ผักกาดหอม
มีการตั้งคำถามกันเยอะพอควรแล้วครับ
ใคร…ต้องรับผิดชอบต่อการตายของ “บุ้ง ทะลุวัง”
และ “บุ้ง” เสียชีวิตเพราะใคร
แน่นอนว่าแต่ละฝ่ายคิดไม่เหมือนกัน แต่นักเคลื่อนไหวตระกูล “ทะลุวัง” ซึ่งเป้าหมายชัดเจนตามชื่อนั้นมีผู้เห็นต่างมหาศาลเช่นกัน
ประเด็นใครต้องรับผิดชอบ อยู่ที่ใครแสดงความเห็น
สภาพการเมืองไทยไม่ต่าง ๓ ก๊ก ในวันนี้ หลักๆ มุมมองต่อ “บุ้ง” จึงมี ๓ ฝ่าย
ฝ่ายแรกคือฝ่ายที่เห็นด้วยและสนับสนุนการเคลื่อนไหวยกเลิก ม.๑๑๒ ของ “บุ้ง” มีพรรคก้าวไกลเป็นแกนหลัก มีมวลชน ๓ นิ้วเป็นแนวร่วม และด้อมส้ม เป็นฐานใหญ่
ฝ่ายที่สองคือพรรคเพื่อไทย หลังจากแสดงตัวเป็นฝ่ายประชาธิปไตยร่วมกับพรรคก้าวไกลอยู่นาน ท้ายสุดก็แตกคอกัน เพราะ “อำนาจ”
แยกมวลชนที่ทับซ้อนกันชัดเจนยิ่งขึ้น
ส้มกับแดง แยกทางกันเดิน
ฝ่ายสุดท้าย ยังยืนหยัดความคิดไม่เคยเปลี่ยน ต่อต้านระบอบทักษิณ มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
ทั้ง ๓ ฝ่ายนี้ มองการเสียชีวิตในแง่มุมที่แตกต่างกันแทบจะสิ้นเชิง
เช่น “ช่อ-พรรณิการ์ วานิช” แกนนำคณะก้าวหน้า โพสต์ทวิตเตอร์
“…ต้องรอให้มีคนตายก่อนหรือ ถึงจะทำให้สังคมตระหนักว่าคนเห็นต่างไม่สมควรตายหรือติดคุก และสิทธิการประกันตัวเป็นของทุกคน”
“หรือแม้แต่มีคนตายแล้ว ก็จะยังไม่เข้าใจ ไม่รับรู้กันอีก? มีอีกหลายคนยังอยู่ในคุก ไม่ได้ประกัน มีอีก ๓ คนที่อดอาหารประท้วงอยู่ในเรือนจำ ถึงจะเห็นต่างกัน แต่เราเป็นมนุษย์เหมือนกัน พึงรักษาความเป็นมนุษย์กันไว้เถอะนะ RIP บุ้ง…”
และชัดเจนขึ้นกับความเห็นของ “ทิชา ณ นคร” คุณป้าของเด็กๆ ๓ นิ้ว
“..สรุปแถลงการณ์ กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม หลังการตายของบุ้ง ข้อมูลไม่ครบถ้วน ไม่ตรงไปตรงมา บิดเบือน เบลมผู้เสียชีวิต
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงยุติธรรม ลาออกเถอะ …แม้การลาออกของพวกคุณ บุ้งจะไม่ฟื้น แต่การลาออกของพวกคุณคือการแสดงความรับผิดชอบของผู้บริหารระดับสูงที่ต้องเปี่ยมด้วยวุฒิภาวะ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี และจะเป็นแบบอย่างที่งดงามของผู้บริหารระดับสูงในอนาคต
#ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
#สิทธิการประกันตัวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ…”
จะเห็นว่ามุมมองของกลุ่มที่สนับสนุนเด็กๆ “ทะลุวัง” ไม่พูดถึง “การกระทำ” แต่จะเน้นไปที่ผล
ผลจึงออกมาว่า รัฐบาล ข้าราชการ และกระบวนการยุติธรรม เป็นต้นเหตุของการเสียชีวิต ฉะนั้นต้องรับผิดชอบ
แต่ฝั่งสนับสนุนพรรคเพื่อไทย ไม่ได้คิดแบบนั้น
“หมออั้ม-อิราวัต อารีกิจ” มีตำแหน่งเป็นนายแบกพรรคเพื่อไทย ให้ความเห็นผ่านโลกโซเชียลอย่างเผ็ดร้อน
“…อย่าให้เห็น อ้ายอีหน้าไหน ดัดจริตโหนการตายของบุ้ง ทะลุวัง นะฮะ โดยเฉพาะ อ้ายอีพวกที่อุดมการณ์สูงส่ง พวกที่บอกว่าตนเองสู้กว่าใคร..แต่แยกไม่ออกว่าอันไหนหมิ่นประมาท อันไหนวิจารณ์เบื้องสูง..
