อาการปวดหัวบ่อย ๆ พูดไม่ชัด ปากเบี้ยว แขนขาอ่อนแรง อาจเป็นหนึ่งในสัญญาณของ “เนื้องอกในสมอง (Brain Tumor)” ที่บางคนอาจไม่รู้ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจคุกคามรุนแรงถึงขั้นอัมพาตครึ่งซีกหรือลุกลามเป็นมะเร็งในระยะอันตรายได้
นายแพทย์พงศกร พงศาพาส ประสาทศัลยแพทย์ โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายว่า เนื้องอกในสมองเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างพันธุกรรม ซึ่งจะต้องดูว่าเนื้องอกสมองเกิดขึ้นที่ตำแหน่งใดของสมองและตำแหน่งนั้นทำหน้าที่ใดก็จะมีอาการตามมา
เช่น เนื้องอกสมองเกิดในตำแหน่งที่เกี่ยวกับการมองเห็นทำให้เห็นภาพเบลอ ภาพซ้อน ตำแหน่งที่ควบคุมการเคลื่อนไหวแขน ขา ทำให้แขนขาอ่อนแรงหรือเป็นอัมพาตครึ่งซีก เป็นต้น โดยเนื้องอกที่เกิดขึ้นในสมองมีทั้งเนื้องอกในสมองที่เป็นเนื้อธรรมดาและเนื้องอกในสมองที่เป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็งสมอง
เนื้องอกในสมองที่เป็นเนื้อธรรมดา เกิดจากความผิดปกติของสารพันธุกรรมในเซลล์สมอง หรือการกลายพันธุ์ของเซลล์ ทำให้เซลล์มีการแบ่งตัวและเจริญเติบโตในอัตราที่ผิดปกติ เนื้อเยื่อที่เกิดจากเซลล์ผิดปกติเหล่านี้ จึงก่อตัวเป็นเนื้องอกบริเวณสมองซึ่งอาจสร้างความเสียหายแก่สมองและระบบประสาทใกล้เคียง
เนื้องอกในสมองที่เป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็งสมอง อาจเกิดจากเซลล์มะเร็งก่อตัวขึ้นที่สมองหรือมีเซลล์มะเร็งที่อวัยวะอื่นแล้วแพร่กระจายเข้าสู่สมองทางกระแสเลือด ทำให้เกิดเป็นเนื้องอกที่เป็นเนื้อร้ายมีอัตราการเจริญเติบโตและสร้างความเสียหายแก่ร่างกายมากกว่าเนื้องอกธรรมดา
อาการเนื้องอกในสมอง
- มีอาการปวดหัวบ่อย เรื้อรังและรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ
- คลื่นไส้ อาเจียน และง่วงซึม
- มีอาการชักทั้งที่ไม่เคยชักมาก่อน
- มีปัญหาเรื่องการได้ยิน
- มีปัญหาเรื่องการสื่อสาร พูดจาติดขัด
- มีปัญหาด้านความจำ สับสน มึนงง
- มีปัญหาในการมองเห็น เห็นภาพเบลอ หรือภาพซ้อน
- มีปัญหาการทรงตัว
- มีการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจ บุคลิกภาพ พฤติกรรม
- สูญเสียการรับรู้ของประสาทสัมผัส และการเคลื่อนไหวแขนขา
- แขนขาอ่อนแรง เป็นอัมพาตครึ่งซีก
การวินิจฉัยแพทย์จะเริ่มจากการซักประวัติตรวจร่างกายและการทำงานของสมองด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ CT Scan หรือ ตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI ซึ่งจะเห็นความละเอียดของเส้นเลือดและเส้นประสาทมากกว่า ทำให้สามารถตรวจวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็ว เพื่อวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสม
การพิจารณาการรักษาเนื้องอกในสมองจะขึ้นอยู่กับชนิดของเนื้องอก ขนาดของเนื้องอกและตำแหน่งของเนื้องอก หากเนื้องอกมีขนาดเล็กไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสมองหรือระบบประสาทข้างเคียง แพทย์อาจนัดติดตามอาการเป็นระยะ หากเนื้องอกมีขนาดใหญ่ ทางเลือกการผ่าตัดรักษา สามารถทำให้หายจากภาวะเนื้องอกสมองได้
ปัจจุบันมีเทคโนโลยีการรักษาด้วยเครื่องเอกซเรย์สำหรับตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคหลอดเลือดชนิดสองระนาบ Biplane Digital Subtraction Angiography หรือ Biplane DSA ที่สามารถรักษาเนื้องอกสมองได้ด้วยการใส่สายสวนหลอดเลือดเข้าไปอุดหลอดเลือดที่เลี้ยงเนื้องอกทำให้เนื้องอกขาดเลือดและฝ่อลงจะทำให้การผ่าตัดเนื้องอกทำได้ง่ายขึ้น การรักษาเนื้องอกสมองโดยใช้ Biplane DSA จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำลายเนื้องอกสมองและสามารถลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด เสียเลือดน้อยและฟื้นตัวไว
ทั้งนี้ โรคเนื้องอกสมองยังไม่มีวิธีป้องกัน ซึ่งวิธีที่ดีสุดคือการสังเกตอาการตัวเองและคนในครอบครัวหากพบมีความผิดปกติเกิดขึ้นให้รีบมาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษายิ่งเจอเร็วก็เพิ่มโอกาสการรักษาหายได้มากขึ้น