สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ห่วงใยผู้บริโภค แนะวิธีสังเกตเนื้อหมูที่ปลอดสารเร่งเนื้อแดง ในการนำมาปรุงประกอบอาหารให้มีความปลอดภัยในช่วงเทศกาลปีใหม่ ชี้ความร้อนไม่สามารถทำลายได้ ย้ำ อย.ให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภคมาเป็นอันดับแรก มีการลงพื้นที่สุ่มตรวจอย่างต่อเนื่อง
เภสัชกรเลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า สารเร่งเนื้อแดง คือ ยาที่นำมาใช้ในการรักษาโรค อยู่ในกลุ่ม เบตาอะโกนิสต์ (Beta-Agonist) เช่น ซัลบูทามอล (Salbutamol) เคลนบูเทอรอล (Clenbuterol) มาเพนเทอรอล (Mapenterol) หรือ แรคโตพามีน (Ractopamine) ใช้สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืด มีคุณสมบัติช่วยขยายหลอดลมให้ผู้ป่วยสามารถหายใจคล่องขึ้น โดยใช้ในปริมาณเล็กน้อยเพียง 1 มิลลิกรัม ถึง 2 มิลลิกรัม ในบางคนใช้แล้วมีอาการแพ้ยา และยากลุ่มนี้ อาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงสำคัญอย่างหนึ่ง คือ ทำให้หัวใจเต้นเร็ว กล้ามเนื้อขยับขยายตัวมากขึ้น เคลื่อนไหวตลอดเวลา กล้ามเนื้อกระตุกหรือสั่น
จากอาการข้างเคียงของยาข้างต้น จึงมีคนนำยามาใช้กับหมู เพื่อตอบสนองความต้องการและความนิยมของลูกค้าที่ต้องการบริโภคเนื้อหมูส่วนที่เป็นเนื้อแดง มีมันน้อย ผู้เลี้ยงหมูจึงนำยากลุ่มนี้ผสมในอาหารสัตว์ หรือ นำไปฉีดในหมู โดยหมูที่ได้รับยาจะตื่นตัวและเคลื่อนไหวตลอดเวลา กล้ามเนื้อทำงานมากขึ้น ทำให้สัดส่วนไขมันของหมูบางลง สัดส่วนเนื้อแดงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
เภสัชกรเลิศชาย ย้ำว่า การนำยาดังกล่าวไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างกล้ามเนื้อในหมู หรือเร่งให้มีเนื้อแดงมากขึ้น ถือเป็นการปรับเปลี่ยนขั้นตอนกระบวนการการผลิต สุดท้ายผู้ที่บริโภคเนื้อหมูจะได้รับยาที่ตกค้างอยู่ในกล้ามเนื้อหมูหรือเนื้อหมู และเกิดผลกระทบต่อสุขภาพ สังเกตได้จากหลังการรับประทานเนื้อหมูแล้วเกิดอาการ หายใจเร็วขึ้น ใจสั่น หรือรู้สึกกล้ามเนื้อสั่น โดยยาจะออกฤทธิ์ทันที ไม่เกิน 3-4 ชั่วโมง หลังจากนั้นยาจะหมดฤทธิ์และถูกขับออกตามทางเดินปัสสาวะ
สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบโดยตรง ได้แก่ กลุ่มคนที่เป็นโรคหัวใจ มีอัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ หากได้รับยานี้ จะทำให้อัตราการเต้นของหัวใจสูง และคนที่เป็นโรคเบาหวาน ยานี้จะไปบดบังอาการของโรคทำให้ผู้ที่เป็นเบาหวานไม่รู้ตัวและวูบได้ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานว่ายานี้กระตุ้นให้เกิดโรคมะเร็ง
“สารเร่งเนื้อแดง ไม่สลายตัวเพราะความร้อน ดังนั้นกระบวนการปรุงอาหารไม่สามารถช่วยกำจัดสารนี้ได้ แม้ผ่านกระบวนการปรุงอาหารแล้ว สารนี้ยังคงตกค้างอยู่” เภสัชกรเลิศชาย กล่าว
เภสัชกรเลิศชาย แนะนำว่า วิธีการป้องกันสารเร่งเนื้อแดง ให้เลือกที่ตัวผลิตภัณฑ์ เลือกแหล่งจำหน่าย ซึ่งการสังเกตและเลือกซื้อเนื้อหมู ให้เลือกซื้อเนื้อหมูที่มีสีชมพูเรื่อๆ ไม่แดงจัด เนื้อนุ่มไม่กระด้าง เนื้อฉ่ำน้ำ มีน้ำแทรกซึมอยู่ในเนื้อหมู มีชั้นไขมันหนา ไม่มีสีคล้ำเขียวและไม่มีกลิ่นเหม็น หากหมูมีลักษณะเนื้อแห้งแดง มันน้อย เนื้อมาก ควรเลี่ยงเพราะมีความสุ่มเสี่ยง
