โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) ภัยร้ายใกล้ตัว ติดเชื้อถึงตาย แต่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน

โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) เป็นโรคติดเชื้อของระบบประสาทส่วนกลาง พบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และยังติดต่อมาสู่มนุษย์ พาหะนำโรคที่สำคัญที่สุด คือ สุนัข 95 % รองลงมาคือ แมว 4 % สัตว์เลี้ยงพวกโค กระบือ สุกร ม้า และสัตว์ป่าที่เลี้ยงลูกด้วยนมราว 1 % ซึ่งบทความให้ความรู้โดย นพ.ปรเมศวร์ วงศ์ประเสริฐ กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านทารกแรกเกิดและปริกำเนิด ศูนย์สุขภาพเด็ก (Children’s Health Center) โรงพยาบาลนวเวช ได้อธิบายให้ความรู้เกี่ยวกับอาการ การปฎิบัติตัวเมื่อถูกสัตว์กัด และการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เพื่อจะได้สังเกตตนเองและคนรอบข้าง สามารถนำไปสู่กระบวนการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมได้อย่างทันท่วงที

อาการของโรคพิษสุนัขบ้า

หลังได้รับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าผู้ป่วยจะแสดงอาการโดยเฉลี่ยประมาณ 3 สัปดาห์ – 3 เดือน ในบางรายอาจใช้เวลานานหลายปีกว่าจะมีอาการแสดงก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นกับตำแหน่งที่ถูกกัด ขนาด จำนวนและความลึกของบาดแผล รวมถึงภูมิต้านทานของคนที่ถูกสัตว์กัด

ผู้ป่วยจะมีอาการของโรคพิษสุนัขบ้าเป็น 3 ระยะ ดังนี้

  • ระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยจะมีอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง เช่น ไข้ เจ็บคอ ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามตัว หนาวสั่น คลื่นไส้อาเจียน กระวนกระวายนอนไม่หลับ ในบางรายอาจมีอาการ เจ็บ คล้ายเข็มทิ่ม หรือคันบริเวณที่ถูกกัด ซึ่งเป็นลักษณะที่จำเพาะของโรคระยะนี้มีเวลาประมาณ 2-10 วัน
  • ระยะที่มีอาการทางสมอง ผู้ป่วยจะมีอาการสับสน วุ่นวาย กระสับกระส่าย อยู่ไม่นิ่ง กลืนลำบาก รวมถึงกลัวน้ำ อาการจะเป็นมากขึ้นหากมีเสียงดัง หรือถูกสัมผัสเนื้อตัว จากนั้นผู้ป่วยอาจมีอาการชักและเป็นอัมพาต ระยะนี้มีอาการประมาณ 2-7 วัน
  • ระยะท้าย ผู้ป่วยอาจมีภาวะหายใจล้มเหลว หัวใจหยุดเต้น โคม่า และเสียชีวิตในเวลาอันสั้น

การปฏิบัติตัวเมื่อถูกสัตว์กัด

  • ล้างแผลให้เร็วที่สุดด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง นานอย่างน้อย 15 นาที ล้างทุกแผล และล้างให้ลึกถึงก้นแผล ใช้ยาฆ่าเชื้อ เช่น โพวิโดนไอโอดีน บริเวณแผล
  • สังเกตอาการสัตว์ที่กัด รวมทั้งสืบหาเจ้าของ เพื่อสอบถามประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า สังเกตอาการสัตว์ที่กัดเป็นเวลา 7 วัน ถ้าสบายดีไม่น่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้า แต่ถ้าสุนัขตายให้นําซากไปตรวจ
  • พบแพทย์พร้อมนำสมุดวัคซีนหรือประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและบาดทะยักไปด้วย ถ้ามีความเสี่ยงต่อโรคพิษสุนัขบ้า แพทย์จะให้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า รวมถึงวัคซีนป้องกันบาดทะยัก และยาฆ่าเชื้อ
  • ในกรณีที่มีโอกาสติดโรคพิษสุนัขบ้าสูง หรือแผลอยู่ในตำแหน่งใกล้ศีรษะ แพทย์จะพิจารณาให้อิมมูโนโกลบุลิน ซึ่งมีภูมิต้านทานโรคพิษสุนัขบ้าร่วมด้วย โดยวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจะฉีดประมาณ 3-5 ครั้ง วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามีประสิทธิภาพสูง หากไปรับการฉีดตรงตามแพทย์นัดทุกครั้ง

การป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

เนื่องจากโรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคที่ไม่มียาที่ใช้ในการรักษา และถ้าติดเชื้อจะเสียชีวิตเกือบทุกราย ดังนั้นการป้องกันไม่ให้เกิดโรค จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งโดยมีแนวทางในการป้องกัน ดังนี้

  • พาสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าตามกำหนดทุกปี
  • ไม่ปล่อยสัตว์เลี้ยงไปในที่สาธารณะ
  • หลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกสัตว์กัดโดยไม่แหย่ หรือรังแกให้สัตว์โมโห รวมทั้งไม่ยุ่งหรือเข้าใกล้สัตว์ที่ไม่รู้จักหรือไม่มีเจ้าของ
  • ถ้าโดนสัตว์กัดหรือมีแผลรีบล้างแผลแล้วไปพบแพทย์เพื่อดูแลให้ถูกต้องต่อไป

ทั้งนี้โรคนี้เกิดจากเชื้อ Rabies virus ซึ่งเป็น RNA virus การติดเชื้อที่สำคัญ คือการถูกสัตว์กัด ข่วน เลีย หรือน้ำลายสัตว์กระเด็นเข้าแผลรอยขีดข่วน เยื่อบุตา จมูก ปาก นอกจากนี้การชำแหละซากสัตว์หรือรับประทานผลิตภัณฑ์ดิบจากสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าก็สามารถติดโรคได้เช่นกัน ดังนั้นหากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามรายละเอียดและขอรับคำปรึกษาได้ที่ ศูนย์สุขภาพเด็ก (Children’s Health Center) โรงพยาบาลนวเวช โทร. 1507 Line: @navavej

Written By
More from pp
ลุงตู่ ขอบคุณคนไทยร่วมมือกัน จนตัวเลขการแพร่ระบาดเป็น 0
นายกรัฐมนตรีพอใจตัวเลขการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยเป็นศูนย์ ขอบคุณทุกคนที่ร่วมมือกัน ขอให้ทุกคนมีวินัยปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดฯ อย่างเคร่งครัดต่อไป
Read More
0 replies on “โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) ภัยร้ายใกล้ตัว ติดเชื้อถึงตาย แต่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน”