วสท. เสนอใช้เทคโนโลยีวิศวกรรมประเมินสถานการณ์ – กู้วิกฤติเหตุร้ายและภาวะฉุกเฉินในอาคาร

จากเหตุการณ์คนร้ายกราดยิงประชาชนที่จังหวัดนครราชสีมาเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 29 ราย และได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก สร้างความตื่นตระหนกและกระทบต่อจิตใจของประชาชนทั่วทั้งประเทศ หลายหน่วยงานได้ผนึกกำลังเพื่อหาแนวทางป้องกันและรับมือกับเหตุการณ์ดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) จัดระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับ “การประเมินสถานการณ์และการเตรียมการรับมือภาวะฉุกเฉิน” โดยผนึกกำลังหลายหน่วยงาน อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมโยธาธิการและผังเมือง สภาวิศวกร กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร และภาคเอกชน เพื่อนำองค์ความรู้และหลักการทางด้านวิศวกรรม มาใช้เป็นแนวทางช่วยเหลือป้องกันและฝ่าวิกฤติเหตุร้าย ตลอดจนภัยพิบัติได้อย่างทันท่วงที มีประสิทธิภาพและลดการสูญเสีย

 

ดร.ธเนศ วีระศิริ นายก วสท. กล่าวว่า การประชุมหารือได้สรุปอุปสรรคของการแก้ปัญหาการก่อเหตุร้ายกราดยิงที่โคราช ได้แก่ อาคารสถานที่เกิดเหตุจริงมีความซับซ้อน ยากต่อการวิเคราะห์และวางแผนปฏิบัติการ ทำให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้วยความล่าช้าและมีความเสี่ยงสูง, แผนผังอาคารไม่มีการอัพเดทข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน เนื่องจากห้างสรรพสินค้ามีการบริหารจัดการและปรับแต่งพื้นที่อยู่ตลอดเวลา, การเก็บแผนผังของอาคารในรูปแบบเอกสารไม่ใช่ดิจิทัล หรือ 3D ทำให้ขาดมิติในการมองเห็นและทิศทางภายใน – ภายนอกอาคารที่เป็นจริง, แผนผังอาคารแสดงเส้นทางในส่วนพื้นที่สาธารณะทั่วไป เสี่ยงที่ผู้ก่อเหตุร้ายจะใช้เป็นจุดลอบทำร้ายเจ้าหน้าที่และผู้ที่กำลังอพยพออกนอกอาคารได้, ขาดข้อมูลวัสดุโครงสร้างภายในอาคาร เพื่อให้เจ้าหน้าที่ใช้เป็นจุดกำบังเมื่อเข้าตรวจสอบพื้นที่

รศ.เอนก ศิริพานิชกร ที่ปรึกษาวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า ในทางปฏิบัติ แบบที่เจ้าของอาคารใช้ยื่นขออนุญาตก่อสร้างอาคาร จะแตกต่างจากรายละเอียดแบบแปลนตามสร้าง (AsBuilt Drawings) จึงทำให้การวิเคราะห์วางแผนช่วยเหลือประชาชนและผู้ประสบภัยทำได้ล่าช้า ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้เคยออกกฎกระทรวงเมื่อเดือนเมษายนปี พ.ศ. 2561 โดยระบุให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในงานก่อสร้างอาคารต้องมีการจัดทำ “รายละเอียดแบบแปลนตามสร้าง (AsBuilt Drawings)” และดำเนินการเก็บไว้ที่สำนักงานท้องถิ่นหรือสำนักงานเขตในพื้นที่ ซึ่งมีรายละเอียดและความซับซ้อนมาก เช่น การแสดงผังเฉพาะเจ้าหน้าที่ฝ่ายอาคาร, แผนผังห้องควบคุมอาคาร เป็นต้น

วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ และที่ประชุมเสนอแนวทางด้านวิศวกรรม เพื่อกู้วิกฤติ – รับมือเหตุร้าย คือ 

1. ผลักดันให้เป็นกฎหมายบังคับใช้กับอาคาร เพื่อเป็นประโยชน์ในการเข้าไปช่วยเหลือประชาชน โดยออกกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับข้อมูล “แผนผังอาคารเพื่อความปลอดภัย” สำหรับใช้ในการกู้วิกฤติเหตุร้าย และความจำเป็นต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เช่น แผนผังที่แสดงทางเข้าออกอาคารเพื่อให้เกิดความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ การวางยุทธวิธีการเข้าช่วยเหลือหรืออพยพผู้ประสบภัยที่ติดอยู่ในอาคารให้ออกมาได้อย่างปลอดภัย ซึ่งจะมีความแตกต่างจากแผนผังอื่น ๆ ที่แสดงตามที่สาธารณะทั่วไป 

