สัตวแพทย์ ม.มหิดล ย้ำอุตสาหกรรมการผลิตไก่เนื้อของไทยมาตรฐานสากล ต่อยอดสู่นวัตกรรมอาหารมาตรฐานอวกาศ ตอกย้ำถึงคุณภาพเนื้อไก่ไทยมีความปลอดภัยสูงสุด เป็นหลักประกันความปลอดภัยและความมั่นคงด้านอาหารให้กับผู้บริโภคทั่วโลก
ดร.สัตวแพทย์หญิงระพีวรรณ ธรรมไพศาล ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เนื้อไก่ เป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพดี ดีต่อสุขภาพ ราคาย่อมเยา เข้าถึงได้ง่าย สามารถรับประทานได้ ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกเชื้อชาติศาสนา สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตไก่เนื้อของไทยมีการพัฒนาอยู่อย่างต่อเนื่องไม่หยุดอยู่กับที่ ซึ่งเนื้อไก่เป็นที่ต้องการสูง เป็นอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตต่อเนื่อง
ประเทศไทยมีการส่งออกเนื้อไก่เป็นอันดับ 4 ของโลก ติดอันดับ 1 ใน 5 มาโดยตลอด โดยประเทศคู่ค้าสำคัญหลักของไทย ประกอบด้วย ประเทศญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และล่าสุด คือ ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งประเทศเหล่านี้มีมาตรฐานสูง และมีการปรับปรุงมาตรฐาน ระเบียบ และข้อบังคับเพิ่มเติมอยู่ตลอด ซึ่งมีรายละเอียดแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ใช้มาตรฐาน GLOBALG.A.P. ส่วนฝั่งสหภาพยุโรป ใช้มาตรฐาน Genesis GAP ครอบคลุมตั้งแต่การจัดการ การป้องกันโรค และเลี้ยงไก่ตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งประเทศไทยสามารถผ่านการตรวจสอบและได้รับการรับรองมาตรฐานเหล่านี้ ยืนยันได้ว่ามาตรฐานการผลิตไก่ไทยอยู่ในระดับสากล
นอกจากนี้ ไก่ไทยถูกยกระดับไปสู่มาตรฐานระดับอวกาศ เพราะมีโครงการที่จะส่งเนื้อไก่ของไทยไปเป็นอาหารสำหรับนักบินอวกาศ เป็นการตอกย้ำถึงมาตรฐานเนื้อไก่ไทยเป็นที่ยอมรับ อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคสามารถมั่นใจได้ว่า มาตรฐานการผลิตไก่เนื้อของไทย ทั้งเพื่อการส่งออกและการบริโภคภายในประเทศ เป็นมาตรฐานการผลิตเดียวกัน (Single Standard) มีการควบคุมมาตรฐานตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เริ่มจากการผลิตอาหารสัตว์ ฟาร์มที่เลี้ยง ไปจนถึงโรงชำแหละและโรงแปรรูป
สำหรับอุตสาหกรรมสัตว์ปีกของไทยใช้มาตรฐานการเลี้ยงภายใต้หลักปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) เป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ผลิตไก่ ให้มีการเลี้ยงที่ดี ปราศจากโรค มีมาตรฐานฟาร์มที่ควบคุมดูแล มีตั้งแต่เรื่องตำแหน่งที่ตั้งฟาร์ม การจัดการ การเลี้ยง สวัสดิภาพสัตว์ และการควบคุมโรค ตลอดจนมีการบันทึกข้อมูล เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ หากเกิดปัญหาขึ้น
ด้านระบบป้องกันโรค โดยเฉพาะโรคไข้หวัดนก หลังจากเกิดการระบาดในไทยเมื่อหลายปีก่อน ทำให้ประเทศไทยปรับปรุงระบบการเลี้ยงมาเป็นระบบปิดเกือบทั้งหมด และมีการนำระบบป้องกันโรค หรือ ระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) มาใช้ ซึ่งมีความเข้มงวดสูง โดยมีมาตรการเรื่องคนเข้าออก เรื่องการป้องกันโรคจากสัตว์พาหะต่างๆ สามารถป้องกันโรคไม่ให้เข้าสู่โรงเรือนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีการนำระบบคอมพาร์ทเมนต์มาใช้ในการควบคุมมาตรฐานของฟาร์มในกลุ่มเดียวกัน มีการเฝ้าระวังเชิงรุกโรคที่สำคัญ เช่น โรคไข้หวัดนก โรคนิวคาสเซิล ซัลโมเนลลา และก่อนการส่งไก่เข้าโรงชำแหละต้องผ่านโปรแกรมตรวจโรคต่างๆ ที่อาจจะมีผลกับมนุษย์ เช่น เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย และมีการเก็บตัวอย่างเนื้อไก่ ส่งตรวจหาสารตกค้าง ทำให้อุตสาหกรรมไก่ไทยสามารถป้องกันโรคเหล่านี้ได้ อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถส่งออกเนื้อไก่ได้จนถึงปัจจุบัน
ดร.สพ.ญ.ระพีวรรณ แนะนำการเลือกซื้อเนื้อไก่ ให้สังเกตลักษณะภายนอก มีความสดใหม่ สีขาวอมชมพู ไม่มีสีคล้ำ ผิวหนังเป็นมัน ไม่มีรอยช้ำเลือดหรือจ้ำเลือด โดยเฉพาะบริเวณของปีกหรือใต้ปีก ไม่มีลักษณะของเหลวเป็นเมือก ไม่มีกลิ่นเหม็น และเลือกซื้อจากผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายที่น่าเชื่อถือ หากเลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ ให้ดูวันผลิตและวันหมดอายุ มีมาตรฐานระบุชัดเจน สังเกตตราสัญลักษณ์รับรองมาตรฐานว่าผ่านเกณฑ์อาหารปลอดภัย เช่น ตราสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” จากกรมปศุสัตว์ หรือเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร (เครื่องหมาย Q) ก็สามารถเชื่อมั่นได้ว่าผ่านกระบวนการตามมาตรฐานที่ถูกต้องปลอดเชื้อ ปลอดภัย ตรวจสอบย้อนกลับได้
ก่อนรับประทานต้องปรุงเนื้อไก่ให้สุก ด้วยอุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส 1 นาที หรือ 60 องศาเซลเซียส 4-5 นาที เพื่อทำลายเชื้อแบคทีเรียและเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค โดยสังเกตเนื้อไก่สุกจะเปลี่ยนสีเป็นสีขาว ส่วนที่ควรระวัง คือความสะอาดของ มือ เขียง มีด และอุปกรณ์ประกอบอาหาร พร้อมแนะแยกอุปกรณ์ระหว่างอาหารสุกและดิบ เพื่อความปลอดภัย