“ยุบ-ไม่ยุบ” ก้าวไกล? – เปลว สีเงิน

เปลว สีเงิน

หลายคนเข้าใจว่า…..
วันนี้ “๑๒ มิถุนา.๖๗” ศาลรัฐธรรมนูญ จะตัดสินคดี “ยุบพรรคก้าวไกล”
ขอบอกเพื่อความเข้าใจที่ตรงกันว่า
“ยังครับ…ยัง ยังไม่มีการตัดสินแต่อย่างใด”!

วันนี้ เป็นเพียง “ศาลรัฐธรรมนูญ” เปิดการพิจารณาคดีนัดแรกเท่านั้น
หลังจากที่ได้รับคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาจากนายพิธาและพรรคก้าวไกล เมื่อ ๔ มิย.

ฉะนั้น วันนี้ ที่ต้องรอฟัง ว่าศาลฯ จะนัดไต่สวนคดีตามที่นายพิธาตั้งประเด็นไปในคำแก้ข้อกล่าวหาหรือไม่

ถ้าไต่สวน ศาลฯ ก็จะกำหนดวันนัด กรณีนี้ การตัดสินจะยืดออกไป

แต่ถ้ามีคำสั่งว่า ข้อเท็จจริง, ข้อกฎหมายตามสำนวนที่กกต. “ผู้ร้อง” ยื่นมานั้น ครบถ้วน-สมบูรณ์เพียงพอแล้ว
ศาลฯ ก็จะนัดวันประชุมพิจารณาเพื่อลงมติ

และนัดวันให้กกต. “ผู้ร้อง” นายพิธา-ก้าวไกล “ผู้ถูกร้อง” มาฟังคำวิจฉัย คือคำตัดสิน ว่าเป็นวันไหน?
เข้าใจกันตามนี้นะ จะได้ไม่เข้าใจผิด แล้วพาลจู้จี้!

แต่ที่อยากรู้กัน จนหัวใจคันยิบ ก็ตรงว่า
“ก้าวไกลจะถูกยุบ-ไม่ถูกยุบ”?

ที่จริงประเด็นนี้ มันมีคำตอบอยู่ในตัวมันเองแล้ว หากแต่พวกเรา “ได้หน้า-ลืมหลัง” เท่านั้นเอง

คือเรื่องนี้ แบ่งเป็น ๓ ขั้นตอน
แต่ละขั้นตอนอยู่ในแผงวงจรเดียวกัน ถ้าขั้นตอนแรกล้มเหลว เรื่องก็จบแค่นั้น จะไม่มี “ขั้นตอนที่ ๒ ที่ ๓” ตามมา

แต่ทีนี้ ขั้นตอนแรก อันเป็น “สารตั้งต้น” ของการยุบพรรค สำเร็จ ขั้นตอนที่ ๒ ที่ ๓ ซึ่งเป็นผลไม้ที่หอมหวาน ของต้นไม้ทรงคุณทางนิติธรรม ก็ไหลลื่นไปด้วยตัวมันเอง

ต้องชม “นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร” ผู้ร้องคดีไว้เป็น “ขั้นตอนแรก “ด้วยคดี “ล้มล้างการปกครอง”

นายธีรยุทธยื่นคำร้องโดยตรงต่อ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ขอให้พิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๙ ว่า

การกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ ๑ และพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ ๒
ที่เสนอร่าง “พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ. …เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒

โดยใช้เป็น “นโยบายหาเสียงเลือกตั้ง” และยังคงดำเนินต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้าง

“การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๙ วรรคหนึ่ง

พร้อมทั้งขอให้ศาลฯ สั่งให้เลิกการกระทำ การแสดงความคิดเห็น การพูด หรือการดำเนินการใดๆในอนาคต

ปรากฎว่า เมื่อ ๓๑ มกรา.๖๗…..

