ผักกาดหอม
ทำเป็นเล่นไป…..
“เสี่ยอ้วน ภูมิธรรม” อาจได้รักษาการเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ไปสักระยะก็เป็นได้
ขนาด “ลุงตู่” ยังเคยโดนศาลรัฐธรรมสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่จากคดีถูกร้องดำรงตำแหน่งนายกฯ เกิน ๘ ปี มาแล้ว
ฉะนั้นกรณี นายกฯ เศรษฐา ปรับ ครม. ดันก้น “ทนายถุงขนม พิชิต ชื่นบาน” เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้
ร้ายแรงกว่านั้น อาจซ้ำรอย สมัคร สุนทรเวช หรือไม่ก็ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ศาลรัฐธรรมนูญ สอยตกเก้าอี้นายกรัฐมนตรี
ถูกถอดถอน!
แล้วมีความเป็นไปได้แค่ไหนที่ นายกฯ เศรษฐา จะถูกถอดถอน
ย้อนกลับไปดู กรณี ชิมไปบ่นไปของ “สมัคร”
คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์ ๙ ต่อ ๐ เสียง ให้ “สมัคร” พ้นจากการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะกระทำการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๒๖๗ และมาตรา ๑๘๒ วรรค ๑(๗) เนื่องจากรับเป็นพิธีกรกิตติมศักดิ์ รายการโทรทัศน์ ชิมไปบ่นไป และ ยกโขยง ๖ โมงเช้า
เป็นผลให้คณะรัฐมนตรีทั้งหมดพ้นไปจากตำแหน่งด้วย
ส่วนกรณี “ยิ่งลักษณ์” ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ ถอดถอนนายกรัฐมนตรีจากตำแหน่ง จากกรณีมีส่วนใช้อำนาจแทรกแซงการโยกย้าย “ถวิล เปลี่ยนศรี” จากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ขึ้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
คณะรัฐมนตรีก็ไปทั้งหมด
โดย “นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล” รองนายกฯ ขณะนั้นรักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่
แต่เกิดรัฐประหาร ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เสียก่อน
แม้กรณียิ่งลักษณ์ และสมัคร เป็นความผิดเฉพาะตัว ไม่กระทบชิ่ง แบบ เศรษฐา แต่เมื่อดูคำร้องที่ ๔๐ สว.ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว พูดได้คำเดียวรัฐบาลลุ้นเหนื่อย
กลายเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ในช่วงเวลาไม่น่าจะเกิน ๒ เดือนหลังจากนี้
เป็นอีกครั้งที่พฤษภาคม เป็นเดือนที่การเมืองร้อนฉ่า
เดิมทีช่วงรัฐบาลประยุทธ์ จะมีมหกรรมถล่มรัฐบาลโดยใช้เหตุการณ์เผาเมืองเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๓ เป็นหัวเชื้อ
ปีนี้เหมือนไม่เข้าทาง เพราะตรงกับรัฐบาลเศรษฐา
แดงน้อยใหญ่จึงเก้ๆ กังๆ ตามหาคนผิดมาลงโทษ
แต่หวยยังคงไปออกที่ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น
รำลึกเผาเมืองปีนี้จึงค่อนข้างเงียบเชียบ แม้จะมีนักการเมืองจากพรรคก้าวไกลเดินสายร่วมงานในหลายพื้นที่ก็ตามที
แต่ ๒๓ พฤษภาคม จับตาอย่ากะพริบ!
ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้อง ๔๐ สว.หรือไม่
ถ้ารับคำร้อง ศาลอาจสั่งให้ นายกฯ เศรษฐา หยุดปฏิบัติหน้าที่ก็ได้
หากเป็นเช่นนั้น “อ้วน ภูมิธรรม” จะทำหน้าที่นายกฯแทน
“ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” ประโยคนี้สังคมไทยจริงจังแค่ไหน
ในอดีต “นักโทษชายทักษิณ” รอดเพราะบกพร่องโดยสุจริต
ครั้งนี้ “นักโทษชายทักษิณ” เข้ามาเกี่ยวข้องกับ “ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” เพราะการตั้ง ทนายถุงขนม เป็นรัฐมนตรี ในพรรคเพื่อไทยเองก็รู้ว่า ไม่ใช่ฝีมือของ นายกฯ เศรษฐา
แต่เป็น “นักโทษชายทักษิณ”
คำร้องของ ๔๐ สว. เขียนถึงประเด็นนี้เอาไว้ชัดเจน
“…ด้วยทั้งนี้ตามความจริงแล้ว ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาฉบับลงวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๖๖ ยังไม่ได้วินิจฉัยคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องที่ ๒ (พิชิต ชื่นบาน) ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๖๐ (๔) และ (๕)
ประกอบกับผู้ถูกร้องที่ ๑ (เศรษฐา ทวีสิน) ได้เข้าพบ นายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมี นายพิชิต ชื่นบาน ผู้ถูกร้องที่ ๒ เป็นหัวหน้าทนายความประจำตัวจำนวนไม่น้อยกว่า ๓ ครั้ง ก่อนการเสนอทูลเกล้าฯ แต่งตั้งผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นรัฐมนตรี
จึงเชื่อได้ว่า ผู้ถูกร้องที่ ๑ อาจมีเจตนาไม่สุจริตเรื่องและบิดเบือนข้อเท็จจริงในการให้ข้อมูลแก่สังคมและประชาชน
และประกอบกับการที่ ผู้ถูกร้องที่ ๑ ได้เข้าพบ นายทักษิณ ชินวัตร ดังกล่าวมาข้างต้นไม่น้อยกว่า ๓ ครั้ง โดยมีข้อสังเกต การพบครั้งที่ ๓ ในวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๖๗ ก่อนวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๖๗ จึงอาจเป็นสาเหตุทำให้ผู้ถูกร้องที่ ๑ ต้องการเอื้อประโยชน์ให้แก่นายทักษิณ ชินวัตร และผู้ถูกร้องที่ ๒ หรือไม่
เพราะหลังจากนั้น ผู้ถูกร้องที่ ๑ จึงเสนอทูลเกล้าฯ แต่งตั้งผู้ถูกร้องที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๖๗…”
แม้คำร้องนี้จะไม่มีพยานหลักฐานที่ชัดเจนว่า นายกฯ ได้ทำตามใบสั่งของ “นักโทษ” หรือไม่
แต่เหตุและผลทางการเมืองระหว่าง นายกฯ เศรษฐา กับ ทนายถุงขนม ไม่มีจุดเชื่อมโยงที่นำไปสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
กลับกัน กับ “นักโทษชายทักษิณ” มีความเชื่อมโยงมากว่า ๒ ทศวรรษ
กระนั้นก็ตามศาลอาจไม่ให้น้ำหนักประเด็นนี้มากนัก
แต่คำร้องที่ว่า มีพฤติกรรมที่เข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๗๐ (๔) และ (๕) ประเด็นว่าด้วยขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีพฤติกรรมฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง
จำเป็นต้องวินิจฉัยไปตามตัวบทกฎหมาย
จึงนับเป็นโจทย์ที่จะบอกว่ายากก็ยาก ง่ายก็แสนจะง่าย ที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยประเด็น “ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์”
คำร้อง ๔๐ สว.ได้อ้างถึง มาตรฐานทางจริยธรรมของ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. ๒๕๖๑ ซึ่งบังคับใช้กับ สส. สว. และคณะรัฐมนตรีด้วย
๕ ข้อที่ ๔๐ สว.ยกมาคือ
ข้อ ๗ ต้องถือว่าผลประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าผลประโยชน์ส่วนตน
ข้อ ๘ ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตไม่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบเพื่อตนเองหรือผู้อื่นและมีพฤติการณ์ที่รู้หรือเห็น หรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ
ข้อ ๑๑ ไม่กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ทั้งนี้ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
ข้อ ๑๗ ไม่กระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง
ข้อ ๑๙ ไม่คบหาสมาคมกับคู่กรณีผู้ประพฤติผิดกฎหมาย ผู้มีอิทธิพลหรือผู้มีความประพฤติหรือผู้มีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสียอันอาจกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่
นายกฯ ไปพบ นักโทษที่อยู่ระหว่างการพักโทษ และแสดงอิทธิพลเหนือรัฐบาล อาจจะเข้าทั้ง ๕ ข้อ
ชัดกว่า “ชิมไปบ่นไป” โขทีเดียว