บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป โดยมูลนิธิไทยรักษ์ป่า ปรับปรุง “เส้นทางศึกษาธรรมชาติผาดอกเสี้ยว” ในอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ พร้อมพัฒนาป้ายสื่อความหมายธรรมชาติในเส้นทางฯ ระบบสื่อความหมายออนไลน์ และวีดิโอเยี่ยมชมเสมือนจริง 360 องศา ส่งมอบแก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
พร้อมขับเคลื่อนงาน 6 มิติ เพื่อยกระดับบ้านแม่กลางหลวงเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรม สะท้อนการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างระบบนิเวศป่าต้นน้ำและวัฒนธรรมของชุมชนปกาเกอะญอ ตลอดจนปลูกจิตสำนึกให้นักท่องเที่ยวตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของการร่วมอนุรักษ์ดูแลธรรมชาติอย่างยั่งยืน
โดยพิธีส่งมอบเส้นทางฯ ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา โดยมี นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมเป็นสักขีพยาน
นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป และประธานกรรมการมูลนิธิไทยรักษ์ป่า เปิดเผยว่า เอ็กโก กรุ๊ป ดำเนินธุรกิจบนเส้นทางความยั่งยืน ด้วยการเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมและใส่ใจต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม โดยได้ก่อตั้งและสนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิไทยรักษ์ป่า องค์กรสาธารณกุศลเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำและความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ป่าต้นน้ำที่สำคัญของประเทศมากว่า 20 ปี
ซึ่งการพัฒนาและปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติให้แข็งแรง ปลอดภัย กลมกลืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็น “ห้องเรียนธรรมชาติ” เป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของมูลนิธิฯ ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา เพื่อให้เยาวชน ประชาชน และนักท่องเที่ยว ได้สัมผัสคุณค่าและความสำคัญของป่าต้นน้ำและทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนช่วยกันรักษาไว้เพื่อส่งต่อให้คนรุ่นต่อไป
สำหรับเส้นทางศึกษาธรรมชาติผาดอกเสี้ยวเป็นเส้นทางฯ ลำดับที่ 4 ที่มูลนิธิฯ ได้ปรับปรุงในพื้นที่ป่าต้นน้ำอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ แนวเส้นทางฯ ผ่านป่าดิบเขาระดับล่างที่อุดมสมบูรณ์ พื้นที่เกษตรกรรม และปลายทางเป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนปกาเกอะญอบ้านแม่กลางหลวง
จึงมีความโดดเด่นในฐานะแหล่งเรียนรู้ “นิเวศวัฒนธรรม” ที่ผสมผสานองค์ประกอบระหว่างธรรมชาติที่สวยงาม คุณค่าของระบบนิเวศป่าต้นน้ำ และวัฒนธรรมที่มีอัตลักษณ์ของชุมชนชาวปกาเกอะญอบ้านแม่กลางหลวง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ “คนอยู่กับป่า” ได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ ที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
“มูลนิธิไทยรักษ์ป่าได้ปรับปรุงเส้นทางฯ โดยยึดหลักการออกแบบที่มีผลกระทบกับธรรมชาติน้อยที่สุด การรับฟังความคิดเห็นและมีส่วนร่วมจากกลุ่มต่าง ๆ ตลอดจนนำภูมิปัญญาการก่อสร้างของชาวปกาเกอะญอมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบ เพื่อรักษาอัตลักษณ์ของชุมชน ควบคู่กับการพัฒนาระบบสื่อความหมาย 14 จุด ในเส้นทางฯ เพื่อเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดความรู้ คุณค่า และความสัมพันธ์ของสรรพชีวิตในผืนป่า ตลอดจนพัฒนาระบบสื่อความหมายออนไลน์และวีดิโอเยี่ยมชมเสมือนจริง 360 องศา
เพื่อให้ผู้สนใจสามารถสัมผัสธรรมชาติในเส้นทางฯ ผาดอกเสี้ยวได้ทุกที่ ทุกเวลา ด้วยมุ่งหวังว่านักท่องเที่ยวและประชาชนจะตระหนักและเห็นความสำคัญของการพึ่งพากันระหว่างมนุษย์และระบบนิเวศ จนเกิดเป็นจิตสำนึกในการปกป้องและร่วมดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและป่าต้นน้ำอย่างยั่งยืน” นายเทพรัตน์ กล่าว
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ความร่วมมือระหว่างกรมอุทยานฯ
เอ็กโก กรุ๊ป และมูลนิธิไทยรักษ์ป่าที่ได้ร่วมกันพัฒนาและปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติในพื้นที่อุทยานแห่งชาติอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน โดยดำเนินงานภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับที่ 4 ระหว่างปี 2564-2569 นั้น ถือได้ว่ามูลนิธิไทยรักษ์ป่าเป็นตัวอย่างของภาคเอกชนที่มีส่วนร่วมกับภาครัฐในการส่งเสริมและขับเคลื่อนให้ภารกิจของกรมอุทยานฯ สามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น
นอกจากการพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติแล้ว มูลนิธิฯ มีแผนที่จะนำความรู้ในทุกมิติการดำเนินงาน 6 ด้าน มายกระดับและขับเคลื่อนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการดูแลผืนป่าต้นน้ำของบ้านแม่กลางหลวง ได้แก่
1) การอนุรักษ์พื้นที่ป่าต้นน้ำและความหลากหลายทางชีวภาพ 19,000 ไร่ 2) การฟื้นฟูพื้นที่ป่าและปรับระบบเกษตร 500 ไร่ 3) การพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติผาดอกเสี้ยว 4) การส่งเสริมเยาวชนคนรุ่นใหม่ขับเคลื่อนกิจกรรมอนุรักษ์ 5) การวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม โดยจัดทำฐานข้อมูลเพื่อจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน
และ 6) การส่งเสริมพื้นที่ต้นแบบคนอยู่ร่วมกับป่า เพื่อให้บ้านแม่กลางหลวงเป็นพื้นที่ต้นแบบการท่องเที่ยวนิเวศวัฒนธรรมอย่างยั่งยืนในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์อย่างแท้จริง
เส้นทางศึกษาธรรมชาติผาดอกเสี้ยว มีระยะทางประมาณ 2.6 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินเท้าประมาณ 2-2.5 ชั่วโมง สภาพตลอดเส้นทางมีลักษณะเป็นป่าดิบเขาระดับล่าง โดยมี น้ำตกผาดอกเสี้ยว หรือ น้ำตกรักจัง ที่มีความสวยงามเป็นจุดเด่น ระหว่างทางยังมี ผาดอกเสี้ยว สถานที่ที่เป็นภูมินามและเอกลักษณ์ของพื้นที่ เนื่องจากเป็นหน้าผาที่มีต้นเสี้ยวดอกขาว พันธุ์ไม้ท้องถิ่นที่ขึ้นหนาแน่นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมของทุกปี
และบริเวณนี้ยังเป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างป่าอนุรักษ์ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์และพื้นที่ที่คนอยู่ร่วมกับป่าอย่างชัดเจน นอกจากนี้ จะได้พบกับ นาขั้นบันได ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรมของชุมชน และหมู่บ้านแม่กลางหลวง ที่ปลายเส้นทางฯ ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่มีอัตลักษณ์ของชาวปกาเกอะญอ