‘แจกเงินหมื่น’ รอดยาก – ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

ถูกต้องแล้วครับ…

คณะกรรมการกฤษฎีกามีหน้าที่ให้คำปรึกษาทางกฎหมายแก่รัฐบาล

ฉะนั้นข่าวที่ออกมาว่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ส่งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา กรณีที่รัฐบาลจะขอออก พ.ร.บ.กู้เงิน ๕ แสนล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ให้กระทรวงการคลังแล้ว โดยคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา ไม่ได้ฟันธงว่าการกู้เงินทำได้หรือไม่

เป็นเพียงการอธิบายในข้อกฎหมายเท่านั้น

แต่ “ช่วยคลัง-จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” ตีความว่าคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้คำตอบว่า สามารถออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน ๕ แสนล้านบาทได้

แต่มีข้อสังเกต และข้อเสนอแนะมาด้วย ในเรื่องของให้ปฏิบัติตามมาตรา ๕๓ และมาตรา ๕๗ ของ พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. ๒๕๖๑ ในเรื่องของความคุ้มค่า

ส่วนที่สองที่มีข้อเสนอแนะคือ เรื่องของการให้รับฟังความคิดเห็นให้รอบด้าน

ก็เป็นไปตามที่คาดคิดเอาไว้ และคณะกรรมการกฤษฎีกาก็บอกไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า รัฐบาลสามารถออกพระราชบัญญัติได้ แต่ต้องเป็นไปตามกฎหมาย

ที่จริงรัฐบาลไหนๆ ก็ออกพระราชบัญญัติได้

คำตอบของคณะกรรมการกฤษฎีกา จึงชัดเจน พิจารณาในแง่กฎหมายเท่านั้น ไม่มีหน้าที่ไปบอกว่ารัฐบาลทำอะไรได้หรือไม่ได้

โดยเฉพาะในเรื่องนโยบาย

เมื่อคำตอบคือข้อกฎหมาย ก็ไม่มีอะไรซับซ้อน เพราะตัวบทค่อนข้างชัดเจน รัฐบาลสามารถออกพระราชบัญัติ

จากนี้ก็เป็นเรื่องของรัฐบาลแล้วครับว่าจะเดินหน้าต่อ

หรือหยุดเพียงแค่นี้

พระราชบัญญัติ วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๕๓ บัญญัติไว้ว่า

…การกู้เงินของรัฐบาลนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ให้กระทรวงการคลังกระทําได้ก็แต่โดยอาศัยอํานาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะ และเฉพาะกรณีที่มีความจําเป็นที่จะต้องดําเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจําปีได้ทัน

กฎหมายที่ตราขึ้นตามวรรคหนึ่ง ต้องระบุวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน ระยะเวลาในการกู้เงินแผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ วงเงินที่อนุญาตให้ใช้จ่ายเงินกู้ และหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการดําเนินแผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้นั้น

เงินที่ได้รับจากการกู้เงินตามวรรคหนึ่ง ให้กระทรวงการคลังเก็บรักษาไว้เพื่อให้หน่วยงานของรัฐเบิกไปใช้จ่ายตามแผนงานหรือโครงการตามที่กฎหมายกําหนดได้โดยไม่ต้องนําส่งคลัง เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น…

หากตีความกฎหมายอย่างเคร่งครัด แค่มาตรา ๕๓ นี้ นโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลก็แท้งแล้วครับ

แทบไม่ต้องไปอ้างอิงมาตรา ๕๗ รวมถึงรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๔๐ ที่ระบุกรณีความจำเป็นเร่งด่วน ที่ต้องให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติไว้เลย

พูดง่ายๆ แค่พระราชบัญญัติ วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. ๒๕๖๑ ก็รอดยากแล้ว

ยากอย่างไร?

“เฉพาะกรณีที่มีความจําเป็นที่จะต้องดําเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจําปีได้ทัน”

ประโยคนี้ประโยคเดียว ทำรัฐบาลตาย ๒ รอบ

รอบแรกเรื่อง ความจำเป็นเร่งด่วน

รอบที่สอง ตั้งงบประมาณประจำปีไม่ทัน

หากรัฐบาลจะเดินหน้าต่อ นึกไม่ออกจริงๆ ว่าจะอ้างข้อกฎหมายไหนมาแหก ๒ ด่านนี้

เรื่องความจำเป็นเร่งด่วนต้องย้ำกันอีกครั้ง นโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตให้ประชาชนร่วมๆ ๕๐ ล้านคน หัวละ ๑ หมื่นบาท ใช้งบประมาณ ๕ แสนล้านบาท เป็นนโยบายที่พรรคเพื่อไทยใช้หาเสียงเลือกตั้งต้นปี ๒๕๖๖

“เศรษฐา ทวีสิน” คือผู้ประกาศนโยบาย เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๖๖

เกือบ ๑ ปีผ่านไปแล้ว จะตีความคำว่า “จำเป็นเร่งด่วน” อย่างไร

หนำซ้ำรัฐบาลบอกกับประชาชนว่าจะเริ่มแจกเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้

บวกไปอีกครึ่งปี!

