สมาชิกสหกรณ์ผู้เลี้ยงผึ้งเมืองแพร่กู้เงินกพส.ลงทุนประกอบอาชีพ สหกรณ์ดูแลจัดหาวัสดุและช่องทางตลาดทำให้สมาชิกมีรายได้มั่นคงลดปัญหาหนี้ค้างชำระ

“น้ำผึ้งเดือน 5” ได้ชื่อว่าเป็นน้ำผึ้งที่อัดแน่นด้วยสรรพคุณ เป็นเดือนที่อยู่ในช่วงฤดูร้อน ดอกไม้ พืชพันธุ์ในป่ากำลังงอกงาม ทำให้ผึ้งสามารถเก็บน้ำหวานและเกสรดอกไม้ได้หลากหลายพันธุ์

ยิ่งช่วงเดือน 5 หน้าร้อนมีความชื้นน้อย น้ำผึ้ง จึงมีความเข้มข้นสูง เปี่ยมไปด้วยคุณภาพ ปลายกุมภาพันธ์ถึงเมษายนทุกปี เป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับเก็บเกี่ยวผลผลิตน้ำผึ้งและสร้างายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งทั่วไทย

นายพิภพ คำอ้ายด้วง ที่ปรึกษาสหกรณ์ผู้เลี้ยงผึ้งจังหวัดแพร่ จำกัดและเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้ง ที่สร้างผลิตภัณฑ์น้ำผึ้ง ภายใต้แบรนด์”บ้านผึ้งฟาร์ม” โดยปัจจุบันมีผึ้งที่เลี้ยงอยู่จำนวน 1,200 รัง ถือว่าเป็นมีจำนวนรังมากที่สุดในบรรดาสมาชิกสหกรณ์ผู้เลี้ยงผึ้งด้วยกัน โดยส่วนใหญ่เฉลี่ยอยู่ที่ 500-700 รัง

“ผมเลี้ยงผึ้งมา 20 กว่าปีแล้ว ตอนนี้เลี้ยงอยู่ประมาณมาณ 1,200 รัง มากที่สุดเมื่อเทียบกับสมาชิกคนอื่น ๆ ผึ้งที่นำมาเลี้ยงครั้งแรกเป็นสายพันธุ์ของศูนย์ผึ้งกรมส่งเสริมการเกษตรแล้วต่อยอดกันมามีพันธุ์ไต้หวันบ้าง”

นายพิภพเผยต่อว่าผึ้งใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 9 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคนจนถึงมกราคม จากนั้นเดือนกุมภาพันธ์ก็เริ่มทยอยเก็บน้ำผึ้งไปจนถึงเมษายนของทุกปี ซึ่งน้ำผึ้งช่วงนี้ถือเป็นว่าเป็นน้ำผึ้งมีคุณภาพ มีความเข้มข้นสูง จากนั้นก็จำหน่ายให้กับพ่อค้าส่งออกที่มารับซื้อถึงหน้าฟาร์ม ส่วนหนึ่งก็จะนำมาแปรรูปเป็นน้ำผึ้งบรรจุขวด แต่ละปีเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 9,000-10,000 ขวด สนนในราคาขวดละ 100-120 บาท ภายใต้แบรนด์ ”บ้านผึ้งฟาร์ม” ส่วนของสหกรณ์ฯก็มีชื่อแบรนด์ น้ำผึ้งวังธง ซึ่งเป็นที่ตำบลที่ตั้งสหกรณ์ผู้เลี้ยงผึ้งจังหวัดแพร่ จำกัด ในต.วังธง อ.เมือง จ.แพร่

“เรื่องการตลาด ถ้าสมาชิกรายใหญ่ ๆ ก็จะขายกับพ่อค้าโดยตรง ส่วนรายเล็กรายน้อยก็จะขายให้กับสหกรณ์ อย่างของผมจะขายตรงกับพ่อค้าส่งออกไปไต้หวัน รายนี้ซื้อขายกันมาเกือบ 20 ปีแล้ว”เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งคนเดิมเผย

