ทสท. รับทำข้อมูลพลาด ปมกล่าวหากัลฟ์ทำค่าไฟแพง

เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 นายตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส รองเลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส – Treerat Sirichantaropas ระบุว่า

วันนี้ผมได้มีโอกาสหารือกับนักวิชาการด้านพลังงานในประเด็นค่าไฟฟ้าที่ผมได้เคยแถลงข่าวออกไป เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ผมพบว่ามีข้อมูลที่ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงหลายส่วน ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหาย และสร้างความเข้าใจผิดกับผู้อื่น เมื่อผมเข้าใจผิดก็อยากมานำเสนอทำความเข้าใจข้อมูลกับพี่น้องประชาชนให้ถูกต้องดังนี้ครับ

เรื่องที่ 1.) ค่าไฟที่เราจ่ายกันนั้น ส่วนประกอบหลัก 70-80% มาจากต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งประเทศไทยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า โดยใช้ก๊าซจากทั้งหมด 3 แหล่ง ได้แก่ ก๊าซอ่าวไทย ก๊าซเมียนมา และนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG)

ในช่วงที่ผ่านมาที่ค่าไฟแพงนั้น เป็นผลมาจากค่าราคาก๊าซ LNG ทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นจากสถาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน อีกทั้งก๊าซอ่าวไทยผลิตได้น้อยลงไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ทำให้ต้องนำเข้า LNG ที่มีราคาแพงมาทดแทน ถือเป็นการซวยซ้ำซวยซ้อน อีกเรื่องคือกลไกการซื้อขายก๊าซในประเทศไทย

หากทุกท่านได้ลองหาข้อมูลจะทราบว่าในอดีตมีผู้นำเข้าก๊าซมาขายในประเทศไทยได้อย่างถูกกฎหมายมีเพียงรายเดียว ส่งผลให้ไม่เกิดการแข่งขันด้านราคา ราคาก๊าซจึงอาจถูกกำหนดโดยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และอาจเกิดการผูกขาดไม่เป็นไปตามกลไกทางตลาด

แม้ในปี 2564 ได้มีหลักการให้เปิดตลาดเสรีให้เอกชนรายต่าง ๆ สามารถนำเข้าก๊าซมาขายในประเทศไทยได้ มองเผิน ๆ อาจเป็นผลดีที่จะเกิดการแข่งขันกันระหว่างเอกชนกันเอง และอาจทำให้ก๊าซที่เป็นต้นทุนหลักในการผลิตไฟฟ้ามีราคาถูกลง ซึ่งจะส่งผลให้ราคาค่าไฟฟ้าปรับลดราคาลงได้อย่างมาก

แต่ความเป็นจริงแล้วเอกชนรายอื่น ๆ ที่ต้องการนำเข้าก๊าซก็ต้องทำตามเงื่อนไขต่าง ๆ มากมาย อีกทั้งยังไม่ได้รับความเป็นธรรมในการแข่งขันทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับผู้นำเข้ารายเดิมได้ จึงเป็นเหตุผลว่าแม้จะเปิดเสรีแล้วก็ไม่สามารถทำให้ต้นทุนประเทศต่ำลงได้ ยังไม่รวมประเด็นท่อส่งก๊าซโรงแยกก๊าซธรรมชาติอีก

ผมขอตั้งคำถามถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าถึงเวลาแล้วหรือยังครับที่เราต้องรื้อโครงสร้างในธุรกิจก๊าซเพื่อประโยชน์สูงสุดของพี่น้องประชาชน

เรื่องที่ 2.) คือ แผนประมาณการค่าซื้อไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ผมได้นำมาประกอบการแถลงข่าวนั้น เป็นเพียงข้อมูลการคาดการณ์อนาคตว่าจะมีการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าใดบ้าง ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าวทำให้ผมเข้าใจไปว่าโรงไฟฟ้าบางแห่งไม่มีการจ่ายไฟฟ้าเลย แต่ก็ได้รับค่าความพร้อมจ่าย หรือค่า AP

