เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2567 เวลา 13.30 น. ณ ห้องสีฟ้า ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นางกีต้า ซับบระวาล (Mrs. Gita Sabharwal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติ (United Nations Resident Coordinator) ประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ แพทย์หญิง พักตร์พิไล ทวีสิน ภริยานายกรัฐมนตรี โดยสรุปสาระสำคัญของการหารือ ดังนี้
พญ. พักตร์พิไล กล่าวต้อนรับผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย และคณะผู้แทนทีมงานสหประชาชาติ (UN Country Team: UNCT) ประจำประเทศไทย ชื่นชมการดำเนินงานของ UNCT ในไทย ทั้ง 21 หน่วยงาน ซึ่งมีส่วนสนับสนุนการพัฒนาและการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของไทย โดยฝ่ายไทยพร้อมมีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน และดำเนินงานร่วมกับ UNCT ในไทยอย่างเต็มที่ เพื่อดูแลประชากรกลุ่มต่าง ๆ อย่างครอบคลุม
ด้านนางกีต้า ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้พบหารือกับ พญ. พักตร์พิไล ในวันนี้ ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่จะได้แนะนำ UNCT ในไทย ทั้ง 21 หน่วยงาน และเป็นโอกาสในการหารือแนวทางการดำเนินงานร่วมกันเพื่อผลักดันประเด็นสำคัญด้านสตรี เด็ก และสังคมผู้สูงวัย ในไทย พร้อมทั้งชื่นชมความสำเร็จของไทยในช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะความสำเร็จของทีมสาธารณสุข ตลอดจนต้องการดำเนินงานร่วมกับ พญ. พักตร์พิไล ในสาขาอื่น ๆ เพิ่มเติม ที่ พญ. พักตร์พิไล เชี่ยวชาญด้วย
โอกาสนี้ คณะผู้แทน UNCT ในไทยได้แนะนำหน่วยงานและการดำเนินงานร่วมกับไทย รวมถึงหยิบยกประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือร่วมกับ พญ. พักตร์พิไล โดยประกอบด้วย ผู้แทนจากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (Unites Nations Development Programme: UNDP), องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (United Nations Children’s Fund: UNICEF), กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (United Nations Population Fund: UNFPA), สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees: UNHCR), สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union: ITU), องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO), โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Settlement Programme: UN-Habitat), โครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNAIDS Thailand) และองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Industrial Development Organization: UNIDO)
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือแนวทางการดำเนินความร่วมมือด้านสตรี เด็ก และสังคมผู้สูงวัย ดังนี้
ความร่วมมือด้านสตรี ไทยมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ในด้านความเท่าเทียมทางเพศ สิทธิของสตรี และการเสริมสร้างพลังของสตรี โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของสตรีในปัจจุบัน ซึ่งสตรีไทยมีบทบาทการเป็นผู้นำในหลายภาคส่วนมากยิ่งขึ้น ไทยมีนายกรัฐมนตรีและผู้นำหน่วยงานราชการที่เป็นสตรี รวมถึงในภาคธุรกิจ อย่างไรก็ดี ไทยพร้อมเพิ่มพูนความร่วมมือกับ UNCT ในไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการเสริมสร้างพลังของสตรี ความเท่าเทียมทางเพศ รวมถึงการมีส่วนร่วมของสตรีในด้านอื่น ๆ มากขึ้น
ความร่วมมือด้านเด็ก ไทยให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชนเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับการพัฒนาทุนมนุษย์ การคุ้มครองทางสังคม และการดูแลสุขภาพเด็ก ซึ่งที่ผ่านมา ไทยและองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (United Nations Children’s Fund: UNICEF) ได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อการคุ้มครองเด็ก และทาง UNICEF ชื่นชมการดำเนินงานของไทยที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ พญ. พักตร์พิไล พร้อมสานต่อความร่วมมือกับ UNICEF รวมถึงภาคส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเพิ่มพูนการดำเนินงานให้ครอบคลุมที่เกี่ยวข้องกับส่งเสริมสุขภาพจิตของเด็ก การใช้เทคโนโลยีในทางที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ รวมถึงการแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยเรียน นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายให้ความสนใจ สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (กลุ่มลูกเหรียง) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือชาวบ้านและเด็กในจังหวัดยะลา ด้วย
ความร่วมมือด้านสังคมผู้สูงวัย ถือเป็นความท้าทายสำคัญที่หลายประเทศกำลังเผชิญอยู่ รวมถึงไทยด้วย ซึ่งส่งผลกระทบทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงด้านสาธารณสุข โดย พญ. พักตร์พิไล เน้นย้ำว่าไทยพร้อมร่วมมือกับ UNCT เพื่อจัดการกับความท้าทายดังกล่าว รวมถึงหาแนวทางและเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีจากประเทศอื่น ๆ ที่ประสบความสำเร็จร่วมด้วย ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญ สนับสนุนการบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทยต่อไป
ในตอนท้าย พญ. พักตร์พิไล เน้นย้ำความสำคัญของการดำเนินงานด้านการพัฒนาของ UN ต่อไทยและประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยไทยมุ่งมั่นที่จะทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับ UNCT และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมการพัฒนาในประเทศไทยให้ก้าวหน้าต่อไป