2. ควรจัดทำมาตรฐานและแนวทางการปฏิบัติตนเมื่อมีการก่อเหตุร้าย โดยทาง วสท.จะดำเนินการจัดทำมาตรฐานการจัดการจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คาดว่าร่างมาตรฐานฉบับนี้จะแล้วเสร็จปลายปี 2563 ก่อนเสนอให้คณะกรรมการควบคุมอาคารพิจารณาผลักดันให้กระทรวงมหาดไทยออกเป็นกฎกระทรวงบังคับใช้ต่อไป

3. รัฐบาลควรสนับสนุนการใช้ข้อมูลออกแบบจำลองอาคารดิจิทัล หรือ เทคโนโลยี BIM (Building Information Model) ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งก่อน-ระหว่าง-และหลังการสร้างอาคารเสร็จ ทำให้ทราบโครงสร้างและเส้นทางภายในอาคาร 3 มิติ จนถึงวัสดุ ซึ่งสามารถนำมาใช้วางแผน การกู้ภัยพิบัติ รวมถึงการผจญภัยกับเหตุร้ายให้แก่องค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งนี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยแก่ผู้มาใช้อาคารและสาธารณชน หากดำเนินการได้ตามมาตรฐานที่วางไว้แล้ว จะช่วยให้ผู้ที่เข้าระงับเหตุร้ายต่าง ๆ มีความปลอดภัย สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว และที่สำคัญ BIM จะเป็นอีกส่วนสำคัญที่จะทำให้นโยบายของรัฐบาลในการสร้างเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities) เป็นจริงอย่างสมบูรณ์และปลอดภัย 4. ควรเผยแพร่ความรู้ให้เกิดการรับรู้ร่วมกันในวิธีปฏิบันตนเมื่อเกิดเหตุร้ายแก่ประชาชน

5. ส่งเสริมการใช้หลักการทางวิศวกรรมมาจัดการบริหารการก่อเหตุร้ายและภัยพิบัติตามแนวทางมาตรฐานสากล NFPA (National Fire Protection Association) เนื่องจากทำให้สามารถควบคุมและแก้ไขสถานการณ์และจำกัดความสูญเสียได้ดีและมีประสิทธิภาพมากกว่า โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่  

  • การวางแผน (Plan) วางแผนโดยใช้ข้อมูลลักษณะอาคาร แผนผังอาคาร หรือพื้นที่โดยรอบอาคาร ให้สอดคล้องกับเหตุร้ายหรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น การกั้นพื้นที่สำหรับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการพิเศษ พื้นที่ฝ่ายงานสนับสนุน พื้นที่สำหรับสื่อมวลชน เป็นต้น  
  • การตอบสนองต่อเหตุการณ์ (Response) ได้แก่ Run – Hide – Fight เมื่อเกิดเหตุก่อการร้ายให้ผู้ประสบเหตุหนีก่อน หากประเมินว่าการหนีมีความเสี่ยงให้ซ่อนตัว แต่ถ้าไม่ได้ผลจึงให้สู้ อบรมให้ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ต้องทราบถึงวิธีการปฐมพยาบาลและการห้ามเลือดเบื้องต้น การจัดเตรียมสถานพยาบาลรองรับผู้ประสบภัย รวมถึงการบริหารการเข้าออกของรถพยาบาล
  • ส่วนการฟื้นฟูเยียวยา (Recovery) ก็เป็นสิ่งสำคัญ เช่น การช่วยเหลือดูแลผู้ประสบภัย การเปิดรับบริจาค การฟื้นฟูบำบัดจิตใจของผู้ประสบภัย เป็นต้น

Written By
More from pp
พีอีเอ ร่วมกับ โออาร์ ส่งเสริมการใช้น้ำมัน อัลตร้าฟอร์ซ ดีเซล บี10
นายชีวิน พัฒนคูหะ รองผู้ว่าการธุรกิจ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) และ นายบุญมา พนธนกรกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)...
Read More
0 replies on “วสท. เสนอใช้เทคโนโลยีวิศวกรรมประเมินสถานการณ์ – กู้วิกฤติเหตุร้ายและภาวะฉุกเฉินในอาคาร”