อ้ายอีที่วันๆ กินแต่เหล้า เที่ยวกลางคืนที่เคยโพสต์สะใจ ตอนคนอื่นเจ็บไข้ได้ป่วยมาก่อน แต่มาดัดจริตตอแหล โพสต์ดิ้นกรณีบุ้งว่าหากใครสะใจ ใครกดหัวเราะ เท่ากับ ปีศาจ
มึงนั่นแหละตัวดีเลย…”
๒ กลุ่มนี้น่าจะเป็นมวยถูกคู่ เพราะรู้ไส้รู้พุง รู้ที่กินเหล้ากันดี
มหกรรมลากไส้หลังจากนี้จึงน่าจะมีขึ้นเรื่อยๆ
เอาเข้าจริงช่วงหลังๆ “บุ้ง” เคลื่อนไหวแบบดุดันไม่เกรงใจใคร บรรดาด้อมส้ม ๓ นิ้ว ด้วยกันเองยังต้องหมอบ
แต่วันนี้ถนนทุกสายต่างมุ่งสู่การโหนศพ “บุ้ง ทะลุวัง”
สุดท้าย…กลุ่มต่อต้านระบอบทักษิณ ไม่เอา ๓ นิ้ว มีไทม์ไลน์ของเรื่องราวที่มากกว่า ๒ กลุ่มแรก
“อัษฎางค์ ยมนาค” ย้อนไปถึงต้นเหตุ ก่อน “บุ้ง” ติดคุก
“…บุ้ง เนติพร ไม่ได้ติดคุกและตายเพราะแสดงความเห็นทางการเมือง
พรรณิการ์ วานิช โพสต์ทวิตเตอร์ว่า “ต้องรอให้มีคนตายก่อนหรือ ถึงจะทำให้สังคมตระหนักว่าคนเห็นต่างไม่สมควรตายหรือติดคุก และสิทธิการประกันตัวเป็นของทุกคน”
อย่างไรก็ตาม ความจริงนั้นแตกต่างออกไป บุ้ง เนติพร ไม่ได้ถูกจำคุกเพราะแสดงออกถึงความขัดแย้งทางการเมือง และเธอได้รับสิทธิในการประกันตัวจากศาลเช่นเดียวกับทุกคน
ย้อนดูไทม์ไลน์ เริ่มต้นบุ้งและพวกร่วมทำกิจกรรมสอบถามประชาชนว่าขบวนเสด็จฯ สร้างความเดือดร้อนรำคาญหรือไม่ ซึ่งศาลตัดสินว่า “เป็นการสื่อความหมายเป็นการโจมตีเรื่องขบวนเสด็จฯ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร และเพื่อให้ประชาชนละเมิดกฎหมายแผ่นดิน”
ทั้งที่ขบวนเสด็จฯ เป็นการถวายความปลอดภัยให้กับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งทุกประเทศทั่วโลกล้วนต้องมีการรักษาความปลอดภัยให้กับขบวนของประมุขหรือบุคคลสำคัญของชาติ”
ซึ่งศาลอนุญาตให้ได้รับประกันตัว ทั้งนี้ศาลได้กำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวด้วยการห้ามทำกิจกรรมในลักษณะเดียวกับที่ถูกดำเนินคดี อันอาจก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์, ห้ามปลุกปั่น ยั่วยุ หรือชักชวนให้มีการเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุม หรือเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง
จากเหตุการณ์ต้นเรื่องดังกล่าวทำให้บุ้งถูกจำคุก ๒ ครั้ง เนื่องจากหลังจากได้รับการประกันตัวแล้วยังละเมิดเงื่อนไขการปล่อยตัวด้วยการทำผิดซ้ำ
ดังนั้น ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้คือ เธอไม่ได้ติดคุกเพราะแสดงความเห็นต่างทางการเมือง และหลังจากถูกดำเนินคดี เธอได้รับสิทธิการประกันตัวเหมือนทุกคน
กฎหมายมาตรา ๑๑๒ ไม่ได้เป็นกฎหมายลิดรอนสิทธิของประชาชนและไม่ใช่กฎหมายที่ห้ามแสดงความเห็นทางการเมือง แต่เป็นกฎหมายคุ้มครองประมุขแห่งรัฐ ซึ่งทุกประเทศในโลก ไม่ว่าจะมีประมุขเป็นพระมหากษัตริย์หรือประธานาธิบดี ก็มีกฎหมายคุ้มครองประมุขแห่งรัฐเช่นกัน
ถ้าคุณเป็นนักการเมือง นักการทูตหรือสื่อมวลชนที่สนับสนุนการกระทำของเนติพรและคนกลุ่มนี้ ย่อมหมายความว่า คุณมีความเห็นว่ากฎหมายคุ้มครองประมุขแห่งรัฐของประเทศของคุณลิดรอนสิทธิของประชาชนและเป็นกฎหมายที่มีไว้ปิดปากผู้ที่ต้องการแสดงความเห็นทางการเมือง และคุณไม่เห็นด้วยที่ประเทศของคุณมีกฎหมายคุ้มครองประมุขแห่งรัฐของประเทศของคุณด้วยใช่หรือไม่…”
ครบถ้วนกว่าเหตุผลของ แดง-ส้ม
“บุ้ง” เคยนอนคุก เคยได้ประกันตัว และกลับเข้าคุกอีก เพราะทำผิดเงื่อนไขได้ประกันตัว
ต่อให้ “บุ้ง” ได้ประกันตัวไปก่อนเสียชีวิต ก็มีแนวโน้มทำผิดเงื่อนไขประกันตัวซ้ำอีก เพราะบุคลิกการเคลื่อนไหวที่ดุดันไม่เกรงใจใครนั่นเอง
ฉะนั้นหากจะพูดเรื่อง “บุ้ง” จำต้องว่ากันให้ครบถ้วน อย่าตัดตอนเอาเฉพาะตอนที่ “บุ้ง” อยู่ในคุกอดอาหารประท้วง และเสียชีวิต
แล้วใครกันแน่ที่ต้องรับผิดชอบในการตายของ “บุ้ง”
“ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร” อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เฉลยให้หายสงสัย
“…ผู้ที่ให้การสนับสนุน-อยู่เบื้องหลังเยาวชนที่ออกมาประท้วงด้วยอาการและอารมณ์ที่รุนแรง คือ ผู้ที่มีจิตใจอำมหิตมาก เพราะพวกเขาใช้อนาคตและชีวิตของเยาวชนเป็นเครื่องมือไปสู่สิ่งที่พวกเขาต้องการ โดยพวกเขาเท่านั้นคือผู้ได้ประโยชน์ที่แท้จริง
“…การแก้กฎหมายมาตรา ๑๑๒ เพื่อช่วยเยาวชนผู้ต้องหาเป็นการแก้ปลายเหตุ ต้องแก้ที่ต้นเหตุ-ผู้ให้ข้อมูลบิดเบือน…”
คนพวกนี้เป็นใคร?
ก็พวกที่ยกแก๊งไปฝรั่งเศส กลับไปเดินตามรอย “ปรีดี”
ถอยหลังไปเริ่มที่ปี ๒๔๗๕ อีกครั้งนั่นเอง