สันต์ สะตอแมน
“กวนโอ๊ยทั้งพ่อทั้งลูก”!
นี่..ก็หมายความว่า อาการไม่ได้เป็น-ตายเท่ากันอย่างที่ผู้คนเขาสงสัย-เป็นห่วง เพราะถ้าเจ็บป่วยถึงขั้นวิกฤตินอนพะงาบอยู่บนเตียงในโรงพยาบาล ชั้น 14..
คงไม่มีพลังวังชา-อารมณ์(แค้น)พูดดังๆ ข้างหูคนไปเยี่ยมให้หลุดลอดออกมาถึงหู(ฉลาม) ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ได้หรอก!
คราวนี้ก็ตามดูกันว่า.. “ผมจะหันหลังให้คุณตลอดชีวิต” ที่อดีตดาวสภาลั่นวาจานั้น จะหันหลังตลอดกาล(จริง) หรือหันเพื่อให้ง้อ..เดี๋ยวก็รู้!
แต่ที่ได้รู้แล้ว..ก็ภาพยนตร์ 10 เรื่องที่ได้รับการขึ้นทะเบียน “มรดกภาพยนตร์ของชาติ” ประจำปี 2566 ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมได้ประกาศรายชื่อไปเมื่อวาน ดังนี้..
1. ปักธงไชย (2500) 2. Thailand (2501) 3. กตัญญูปกาสิต (2501) 4. โกนจุก [2510]5. วันมหาวิปโยค (2516) 6. เทวดาเดินดิน (2519)
7. [สัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ไทยที่กลับออกจากป่า] [2528] 8. เพลงสุดท้าย (2528)9. 14 ตุลาสงครามประชาชน (2544) และ 10. หัวใจทรนง The Adventure of Iron Pussy (2546)
และด้วยปี 2566 เป็นปีครบรอบ 50 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มีภาพยนตร์3 เรื่องที่เกี่ยวพันกับเหตุการณ์นี้ได้รับการคัดเลือกมาด้วย
ได้แก่.. “วันมหาวิปโยค” (2516) เป็นบันทึกเหตุการณ์ 14 ตุลาคมที่ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ นักข่าวภาพยนตร์อิสระได้ถ่ายเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ไว้
ส่วนหนัง [สัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ไทยที่กลับออกจากป่า] [2528] เป็นฟุตเทจหายากที่ ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ได้สัมภาษณ์อดีตนักศึกษาและนักเคลื่อนไหวที่ออกจากป่า
เช่น คุณจิระนันท์ พิตรปรีชา คุณเสกสรรค์ ประเสริฐกุล นายจรัล ดิษฐาอภิชัย หมอเหวง โตจิราการ วงดนตรีคาราวาน เป็นต้น
อีกเรื่อง “14 ตุลาสงครามประชาชน (2544) ภาพยนตร์ชีวประวัติคุณเสกสรรค์ ประเสริฐกุล เป็นงานกำกับโดยบัณฑิต ฤทธิ์ถกล
สำหรับภาพยนตร์ “เทวดาเดินดิน” (2519) โดยหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล เป็นหนังที่จับภาพวัยรุ่นไทยในช่วงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลงทางสังคม
เป็นทั้งหนังสะท้อนสังคมและหนังแอคชั่นผจญภัยไปพร้อม ๆ กัน ส่วนเรื่อง “ปักธงไชย” (2500) สร้างโดยบริษัท ละโว้ภาพยนตร์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ
ถือเป็นผลงานที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังคงหลงเหลืออยู่ของพระองค์ ผู้ทรงเป็นนักทำหนังที่มีบทบาทสำคัญต่อวงการภาพยนตร์ไทย และเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกและหนึ่งในไม่กี่เรื่อง
ที่เล่าถึงสงครามปราบฮ่อ สมัยรัชกาลที่ 5..เรื่อง “กตัญญูปกาสิต” เป็นหนังร่วมทุนไทย-ฮ่องกง ผลงานกำกับของ “ครูเนรมิต”และเขียนบทโดย ส. อาสนจินดา
ครับ..การประกาศรายชื่อภาพยนตร์ขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาตินี้ หอภาพยนตร์(องค์การมหาชน)เป็นผู้ดำเนินการมาเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2554
ทั้งนี้ ภาพยนตร์ส่วนหนึ่งมาจากประชาชนกว่า 1,000 คน ที่ร่วมเสนอรายชื่อ โดยพิจารณาคัดเลือกตามหลักเกณฑ์คุณค่า ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ อิทธิพลต่อสังคม วัฒนธรรม และศิลปะ
ถึงปีนี้ มีภาพยนตร์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนฯแล้วจำนวนทั้งหมด 243 เรื่อง ซึ่งหอภาพยนตร์ได้เตรียมนำภาพยนตร์เหล่านี้ออกฉายตามช่องทางต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นในโรงภาพยนตร์ Facebook YouTube Tiktok ของหอภาพยนตร์ รวมถึงการจัดงานเสวนาภาพยนตร์ และการให้บริการในห้องสมุดและโสตทัศนสถานเชิด ทรงศรี
สนใจ.. ก็ติดตามรายละเอียดได้ที่ www.fapot.or.th หรือที่เฟซบุ๊กช่อง หอภาพยนตร์ Thai Film Archive แต่ที่ผมสนใจ เฉลิมเข้าสภาวันไหน..
“นักโทษเทวดา” ความดันพุ่งวันนั้น!