ในการขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่หน้าที่ของนักสิทธิมนุษยชน (Humanists) แต่เพียงฝ่ายเดียวที่จะผลักดันให้เกิดความเท่าเทียม แต่ยังสำคัญที่การวิเคราะห์นโยบาย (Policy Analysis) ที่มีบทบาทสำคัญนับตั้งแต่การตั้งโจทย์ หาข้อมูล ร่าง และประเมินจนสามารถตราออกมาเป็นข้อบังคับใช้จริง
นับเป็นเวลากว่าทศวรรษที่ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ได้รับความไว้วางใจจาก กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ให้เป็นแกนนำในการวางทิศทางแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตั้งแต่แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2557 – 2561) ถึงฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566 – 2570) ซึ่งได้ประกาศใช้แล้วเมื่อปี พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา
ศาสตราจารย์ ดร.ศรีสมบัติ โชคประจักษ์ชัด อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คือ “เบื้องหลัง” ของผู้ให้กำเนิด “อนาคต” สิทธิมนุษยชนแห่งชาติดังกล่าว ในฐานะ “นักวิเคราะห์นโยบายผู้ทรงคุณวุฒิ” จนสามารถนำทีมทำให้มหาวิทยาลัยมหิดลได้ปรากฏชื่อในประวัติศาสตร์แห่งสิทธิมนุษยชนของไทยในฐานะสถาบันอุดมศึกษาหลักผู้ขับเคลื่อน
จากแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2557 – 2561 ที่มีทั้งหมด 11 ด้าน ปัจจุบันฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566 – 2570) ได้มีการปรับให้เหลือเพียงด้านการเมืองการปกครอง กระบวนการยุติธรรม สาธารณสุข การศึกษา เศรษฐกิจและธุรกิจ และแผนสิทธิมนุษยชนรายกลุ่มเปราะบาง 11 กลุ่ม
ในส่วนที่เกี่ยวข้องตามภารกิจหลักของ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ “สถาบันผู้นำสุขภาวะ” ได้แก่ ด้านสาธารณสุข โดย แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566 – 2570) ได้นำไปสู่การขับเคลื่อนเพื่อการพิจารณาทบทวนถึงสิทธิในการเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่ครอบคลุมทุกกลุ่มในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ ซึ่งครอบคลุมประชาชนจำนวนประมาณ 5 ล้านคน ระบบสุขภาพซึ่งครอบคลุมแรงงานและลูกจ้างในระบบประมาณ 9.8 ล้านคน และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งมีจำนวนประมาณ 47.3 ล้านคน
นอกจากนี้ ยังได้นำไปสู่การพิจารณาให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมในประชากรกลุ่มเปราะบางที่มีปัญหาจิตใจและไร้บ้าน ตลอดจน “บุคคลไร้สถานะ” ที่นับวันจะทวีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ตามสภาพของสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป
ทั้งหมดนี้ ได้ถอดบทเรียนผ่านการรับฟังปัญหา การประชาพิจารณ์ และจัดอบรมสำหรับองค์กรต่างๆ และประชาชนโดยทั่วไป เพื่อต่อยอดสู่การสร้างพลังอันแข็งแกร่งด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อชาติต่อไป