2 กันยายน 2566 ที่เฟซบุ๊ก “หมอเอก Ekkapob Pianpises” ของ นพ.เอกภพ เพียรวิเศษ อดีต คณะกรรมาธิการ กมธ. การสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร ปรากฏข้อความระบุว่า
เห็นอาจารย์แพทย์บางท่านเขียนลงเฟซบุ๊กในทำนองจดหมายเปิดผนึกถึงรุ่นน้องที่จะได้มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนใหม่ ด้วยเนื้อความที่ดูเป็นการโจมตีการบริหารจัดการกระทรวงสาธารณสุขที่อาจจะต้องการโจมตีการบริหารงานของรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดที่ผ่านมา
แต่ด้วยความไม่มีข้อมูลหลักฐาน และกล่าวหากว้างๆ เหมือนเป็นการบรรยายความคิดเห็นที่เต็มไปด้วยอคติส่วนตัว และเหมือนเป็นการกล่าวหากระทรวงสาธารณสุขในภาพรวม
ผมอาจไม่ได้จบแพทย์จากมหาวิทยาลัยที่จะอ้างว่าเป็นรุ่นน้องของอาจารย์คนนั้นได้ เพราะผมจบจากคณะแพทย์มหาวิทยาลัยต่างจังหวัด
ผมไม่ได้เป็นอาจารย์แพทย์ในโรงเรียนแพทย์ชั้นนำของประเทศ แต่ผมมีประสบการณ์ทำงานในโรงพยาบาลชุมชนตั้งแต่วันแรกที่เริ่มต้นของบัตรทอง และผมเป็นแพทย์รุ่นที่ในช่วงแรกได้เป็นพนักงานของรัฐ ไม่ได้เป็นข้าราชการ แล้วย้ายมาในโรงพยาบาลศูนย์ ก่อนจะลาออกจากราชการไปเป็นแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชน และมีช่วงหนึ่งที่ได้ไปเป็นแพทย์ในช่วงเริ่มต้นของคณะแพทย์ที่ตั้งใหม่
จนกระทั่งมาได้ทำหน้าที่เป็น สส. ซึ่งติดตามงานด้านสาธารณสุขผ่านกรรมาธิการสาธารณสุข
จากประเด็นการบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่มีการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ให้ประชาชนเพิ่มขึ้น ไม่ได้เป็นประชานิยมครับ !!!
แต่เป็นการทำตามสิ่งที่เราเรียกว่า Patient-centered ซึ่งเราก็สอนให้นักศึกษาแพทย์รุ่นใหม่มีความคิดแบบนั้นมิใช่หรือ ?
ประชาชนได้ประโยชน์จากการฟอกไตใกล้บ้าน
ประชาชนได้ประโยชน์จากการรักษามะเร็งที่ไม่ต้องเดินทางไกลและไม่ต้องรอคิวนาน
ประชาชนได้รักษาใส่สายสวนหัวใจ ได้ผ่าตัดหัวใจ ได้สวนเส้นเลือดที่อุดตันที่สมอง ได้ยาสลายลิ่มเลือดที่อุดตันในสมองอย่างทันท่วงที
ประชาชนที่ป่วยติดเตียงได้รับแพมเพิส แผ่นรองฟรี
ประชาชนได้ความสะดวกจากการปรับระบบมาเป็น 30 บาทรักษาทุกที่ และจะมาเป็นรักษาถึงที่ในอนาคต
ประชาชนที่เจ็บป่วยเล็กน้อยเริ่มไปรับยาที่ร้านขายยาตามสิทธิได้ฟรี
เพิ่มความเข้มแข็งให้กับ อสม. เพื่อช่วยขับเคลื่อนระบบการแพทย์ปฐมภูมิ
แบบนี้จะบอกว่าไม่ดีหรือ???
แล้วในส่วนของบุคลากรที่มีการบรรจุเป็นข้าราชการครั้งใหญ่ถึงกว่า 40,000 อัตรานี่ไม่ได้ทำเพื่อคนที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์หรือ???
แล้วที่อ้างถึงเรื่องโควิดที่อ่านแล้วคล้ายกับว่าจะกล่าวหาว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน นี่อยากรู้จริงๆ ว่ามีข้อมูลมั้ยว่าเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนตรงไหน ใครมีข้อมูลส่งมาให้ผมได้นะครับเพราะผมมีข้อมูลที่ได้จากกรรมาธิการการสาธารณสุขพอสมควร ซึ่งพอจะแสดงให้เห็นได้ว่ากลุ่มคนที่น่าสงสัยจะได้ประโยชน์เป็นกลุ่มไหน ซึ่งผมได้เคยเขียนถึง พูดถึงอยู่หลายครั้ง
ในเรื่องของการโยกย้ายข้าราชการในกระทรวง นี่ข้อความของอาจารย์ ดูเหมือนจะไปละม้ายคล้ายกับที่เคยมีคนบางกลุ่มใช้ เนื่องมาจากกลุ่มนั้นเสียประโยชน์จากการโยกย้ายจึงออกมาโจมตีการโยกย้าย หรือที่อาจารย์เขียนถึงเรื่องนี้เพราะฟังเขาเล่ามา ?
เรื่องบุหรี่ไฟฟ้าที่บอกว่าเกียร์ว่าง นี่ใครกันที่เกียร์ว่าง???
ทั้งที่เห็นกันอยู่ว่าที่แบนกันอยู่ทุกวันนี้มันเป็น “แบนทิพย์” เป็นการแบนเพื่อไปขอรางวัลจากต่างประเทศว่าเราเป็นประเทศที่แบนบุหรี่ไฟฟ้า??? แต่สภาพในประเทศคือควบคุมอะไรไม่ได้… ทำไมไม่ยอมให้มีการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าเหมือนที่ควบคุมบุหรี่ล่ะ ? เพราะถ้าบอกบุหรี่ก็คุมไม่ได้ก็เปลี่ยนให้คนอื่นมาทำเถอะครับ งบประมาณปีละ 3-4 ร้อยล้านบาทไม่ใช่น้อยนะครับ
แล้วที่ผ่านมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขก็แข็งขันในเรื่องนี้ตามข้อเสนอของพวกท่านมิใช่หรือ ?!!!
ถ้าจะให้ใส่เกียร์เดินหน้าก็ลองไปดูข้อเสนอของการศึกษาในหลายชุดที่สรุปแล้วดูได้ครับว่าจะเดินหน้าเต็มที่ได้ยังไง
และ ผมมีของแถมด้วยครับว่า จากการทำงานในช่วงสี่ปีที่ผ่านมาผมมีข้อมูลผังความเชื่อมโยงของเครือข่ายอยู่เครือข่ายหนึ่งที่ได้ผลประโยชน์จากงบประมาณด้านสาธารณสุขมานาน เหมือนที่ผมเคยได้อภิปรายในสภา
มีการตั้งตนเป็นผู้เชี่ยวชาญ เข้ามาบริหารจัดการงบประมาณผ่านเครือข่ายทั้งในกระทรวงสาธารณสุข และในหน่วยงานตระกูล ส. โดยมีการกระจายให้คนในกลุ่มของตนทั้งงบวิจัย ทั้งงบทำงาน และบางครั้งกระจายงบไปถึงมูลนิธิที่ตั้งขึ้นมาทำงานเป็นเครือข่าย คนกลุ่มนี้ต่างหากที่ผ่านมาไม่มีใครกล้าแตะ แต่ผมกล้า และผมจะทำต่อครับ