“ศาลรัฐธรรมนูญ” โดยมติเอกฉันท์ วินิจฉัยว่า
การกระทำนายพิธาและพรรคก้าวไกล เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

และสั่งการให้ “เลิกการกระทำ” เลิกการแสดงความคิดเห็น เพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒

อีกทั้งศาลฯ ไม่ให้มีการแก้ไขมาตรา ๑๑๒ ด้วยวิธีการอันไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย

ตอนหนึ่งของคำวินิจฉัย ศาลฯ ชี้ว่า การที่นายพิธาและพรรคก้าวไกล เสนอแก้ไขมาตรา ๑๑๒ เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง

เป็นการใช้นโยบายทางการเมือง โดยนำสถาบันฯลงมาเพื่อหวังผลในการได้คะแนนเสียง และประโยชน์ในการชนะการเลือกตั้ง

ซึ่งเป็นผลทำให้สถาบันฯ ตกเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชน จึงถือว่ามีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลาย ที่อาจนำไปสู่การล้มล้างการปกครองฯ ได้ในที่สุด

การเสนอกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๑๑๒ เพื่อลดสถานะของสถาบันกษัตริย์เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้งและยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

เป็นการใช้นโยบายทางการเมือง โดยนำสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมาเพื่อหวังผลคะแนนเสียงและประโยชน์ในการชนะการเลือกตั้ง

มุ่งหมายให้สถาบันพระมหากษัตริย์ อยู่ในฐานะคู่ขัดแย้งกับประชาชน
ทำให้สถาบันกษัตริย์ต้องเข้าไปเป็นฝักฝ่าย ต่อสู้ แข่งขัน รณรงค์ทางการเมือง

อันอาจจะนำมาซึ่งการโจมตีติเตียน โดยไม่คำนึงถึงหลักการสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

ซึ่งมีหลักสำคัญว่า “พระมหากษัตรย์ต้องดำรงฐานะอยู่เหนือการเมืองและความเป็นกลางทางการเมือง…”

ใช่ว่าศาลฯ ตัดสินโดยไม่สดับตรับฟังสังคมนะ

เพราะก่อนมีคำวินิจฉัย ศาลฯ ได้รับฟังความคิดเห็นจากพยานนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ที่มีความเป็นกลาง ๔ ท่าน

-“ดร.รณกร บุญมี” อาจารย์นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์

-“ศ.กิตติคุณวิทิต มันตาภรณ์” อาจารย์นิติศาสตร์ จุฬาฯ

-“รศ.ดร.ภูริ ฟูวงศ์เจริญ” คณบดีรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์

-“รศ.ดร.ศุภมิตร ปิติพัฒน์” อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ

ไม่เพียงแค่นั้น ศาลฯ ยังฟังความคิดเห็น จาก…

ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ,สำนักงานตำรวจแห่งชาติ,สภาความมั่นคงแห่งชาติ, อัยการสูงสุด, ศาลยุติธรรม และศาลอาญา อีก ๔ แห่ง ก่อนมีคำวินิจฉัย “เป็นเอกฉันท์”

ว่าการกระทำของ “พิธา-ก้าวไกล”………
“เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๙

เมื่อขั้นตอนแรกสำเร็จ ศาลฯ วินิจฉัยว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง เรื่องก็เดินสู่ “ขั้นตอนที่ ๒ ด้วยตัวมันเอง” คือการยุบพรรค”

เพราะ “พรป.พรรคการเมือง” มาตรา ๙๒ บัญญัติไว้ว่า

“เมื่อคณะกรรมการมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น

(๑)กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

(๒) กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

(๓)………

(๔) มีเหตุอันจะต้องยุบพรรคการเมืองตามที่มีกฎหมายกำหนด

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการไต่สวนแล้ว มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคการเมืองกระทำการตามวรรคหนึ่ง
ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองและเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น

“ขั้นตอนยุบพรรค” เป็นเงื่อนไขที่กกต.ต้องปฎิบัติตามกฎหมาย

๑๘ มี.ค.๖๗ “นายแสวง บุญมี” เลขาฯ กกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรค ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ

“ขอให้พิจารณาสั่งยุบพรรคก้าวไกลและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคตาม พ.ร.ป.ว่าพรรคการเมืองมาตรา ๙๒ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๒)”

เอกสารหลักฐานที่ใช้ยื่นประกอบคำร้องให้ยุบพรรค ก็คือ “คำวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครอง” ที่ศาลฯ มีมติเอกฉันท์นั่นแหละ!

