‘แก้ไข-ยกเลิก’ ม.๑๑๒ = ล้มล้าง – ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

ยุบพรรคการเมืองได้หรือไม่?

ประเด็นนี้คงจะสิ้นสงสัยกันไปแล้ว เพราะที่ผ่านมา มีพรรคการเมืองถูกยุบไปแล้วหลายพรรค ด้วยสาเหตุที่แตกต่างกันออกไป

แต่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” พยายามจะสร้างชุดความเชื่อขึ้นมาใหม่ว่า การยุบพรรคต้องเป็นมาตรการสุดท้ายเมื่อจำเป็นฉุกเฉินฉับพลันและไม่มีทางแก้ไขในระบอบประชาธิปไตย

คืออะไร?

ที่ผ่านมาวิธีแก้ปัญหาจำเป็นฉุกเฉินฉับพลันและไม่มีทางแก้ไขในระบอบประชาธิปไตย ส่วนมากคือการทำรัฐประหาร เพราะนักการเมืองแก้ปัญหาตัวเองไม่ได้

และประชาชนกำลังจะฆ่ากัน

สถานการณ์แบบนี้ การยุบพรรคจะยิ่งจุดชนวน เป็นตัวเร่งให้ประชาชนห้ำหั่นกันเร็วขึ้น

ฉะนั้นการยุบพรรค ไม่อาจใช้ในกรณีฉุกเฉินฉับพลัน

และโดยเจตนารมณ์ของการยุบพรรคการเมือง ไม่ใช่เพื่อแก้ปัญหาการเมือง แต่เป็นการลงโทษพรรคการเมืองที่ทำผิดกติกา

แม้กฎหมายจะให้เสรีภาพในการรวมตัวเป็นพรรคการเมือง แต่ในขณะเดียวกันก็มีการวางกลไกในการกำกับควบคุมการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองให้ดำเนินไปภายใต้กรอบของกฎหมาย โดยกฎหมายได้กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาและตัดสินสั่งยุบพรรคการเมืองได้ หากกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้

ประการที่หนึ่ง กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

ประการที่สอง กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ประการที่สาม กระทำการอันเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

ประการที่สี่ กระทำการ ดังต่อไปนี้

๑.พรรคการเมืองรับบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยโดยกำเนิดเข้าเป็นสมาชิกหรือดำรงตำแหน่งใดๆ ในพรรคการเมือง หรือยอมให้กระทำการอย่างใดเพื่อประโยชน์ของพรรคการเมือง

๒.พรรคการเมืองรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ใดเพื่อกระทำการหรือสนับสนุนการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน หรือกระทำการอันเป็นการก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือกระทำการอันเป็นการทำลายทรัพยากรของประเทศ หรือเป็นการบั่นทอนสุขภาพอนามัยของประชาชน

๓.พรรคการเมืองรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดเพื่อดำเนินกิจการของพรรคการเมือง หรือดำเนินกิจการในทางการเมืองจากบุคคลบางจำพวกที่กฎหมายกำหนด อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากฎหมายจะกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่ในการสั่งยุบพรรคการเมืองที่เข้าข่ายการกระทำความผิดดังกล่าว แต่ในขณะเดียวกันแม้ว่าจะมีเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองได้ แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็สามารถใช้ดุลยพินิจที่จะสั่งยุบหรือไม่ยุบพรรคการเมืองก็ได้หากเห็นว่ามีเหตุอันควร เช่น กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าพรรคการเมืองกระทำการฝ่าฝืนข้อห้ามจริง แต่เป็นการกระทำครั้งแรก และไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรง ศาลอาจไม่สั่งยุบพรรคการเมืองก็ได้

คดียุบพรรคก้าวไกล เข้าลักษณะการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จากการแก้ไขหรือยกเลิก ม.๑๑๒

แล้ว ม.๑๑๒ เกี่ยวอะไรกับการล้มล้างการปกครอง

มีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญหลายคดี ที่ระบุว่า การยกเลิก หรือแก้ไข ม.๑๑๒ ที่มีเจตนามุ่งหมายที่จะแยกสถาบันพระมหากษัตริย์กับความเป็นชาติไทยออกจากกัน ซึ่งเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐอย่างมีนัยสำคัญ

หรือเป็นการกระทำที่มีเจตนาเพื่อทำลายหรือล้างผลาญให้สูญสลายหมดสิ้นไป

แม้ “พิธา” จะแย้งว่า ร่างแก้ไขมาตรา ๑๑๒ ของพรรคก้าวไกลก็ยังไม่ได้เข้าสภาฯ จึงยังไม่มีความผิด แต่ “พิธา” ลืมไปว่าพรรคก้าวไกลพยายามอย่างมากที่จะให้สภาฯ บรรจุในระเบียบวาระให้ได้

อีกทั้งมีการ “กระทำ” ต่อเนื่องยาวนานโดยพรรคก้าวไกล และผู้สนับสนุน ที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองมาโดยตลอด

นั่นคือ “เจตนา”

และเจตนาแก้ ม.๑๑๒ ที่พรรคก้าวไกลลบทิ้งไปจากสารบบของนโยบายพรรคก็คือ ย้ายความผิดฐาน ม.๑๑๒ ออกจากหมวดความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ

ลดอัตราโทษลงอย่างมาก ไม่กำหนดโทษขั้นต่ำ รวมทั้งสามารถพิจารณาลงโทษปรับแทนการจำคุก เพื่อให้ได้สัดส่วนกับความผิด

คดียุบพรรคก้าวไกลเป็นคดีต่อเนื่องจากคดีล้มล้างการปกครองที่ “พิธา” และ พรรคก้าวไกล ใช้นโยบายแก้ไขหรือยกเลิก ม.๑๑๒ ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

และศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยไว้ชัดเจน

“…การที่ผู้ถูกร้องทั้งสอง เสนอให้มาตรา ๑๑๒ ออกจากลักษณะ ๑ ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงในราชอาณาจักรเป็นการกระทำเพื่อมุ่งหวัง ให้ความผิดตามมาตรา ๑๑๒ เป็นความผิดที่ไม่มีความสำคัญ และความร้ายแรงในระดับเดียวกัน กับความผิดในหมวด ๑ ของลักษณะ ๑ และไม่ให้ถือว่าเป็นความผิดที่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศอีกต่อไป มีเจตนามุ่งหมายที่จะแยกสถาบันพระมหากษัตริย์กับความเป็นชาติไทยออกจากกัน ซึ่งเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐอย่างมีนัยสำคัญ…”

อีกคดีที่มีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญใกล้เคียงกัน คือคดี แกนนำคณะราษฎร ๖๓ ล้มล้างการปกครอง ที่สืบเนื่องจากการอ่านแถลงการณ์ ให้ยกเลิก ม.๑๑๒ รวมถึงเปิดให้ประชาชนใช้เสรีภาพแสดงความคิดต่อสถาบันกษัตริย์ได้ และนิรโทษกรรมผู้ถูกดำเนินคดีเพราะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ทุกคน

คำวินิจฉัยที่น่าสนใจคือคำวินิจฉัยส่วนตน “ปัญญา อุดชาชน” ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

“…คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๓/๒๕๖๒ ได้วางหลักคำว่า ‘ล้มล้าง’ ว่าเป็นภัยร้ายแรงต่อรัฐธรรมนูญและระบอบการปกครองตามรัฐธรรมนูญที่สุดวิสัยที่จะแก้ไขให้กลับคืนดีได้ นอกจากนั้น เป็นการกระทำที่มีเจตนาเพื่อทำลายหรือล้างผลาญให้สูญสลายหมดสิ้นไป ไม่ให้ดำรงอยู่หรือมีอยู่อีกต่อไป…”

“…เห็นว่าแม้เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๓ ในการเรียกร้องต่างๆ เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงยังปรากฏมีข้อเรียกร้องดังกล่าวอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันโดยมีพฤติกรรมที่มีลักษณะเป็นแนวร่วมการชุมนุมโดยมีการแบ่งกลุ่ม แบ่งงานกันทำ รวมถึงการเรียกร้องให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่าด้วยพระราชสถานะของพระมหากษัตริย์ซึ่งไม่สามารถกระทำได้เนื่องจากผู้มีหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญต้องเคารพหลักการชั่วนิรันดร์ (EternityClause) ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๕๕ นอกจากนั้นศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ ๒๘-๒๙/๒๕๕๕ เห็นว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงแห่งรัฐหรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงสอดคล้องกับหลักนิติธรรมโดยมิได้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จึงถือว่าเป็นการทำลายหรือ ล้างผลาญหลักการพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข…”

ฉะนั้นพรรคก้าวไกลจะถูกยุบหรือไม่ก็ตาม แต่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ได้จารึกไว้ชั่วลูกชั่วหลานแล้วว่า…

พรรคก้าวไกลเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐอย่างมีนัยสำคัญ

Written By
More from pp
‘มิ่งขวัญ’ มา ‘ประยุทธ์’ ไป – ผักกาดหอม
ผักกาดหอม ตื่นเต้น… ตอนนี้ถือว่าพรรคเพื่อไทย นำพรรคพลังประชารัฐไป ๑ ก้าว เป็นก้าวสำคัญทีเดียว ๖ ธันวาคม พรรคเพื่อไทยจัดประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี ๒๕๖๕ คิกออฟเปิดแคมเปญใหม่...
Read More
0 replies on “‘แก้ไข-ยกเลิก’ ม.๑๑๒ = ล้มล้าง – ผักกาดหอม”