เข้าข่าย “จำเป็นเร่งด่วน” ตาม มาตรา ๕๓ ของพระราชบัญญัติ วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. ๒๕๖๑ หรือไม่

กรณี ตั้งงบประมาณประจำปีไม่ทัน ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจาก “จำเป็นเร่งด่วน” ยิ่งแล้วใหญ่

ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ๒๕๖๗ เพิ่งจะผ่านสภาผู้แทนฯ วาระแรก เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานี่เอง

รัฐบาลจะให้คำตอบว่า “ไม่ทัน” ได้อย่างไร

รัฐบาลแถลงนโยบายเดือนกันยายน หากเห็นว่าเศรษฐกิจวิกฤต จะต้องอัดฉีดเงินเข้าระบบ ๕ แสนล้านบาท ทำไมรัฐบาลไม่ออกเป็นพระราชกำหนดกู้เงิน ณ เวลานั้นเลย

และขณะนั้น ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ๒๕๖๗ ยังมิได้พิจารณาในสภาฯ แต่อย่างใด

แบบนี้ถึงจะเข้านิยาม “ไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจําปีได้ทัน”

แต่รัฐบาลเลือกที่จะออกเป็นพระราชบัญญัติ และรู้ดีอยู่แล้วว่า ต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนาน

ไม่สัมพันธ์กับข้ออ้าง “จำเป็นเร่งด่วน” เลย

ภาวะทางเศรษฐกิจเขารายงานกันเป็นรายไตรมาส

๑ ไตรมาส เท่ากับ ๓ เดือน

เพราะภาวะเศรษฐกิจสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

และภาวะทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทั้งแบงก์ชาติ และสภาพัฒน์ ต่างยืนยันตรงกันว่า อยู่ในช่วงของการฟื้นฟู ไม่ใช่วิกฤต

รัฐบาลเพื่อไทยมีญาณทิพย์รู้ล่วงหน้าตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี ๒๕๖๖ ได้อย่างไรว่า เดือนพฤษภาคม ๒๕๖๗ เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่วิกฤตอย่างรุนแรง มีความจำเป็นเร่งด่วน ต้องใช้เงิน ๕ แสนล้านบาทอัดฉีดเข้าระบบ

แถมยังใช้วิธีแจกฟรีให้ประชาชน

วันนี้จบหน้าที่ของ คณะกรรมการกฤษฎีกา ไปแล้ว ข้อแนะนำทางกฎหมาย ก็ไม่หนีไปจากตัวบทที่ปรากฏ

หากรัฐบาลเดินหน้าต่อ ถามว่าจะผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนฯ หรือไม่

ก็คงหลับหูหลับตา กระเตงให้ผ่านกันไป

แต่หากไม่ผ่าน เกิดอุบัติเหตุทางการเมือง นายกฯ เศรษฐา มี ๒ ทางเลือก คือลาออก หรือไม่ก็ยุบสภา

พ่อเจ้าประคุณรุนช่อง วุฒิสภาหมดวาระ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๗ เสียด้วย

ไทม์ไลน์มันชวนให้ระทึก! เหลือเกิน

หรือแม้ผ่านสภาฯ อีกด่านที่เจอแน่ๆ คือ ศาลรัฐธรรมนูญ

ทันทีที่ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน ๕ แสนล้านเข้าสภา จะมีพรรคฝ่ายค้าน หรือไม่ก็บรรดานักร้อง ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอย่างแน่นอน

รัฐบาลก็เตรียมคำตอบไว้ให้ดี

เร่งด่วน ตั้งงบประมาณประจำปีไม่ทัน จริงหรือไม่

เรื่องนี้เป็นวิทยาศาสตร์ครับ

จะนั่งทางในตอบไม่ได้

Written By
More from pp
กรมทางหลวงชนบท ก่อสร้างและยกระดับถนนสาย พย.4047 จังหวัดพะเยา เสร็จสมบูรณ์ เพิ่มประสิทธิภาพการเดินทาง สนับสนุนการขนส่งพืชผลทางการเกษตรให้ประชาชนในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม
กรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม โดยแขวงทางหลวงชนบทพะเยา ดำเนินโครงการก่อสร้างและยกระดับชั้นทางถนนทางหลวงชนบทสาย พย.4047 แยก ทล.1251 – อ่างเก็บน้ำบ้านร่องสัก อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา
Read More
0 replies on “‘แจกเงินหมื่น’ รอดยาก – ผักกาดหอม”