เห็นมั้ย แสดงว่า นายธีรยุทธ “รบแบบมีแผน” เป็นขั้นตอน จึงสำเร็จ

เมื่อคดี “ล้มล้างการปกครอง” สำเร็จ ศาลฯ วินิจฉัยว่าผิด เรื่องก็เดินเข้าแผนขั้นที่ ๒ ด้วยตัวมันเอง

คือกกต.ใช้คำวินิจฉัยศาลฯ ที่ว่านายพิธา-ก้าวไกล “ล้มล้างการปกครอง” นั่นแหละ

เป็นหลักฐานต่อเนื่องสู่ขั้นตอน “ยุบพรรค” และตัดสิทธิกก.บห.พรรค ตามที่พรป.พรรคการเมืองระบุไว้ชัด

ถ้ามีการกระทำ “ล้มล้างการปกครอง” ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๙ ก็ต้องถูกยุบพรรคและตัดสิทธิ์กก.บห.ตามพรป.พรรคการเมือง มาตรา ๙๒ ที่ว่า

“ให้พิจารณาสั่งยุบพรรคก้าวไกลและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคตามพ.ร.ป.ว่าพรรคการเมืองมาตรา ๙๒ วรรคหนึ่ง(๑)และ(๒)”

แล้วก็มาถึง “ขั้นตอนที่ ๓” ขณะนี้
ขั้นตอนศาลฯ พิจารณาสั่งยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคนั่นเอง!

เห็นมั้ย เมื่อไล่เลียงตามขั้นตอนกฎหมายบัญญัติแล้ว ก็จะหมดสงสัย ไม่ต้องไปถามใครว่า

“พิธา-กก.บห.พรรค” จะถูกตัดสิทธิมั้ย?

“พรรคก้าวไกล” จะถูกยุบพรรคมั้ย?

เพราะคำตอบมีอยู่ในแต่ละขั้นตอนตามกฎหมายระบุชัดแล้ว ประเด็นไต่สวน จึงไม่มีคำจำเป็นต้องพูดถึง!

กรรมการบริหาร ชุดนายพิธาเป็นหัวหน้าพรรค อยู่ในข่าย “ถูกตัดสิทธิ” ทางการเมือง ๑๐ ปี ก็มี

๑.พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ๒.ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค ๓.ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ เหรัญญิกพรรค ๔.ณกรณ์พงศ์ ศุภนิมิตรตระกูล นายทะเบียนสมาชิกพรรค

๕.ปดิพัทธ์ สันติภาดา กก.บห.๖.สมชาย ฝั่งชลจิตร กก.บห.๗.อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล กก.บห.๘.เบญจา แสงจันทร์ กก.บห.

๙.อภิชาติ ศิริสุนทร กก.บห.๑๐.สุเทพ อู่อ้น กก.บห.๑๑.อภิสิทธิ์ พรมฤทธิ์ กก.บห.

ทั้งหมดนี้ เป็น “ข้อมูล” ประกอบการติดตามข่าวเรื่องยุบพรรค ส่วนจะ “ยุบ-ไม่ยุบ” ต้องรอฟังศาลฯ

ฟังที่ผม เผลอๆ ออกลูกเป็นลิง
ก็ขอให้โชคดีนะ “ประเทศไทย” ที่รัก!

เปลว สีเงิน
๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๗

 

Written By
More from plew
เมียตู้ห่าว “ฟอกเงิน” – เปลว สีเงิน
เปลว สีเงิน คดี “ตู้ห่าว” ถึงวันมี “คำพิพากษา” ออกมา คำพิพากษานั้น ไม่ต่างคำพิพากษาสถาบัน “ตำรวจและอัยการ” ดังนั้น พูดได้คำเดียว...
Read More
0 replies on ““ยุบ-ไม่ยุบ” ก้าวไกล? – เปลว สีเงิน”