ประชาธิปไตยแบบไทยๆ-ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

นักการเมืองคนไหนที่บอกว่า “รวยพอแล้ว” อย่าไปเชื่อ

เพราะถ้าพอจะไม่แสวงอำนาจการเมือง

ฉะนั้นอำนาจก็เช่นกัน นักการเมืองคนไหนที่บอกว่า “ไม่อยากมีอำนาจ” ชี้หน้าด่าได้เลยครับว่า โกหก ปลิ้นปล้อน

เกือบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ นักการเมืองส่วนใหญ่ต้องการอำนาจและบารมี เพื่อสร้างความร่ำรวยให้มากกว่าเดิม

ที่น่ารังเกียจที่สุดคือ นักการเมืองมักอ้างว่าได้อำนาจจากประชาชนที่หย่อนบัตรเลือกตั้ง และเป็นตัวแทนของประชาชนในการใช้อำนาจ

ตามระบอบประชาธิปไตย

แต่ในทางปฏิบัติ สิทธิในอำนาจของประชาชนขาดไปตั้งแต่วันหย่อนบัตร อำนาจไปตกอยู่ที่นักการเมืองฝ่ายเดียวเท่านั้น

ปัจจุบันสิ่งนี้ยังดำเนินอยู่

มีข่าวปรับคณะรัฐมนตรีลากยาวมาร่วมเดือนแล้ว ได้เห็นถึงความกระสันอยากได้อำนาจ กลัวจะสูญเสียอำนาจ

ระคนกันไป!

เกิดปรากฏการณ์อยากมีอำนาจแบบไม่รู้จักพอ จะต่อยอดอำนาจไปเรื่อยๆ ก็คงจะเป็นกรณี พรรคเพื่อไทย ทวงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรมาอยู่ในมือตัวเอง ไปพร้อมๆ กับการปรับคณะรัฐมนตรี โดยใช้วิธียื่นหมูยื่นแมว เอาเก้าอี้รัฐมนตรีมาแลกกับพรรคประชาชาติ

เห็นประธานสภาผู้แทนฯ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ให้สัมภาษณ์แล้ว พอคาดเดาได้ว่าแผนการของพรรคเพื่อไทยไม่น่าจะราบรื่นนัก

“…ในส่วนตัวของผม ไม่เคยติดยึดกับตำแหน่งใดๆ

ถ้าทำได้เพื่อประโยชน์ของประชาชน ผมก็ต้องทำเต็มที่ แต่ถ้าทำไม่ได้ หรือไม่สามารถทำได้ ผมก็ไม่ติดยึด พร้อมที่จะไป

แต่ผมขอเรียนว่าตำแหน่งประธานสภาฯ เป็นตำแหน่งที่มีเกียรติ เป็นเสาหลักประชาธิปไตย ต้องทำหน้าที่เป็นกลาง ไม่สามารถมีใครมาแทรกแซงได้

นอกจากนี้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน กำหนดชัดเจน ประธานและรองประธานสภาฯ ต้องไม่เป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองใดๆ เพื่อไม่ให้เกิดความผูกพัน หรือมีการแทรกแซงจากพรรคการเมือง

ยืนยันอีกครั้งว่าการปรับ ครม.เป็นเรื่องของนายกฯ แต่ตำแหน่งประธานสภาฯ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับฯ ผมไม่มีอะไรส่วนตัว แต่เกียรติศักดิ์ศรีสภาฯ ผมในฐานะประมุขฝ่ายนิติบัญญัติต้องรักษาไว้…”

“…มันไม่มีเหตุใดๆ ที่จะต้องเปลี่ยนตำแหน่ง ถ้าปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ก็ต้องไปเอง ผมถือว่าต้องให้ประโยชน์ประชาชน เกียรติศักดิ์ศรีสภาฯ เดินไปให้ตรงแนวทาง จะมาบิดๆเบี้ยวๆ เพื่ออย่างใดอย่างหนึ่งผมว่าไม่ถูก

ถ้าถามว่าให้ประเมินว่าผมยังทำหน้าที่ได้หรือไม่ ผมประเมินเองไม่ได้ สื่อและประชาชนจะเป็นคนประเมิน…”

ก็อย่างที่ประธานวันนอร์บอก เก้าอี้ประธานสภา มาและไป ตามรัฐธรรมนูญ

หลักๆ มีอยู่ ๒ มาตราดังนี้

มาตรา ๑๑๗ ประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรดำรงตำแหน่งจนสิ้นอายุของสภาผู้แทนราษฎรหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร

มาตรา ๑๑๘ ประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานและรองประธานวุฒิสภาย่อมพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระเมื่อ

(๑) ขาดจากสมาชิกภาพแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก

(๒) ลาออกจากตำแหน่ง

(๓) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือข้าราชการการเมืองอื่น

(๔) ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่เป็นกรณีที่คดียังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษหรือความผิดฐานหมิ่นประมาท

ฉะนั้นเมื่อพิจารณาตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ และคำพูดของประธานวันนอร์แล้วไม่ง่ายที่จะมีการเปลี่ยนตัวประธานสภาผู้แทนราษฎร

ย้อนกลับไปตำแหน่งนี้เหมือน “ส้มหล่น” ใส่พรรคประชาชาติ ที่มี สส.เพียง ๙ คน

นั่นคือความไม่ปกติทางการเมือง เป็นผลมาจากการจัดสรรอำนาจก่อนตั้งรัฐบาลระหว่างพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทยที่ไม่ตัว

ต่างฝ่ายต่างซ่อนมีดไว้ข้างหลัง เพียงแต่พรรคเพื่อไทยมีประสบการณ์ทางการเมืองมากกว่า เล่ห์เหลี่ยมแพรวพราวกว่า

จึงสามารถแย่งชิงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกลมาได้ แต่เอาไปฝากไว้ที่พรรคประชาชาติ

ย้อนกลับไปเดือนกรกฎาคม ปีที่แล้ว พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย แถลงข้อตกลงร่วมกัน โดย “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” บอกว่าทั้ง ๒ พรรคมีข้อตกลงร่วมกันเสนอชื่อ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” หัวหน้าพรรคประชาชาติ นั่งตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร

ส่วนตำแหน่งรองประธานสภา คนที่ ๑ เป็นโควตาของพรรคก้าวไกล และรองประธานสภา คนที่ ๒ เป็น สส.จากเพื่อไทย

ในคำแถลงนั้น “พิธา” ยังระบุว่า

“…ก้าวไกลและเพื่อไทย ยังมีข้อตกลงร่วมกันว่า บุคคลที่ดำรงตำแหน่งประธานสภาและรองประธานสภาจะ พร้อมผลักดันวาระต่างๆ ที่ทำให้รัฐสภาไทยก้าวหน้า โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีประสิทธิภาพ และเป็นของประชาชน…”

การแถลงเป็นไปตามเอ็มโอยู ๘ พรรค เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพในการจัดตั้งรัฐบาล เสนอและสนับสนุน “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เป็นนายกรัฐมนตรี อย่างสุดความสามารถ

แต่เบื้องหลังพรรคเพื่อไทยรู้ดีอยู่แล้วว่า “พิธา” ไม่มีทางได้เป็นนายกฯ เพราะเสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภาไม่พอ จากการกระทำของพรรคก้าวไกลเองที่ยืนกรานว่าต้องแก้ ม.๑๑๒ ให้ได้

พรรคเพื่อไทยใช้เงื่อนไขนี้เล่นเกมตามที่ตัวเองถนัด เพียงแต่จะประเจิดประเจ้อเกินไปถ้าต้องการเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎรมาครอบครองเสียเองตั้งแต่ตอนนั้น

จึงฝากไว้ที่พรรคประชาชาติไปพลางก่อน

วันนี้ได้เวลาทวงคืน

ทว่าพรรคประชาชาติไม่ได้คิดแบบนั้น แม้จะรู้แต่แรกว่า ตำแหน่งนี้ควรเป็นของพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ไม่ใช่พรรค ๙ เสียง

แต่ก็ไม่แน่หาก พรรคเพื่อไทยใช้ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการเกรดเอเข้าล่อ

ตำแหน่งประธานสภาฯ มาพร้อมกับเกียรติยศ

ต่างกับตำแหน่งรัฐมนตรี มีผลประโยชน์มหาศาลพ่วงมาด้วย

๙ เสียงพรรคประชาชาติขณะนี้ จึงมีพลังต่อรองมากพอๆ กับพรรค ๓๐-๔๐ เสียงเลยทีเดียว

นี่แหละครับที่เขาเรียกว่า ประชาธิปไตยแบบไทยๆ

Written By
More from pp
“เจ้าสัว” เปิดโรงงานให้ อย. เยี่ยมชม ตอกย้ำความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ได้มาตรฐาน
บริษัท เตียหงี่เฮียง (เจ้าสัว) จำกัด เปิดโรงงานต้อนรับเจ้าหน้าที่จากกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ตามคำเชิญของบริษัท
Read More
0 replies on “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ-ผักกาดหอม”