เขายอมรับว่าเกษตรกรเลี้ยงผึ้งจะทำได้แค่อาชีพเดียว จะทำอาชีพเสริมรายได้อื่นค่อนข้างยาก เนื่องจากต้องโยกย้ายเดินทางไปตามที่ต่าง ๆ ที่มีไม้ผลกำลังออกดอก อย่างเช่นช่วงมกราคมถึงกุมภาพันธ์ ลำไยเชียงใหม่ ลำพูนกำลังออกดอก ผู้เลี้ยงผึ้งจำเป็นต้องย้ายรังผึ้งไปที่นั่นเพราะเป็นช่วงที่ลำไยออกดอกพอดี ซึ่งจะต่างจากอาชีพเกษตรอื่น ๆ เช่น ปลูกพืชผัก ทำสวนผลไม้หรือทำปศุสัตว์ เลี้ยงวัว เลี้ยงควายที่ต้องอาศัยอยู่กับบ้านตลอดไม่ต้องโยกย้ายไปไหน และการเดินทางโยกย้ายแต่ละครั้งก็มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นที่เป็นต้นทุนการผลิต

“ตอนนี้ซื้อขายกันอยู่ที่100-120 บาทต่อกิโล ถ้าราคาไม่ต่ำกว่า100 บาท ผู้เลี้ยงผึ้งอยู่ได้ ส่วนสหกรณ์ก็จะเข้ามาช่วยในเรื่องหาวัสดุอุปกรณ์เกี่ยวกับการเลี้ยงผึ้ง หาแหล่งทุนให้สมาชิกกู้ยืม รวมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้แก่สมาชิก โดยมีสำนักงานสหกรณ์จังหวัดแพร่คอยเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำ ส่วนน้ำตาลอาหารผึ้งที่มีราคาสูงขึ้นนั้นย่อมมีผลกระทบในเรื่องต้นทุนกับผู้เลี้ยงผึ้ง ทางสหกรณ์ฯก็จะช่วยเจรจาซื้อน้ำตาลทรายจากโรงงานโดยตรงมาขายต่อให้กับสมาชิกในราคาต้นทุน ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งได้ในระดับหนึ่ง”ที่ปรึกษาสหกรณ์ผู้เลี้ยงผึ้งจังหวัดแพร่ จำกัดกล่าว

ขณะที่นายสุรสิทธิ์ ใจตา ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมพัฒนาบริหารการจัดการสหกรณ์ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดแพร่ กล่าวถึงภาพรวมของการแก้ไขปัญหาหนี้คงค้างของสหกรณ์ในจังหวัดแพร่ โดยเป้าหมายในปี 2567 มีทั้งหมด 13 แห่ง แบ่งเป็นสหกรณ์จำนวน 5 แห่งและกลุ่มเกษตรกรอีก 8 แห่ง โดยมียอดหนี้คงค้างรวม 2.6 ล้านบาท ทางสำนักงานสหกรณ์จังหวัดแพร่จึงเข้าไปแนะนำให้สหกรณ์ต่าง ๆ ดำเนินโครงการติดตามเร่งรัดหนี้ โดยมีตัวชี้วัดใหม่เป็นการมีเงินออมเพิ่มขึ้น 3 % พร้อมส่งเสริมพัฒนาอาชีพแก่สมาชิก ด้วยการปลูกมะเขือพวง ถั่วดำ เนื่องจากสมาชิกสหกรณ์ส่วนใหญ่มีอาชีพทำไร่ทำนาหรือทำเกษตรผสมผสานอยู่แล้ว
“สหกรณ์ผู้เลี้ยงผึ้งในจังหวัดแพร่มีแห่งเดียว ที่เราคุยกับปีที่แล้ว(2566)มีหนี้คงค้างอยู่ 1.5 ล้านบาท จากการกู้เงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์เพื่อซื้อน้ำตาลเพื่อเป็นอาหารผึ้งให้กับสมาชิก ตอนนี้ชำระไปแล้ว 6.8 แสนบาท ถือเป็นตัวอย่างสหกรณ์ที่ดี เพราะสมาชิกมีรายได้จากการประกอบอาชีพที่มั่นคง ส่งผลให้การชำระหนี้อยู่ในเกณฑ์ดี” ผอ.สุรสิทธิ์ ย้ำทิ้งท้าย

Written By
More from pp
นิตยสารแพรวชวนเหล่าครีเอเตอร์ร่วมโปรเจ็กต์ “Praew Club on the Beach”
โอกาสดีที่ไม่ควรพลาด!!!! นิตยสารแพรว โดยอมรินทร์ กรุ๊ป เปิดโอกาสให้คุณได้เป็นแพรวเฟรนด์ เพียงสมัครเข้าร่วมโปรเจ็กต์ Praew Club on the Beach
Read More
0 replies on “สมาชิกสหกรณ์ผู้เลี้ยงผึ้งเมืองแพร่กู้เงินกพส.ลงทุนประกอบอาชีพ สหกรณ์ดูแลจัดหาวัสดุและช่องทางตลาดทำให้สมาชิกมีรายได้มั่นคงลดปัญหาหนี้ค้างชำระ”