แต่ในความเป็นจริงแล้ว โรงไฟฟ้าที่ผมได้กล่าวถึงไปนั้น ซึ่งรวมถึงโรงไฟฟ้าในเครือกลุ่มบริษัทกัลฟ์ ได้มีการจ่ายไฟเข้าระบบของรัฐทุกเดือน และได้รับเงินอย่างถูกต้อง ไม่ได้เป็นไปตามแผนประมาณการค่าซื้อไฟฟ้าของ กฟผ. แต่อย่างใด

อีกทั้งข้อมูลดังกล่าวยังไม่เคยได้แก้ไขให้ถูกต้องตรงกับความเป็นจริงและก่อให้เกิดความสับสนและเข้าใจผิด ซึ่งข้อมูลนั้นเป็นข้อมูลสาธารณะประชาชนสามารถเข้าถึงได้

ผมจึงอยากเสนอให้ กฟผ. ปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องเพื่อไม่ให้คนอื่น ๆ เข้าใจผิดแบบผมอีก และผมต้องขอโทษ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) อย่างเป็นทางการ ที่ก่อนหน้านี้ผมได้เคยออกมาแถลงข่าว ทำให้คนเข้าใจผิดว่า กัลฟ์มีโรงไฟฟ้าจำนวนมาก ได้รับเงินค่าความพร้อมจ่ายจากรัฐ โดยไม่ได้ผลิตไฟเลยสักหน่วยซึ่งมันไม่ได้เป็นความจริง แต่เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและขาดการตรวจสอบข้อมูลที่ผมได้รับมาจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายกับบริษัท

เรื่องที่ 3.) ปัจจุบันทุกประเทศทั่วโลกหันมาสนับสนุนการลงทุนในพลังงานสะอาดจำนวนมากเพื่อช่วยลดโลกร้อนและช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้า ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลก็ได้มีการรับซื้อพลังงานหมุนเวียนที่มีราคาถูกและสอดคล้องกับเทรนด์โลกในราคารับซื้อเพียงแค่ 2 บาทกว่า ๆ ต่อหน่วย ถือว่าจะนำมาช่วยเฉลี่ยต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของประเทศให้ต่ำลง

ซึ่งแตกต่างจากสมัยก่อนที่การรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเป็นการรับซื้อไฟฟ้าแบบให้เงินสนับสนุนเพิ่มหรือที่เรียก ค่าแอดเดอร์ ยาวนาน 7-10 ปี ในอัตราสูงถึง 6-8 บาท ต่อหน่วย ที่ค่อนข้างแพงรวมเป็นราคารับซื้อสุทธิ 9-12 บาท ต่อหน่วย

ผมมีความเห็นว่ารัฐควรจะยกเลิกการรับซื้อไฟฟ้าที่มีค่าแอดเดอร์ เนื่องจากถึงแม้จะหมดค่าแอดเดอร์แล้วก็ยังได้รับค่าไฟแพงกว่าการรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียนในปัจจุบันซึ่งหลาย ๆ โรงไฟฟ้าที่ได้พลังงานมาจากพลังงานสะอาดหรือพลังงานบริสุทธ์ก็น่าจะคุ้มทุนกันไปนานแล้ว

อีกทั้งเป็นสัญญาทาสที่ต่ออายุสัญญาได้เรื่อย ๆ ไม่มีวันหมดอายุสัญญาสร้างภาระให้ประเทศระยะยาว นอกไปจากนี้รัฐควรสนับสนุนให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้นในอนาคตเพื่อนำไฟฟ้าสะอาดราคาถูกมาช่วยลดค่าไฟฟ้าได้อย่างยั่งยืน

Written By
More from pp
กฟผ. เร่งส่งมอบหมวก PAPR พร้อมเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ เสริมแกร่งโรงพยาบาลในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ดร.จิราพร  ศิริคำ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ส่งมอบหมวกป้องกันเชื้อ PAPR และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ รวมถึงน้ำดื่มน้ำใจ กฟผ. ให้แก่โรงพยาบาลในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่
Read More
0 replies on “ทสท. รับทำข้อมูลพลาด ปมกล่าวหากัลฟ์ทำค่าไฟแพง”