ผู้บริโภคควรซื้อเนื้อหมูที่อยู่ในตู้แช่เย็น ไม่วางบนเขียงที่อุณหภูมิปกติเพราะมีความเสี่ยง เนื่องจากเนื้อหมูเป็นของสด เน่าเสียได้และมีอายุการเก็บรักษา อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องเลือกซื้อเฉพาะร้านที่มีตู้เย็นเท่านั้น แต่ขั้นตอนการเก็บรักษาของสดในตู้เย็นเป็นระบบการเก็บรักษาอาหารขั้นพื้นฐาน
สำหรับเนื้อหมูที่ผ่านกระบวนการตัดแต่งสไลด์หรืออยู่ในบรรจุภัณฑ์ อย.จะเข้าไปตรวจที่โรงงานตามข้อกำหนดมาตรฐาน อาทิ 1.หมูมาจากฟาร์มใด มีสารเร่งเนื้อแดงตกค้างหรือไม่ 2.ความสะอาดของสถานที่และโรงงาน 3.ขั้นตอนกระบวนการการผลิตสะอาดและมีความเหมาะสม เมื่อเนื้อหมูบรรจุลงผลิตภัณฑ์ จะมีสลากระบุวันเดือนปีที่ผลิต วันหมดอายุ โดยปกติระยะเวลาในการบริโภคจะไม่เกิน 3 วัน และต้องเก็บอยู่ในที่เย็นตลอดเวลา
ด้านผู้ผลิตอาหาร หรือผู้ประกอบการที่นำผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ หรือ เนื้อหมู มาใช้ในการปรุงประกอบเพื่อส่งต่อผู้บริโภค มีหน้าที่สำคัญคือคัดเลือกแหล่งวัตถุดิบ สิ่งที่ดีที่สุดคือต้องทราบว่าหมูมาจากฟาร์มใด ซึ่งกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรฯ มีมาตรฐานในการเลี้ยงหมู ในฟาร์มมาตรฐานจะมีมาตรการป้องกันการใช้ยา หากเลือกจากฟาร์มมาตรฐาน สามารถมั่นใจในความปลอดภัยได้
กรณีไม่ทราบแหล่งที่มาของหมู ต้องสังเกตจากลักษณะของเนื้อหมู เนื้อสีชมพู ไม่แดงจัด มีน้ำชุ่มๆ มีมันแทรก มีมันสามชั้น มีความสด จิ้มลงไปแล้วมีความนุ่ม ไม่แข็งกระด้าง และที่สำคัญการเก็บรักษาอยู่ในอุณหภูมิที่เย็น เพื่อคงสภาพความสดของเนื้อสัตว์ไว้ ดังนั้น ฝากผู้ประกอบการ เลือกซื้อเนื้อหมูจากฟาร์มที่ได้การรับรองมาตรฐาน หรือเลือกจากเขียงที่มีคุณภาพ และเก็บรักษาอย่างเหมาะสม
ทั้งนี้ อย. มีการสุ่มตรวจเนื้อหมูอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมกับกรุงเทพมหานครและทุกจังหวัด ลงพื้นที่สุ่มตรวจทั้งตลาดขนาดใหญ่ ตลาดค้าส่งและตลาดสดต่างๆ รวมถึงห้างสรรพสินค้า เป็นประจำทุกเดือน หากตรวจพบว่าในเนื้อหมูมีสารเร่งเนื้อแดงเกินกว่าค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนดให้อยู่ในอาหารได้จะจัดเป็นอาหารผิดมาตรฐาน ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต ผู้ขาย หรือผู้นำเข้า มีโทษปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท และหากมีสารเร่งเนื้อแดงในปริมาณสะสมที่สูงมาก จะไม่ถูกจัดเป็นอาหารผิดมาตรฐานเพียงอย่างเดียว แต่เป็นอาหารที่ไม่บริสุทธิ์ด้วย มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ระหว่าง ปี 2556-2566 อย. สุ่มเก็บตัวอย่าง 430 ตัวอย่าง พบสารเร่งเนื้อแดง 85 ตัวอย่าง โดยตรวจพบเฉพาะในช่วงแรก แต่ปัจจุบันไม่พบ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีต่อผู้บริโภค แสดงถึงความใส่ใจตั้งแต่กระบวนการเลี้ยงหมู ไม่มีการใช้ยา มีการนำสินค้าที่มีคุณภาพมาจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค และถึงแม้ว่าจะไม่พบสารเร่งเนื้อแดงแล้ว อย. ก็ยังคงทำหน้าที่เฝ้าระวังความปลอดภัย จึงขอให้ประชาชนมั่นใจว่า อย. มีมาตรการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์สุ่มตรวจอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งที่แปรรูป และเนื้อสัตว์ที่อยู่บนเขียง หากพบการกระทำที่ผิดทางกฎหมาย จะดำเนินคดีอย่างเข้มงวด