30 พฤศจิกายน 2566 นายตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส รองเลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย และนักธุรกิจผู้ประกอบการพลังงาน กล่าวถึงกรณีที่ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ.มีมติรับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ ค่าเอฟที งวดเดือน ม.ค. – เม.ย. 2567 ซึ่งส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น โดยจะเรียกเก็บผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย จากเดิม 3.99บาท ต่อหน่วยนั้น
โดยตนเห็นว่าการแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพงอย่างยั่งยืน “ต้องแก้ที่โครงสร้าง” เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่ามาตรการลดค่าไฟทุกวันนี้ เป็นมาตรการแก้ไขปัญหาแบบผักชีโรยหน้า ใช้วิธีชะลอคืนหนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ไม่ได้แก้ที่โครงสร้างที่มาของต้นทุนไฟฟ้า ที่เป็นปัญหาทำให้ไฟแพงถึงทุกวันนี้
ส่งผลให้การออกมาตรการช่วยเหลือค่าไฟ ทำได้แค่สั้นๆ เท่านั้น “เสมือนโยกเงินจะกระเป๋าซ้าย ไปโปะกระเป๋าขวา” ตนจึงอยากชี้ให้เห็นปัญหา พร้อมเสนอแนะทางแก้ ในฐานะผู้ประกอบการที่อยู่ในภาคธุรกิจนี้ และผู้ทำนโยบายพลังงาน ดังนี้
1) อย่างที่ทราบดีว่า โรงงานไฟฟ้าในประเทศไทยส่วนใหญ่นั้นเป็นโรงงานไฟฟ้าประเภท “ก๊าซธรรมชาติ“ ซึ่งก๊าซ ถือเป็นต้นทุนหลักของโรงไฟฟ้าชนิดนี้ และราคามีความแปรผันสูง แม้ประเทศไทยสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติได้เองจากอ่าวไทย แต่ก๊าซเหล่านั้น ไม่ได้ถูกนำไปใช้ในโรงไฟฟ้าก๊าซ แต่กลับเป็นในอุตสาหกรรมอื่น เช่นปิโตรเคมี เพราะได้กำไรมากกว่า
ทำให้ “ก๊าซที่ใช้ในโรงไฟฟ้า” ต้องถูกนำเข้าจากต่างประเทศ และยังเต็มไปด้วยอุปสรรค เนื่องจากในอดีตมีผู้นำเข้าก๊าซมาขายในประเทศไทยเพียงรายเดียว ส่งผลให้ไม่เกิดการแข่งขันด้านราคา และอาจเกิดการผูกขาดไม่เป็นไปตามกลไกทางตลาด ตอนหลังแม้มีการแก้กฎหมายเรื่องการผูกขาดแล้ว แต่เอกชนรายอื่น ที่ต้องการนำเข้าก๊าซก็ต่างเต็มไปด้วยเงื่อนไขอุปสรรคต่างๆ > ทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับผู้นำเข้ารายเดิมได้ และ ยังไม่รวมประเด็นท่อส่งก๊าซโรงแยกก๊าซธรรมชาติ
ดังนั้น หากรัฐบาลจริงใจในการลดค่าไฟอย่างยั่งยืน ต้องเข้ามาจัดการโครงสร้างราคาและที่มาของก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นต้นทุนหลักของโรงไฟฟ้าก่อน
ประเด็นที่ 2) ในอนาคตอันใกล้ 7 ปีข้างหน้า จะมีโรงงานไฟฟ้ารอปลดประจำการมากถึง 14 โรงไฟฟ้า ตนเห็นว่าภาครัฐควร “เพิ่มสัดส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด” เช่นลม/แสงอาทิตย์/น้ำ เข้ามาทดแทนโรงงานไฟฟ้าก๊าซที่กำลังจะปลดระวาง เพื่อลดปัญหาราคาก๊าซผันผวน แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังจำเป็นต้องมีโรงงานไฟฟ้าก๊าซให้เพียงพอ เพราะถือเป็นไฟฟ้าเสถียร และมีความจำเป็น ในกรณีที่โรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดไม่สามารถผลิตไฟจากสาเหตุธรรมชาติ (ลมไม่มี แสงอาทิตย์ไม่มา)
ประเด็นที่ 3) ยกเลิก“ค่าแอดเดอร์” ซึ่งหากจำได้ สมัยก่อนรัฐบาลเคยสนับสนุนการซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็ก โดยให้เงินสนับสนุนเพิ่ม หรือที่เรียก ค่าแอดเดอร์ ยาวถึง 7-10 ปี ในอัตราสูงถึง 6-8 บาท ต่อหน่วย ส่งผลให้ภาครัฐต้องซื้อไฟจากโรงไฟฟ้าเหล่านี้แพงถึง 9-12 บาท ต่อหน่วย / ทั้งๆที่ราคาขายไฟฟ้าปัจจุบันอยู่ที่ 2 บาทกว่าเท่านั้น ซึ่งตนเห็นว่ารัฐควรจะยกเลิกการรับซื้อไฟฟ้าที่มีค่าแอดเดอร์ ซึ่งโรงไฟฟ้าเหล่านี้คงคืนทุน และได้กำไรมามากพอแล้ว อีกทั้งเป็นสัญญาทาสที่ต่ออายุสัญญาได้เรื่อย ๆ ไม่มีวันหมดอายุสัญญาสร้างภาระให้ประเทศระยะยาว ซึ่งหากรัฐบาลสามารถแก้โครงสร้างเหล่านี้ได้ตามที่ผมเสนอ มั่นใจว่าสามารถลดค่าไฟได้ทันที และยั่งยืนแน่นอน