาณปลาหมอคางดำที่จับจากบ่อเพาะเลี้ยง 297,702 กิโลกรัม

Line Open Chat เพิ่มช่องทางการรับข่าวสาร จากเว็บไซต์ พร้อมพูดคุย แสดงความคิดเห็น เรื่องการบ้านการเมือง สังคม หรืออื่นๆ กับคนคอเดียวกัน
Written By
More from pp
หนึ่งเดียวในโลก ประติมากรรม Miracle Of Candle มหัศจรรย์เทียนพรรษา กับประเพณีแสนวิจิตรแดนอีสาน พระพิฆเนศปางพระทานพร สูงกว่า 5 เมตร ด้วยคอนเซปต์ “The Story Of Ganesha คณปติ” ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล อุบล
ประเพณีแห่เทียนพรรษาหนึ่งในงานบุญวันเข้าพรรษาที่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดอุบลราชธานี สืบทอดภูมิปัญญา ความศรัทธา และความสามัคคีของชุมชนต่อเนื่องอย่างยาวนาน
Read More
0 replies on ““ธรรมนัส” ประกาศมาตรการเร่งด่วนล่าปลาหมอคางดำ เคาะราคารับซื้อ 15 บาท/กก. สั่งกรมประมงประสานจังหวัดตั้งจุดรับซื้อภายในสัปดาห์หน้า”