บดินทร์ สิงหาศัพท์
นักวิชาการอิสระด้านสิ่งแวดล้อม
วันนี้คนไทยทั้งประเทศกำลังจับจ้องรอดูโฉมหน้ารัฐบาลชุดใหม่ ว่า นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทยจะเป็นหัวหน้าพรรคใด แต่ไม่ว่าใครจะขึ้นมาดำรงตำแหน่งสูงสุดในการบริหารประเทศ จะต้องตระหนักถึงผลประโยชน์ประเทศชาติและคนไทยเป็นอันดับที่ 1 เพราะคนไทยฝากความหวังไว้กับรัฐบาลที่พวกเขาเลือกมา จะช่วยยกระดับเศรษฐกิจของประเทศให้มั่งคั่ง ส่งผลดีต่อไปยังคุณภาพชีวิตของคนไทยให้กินดีอยู่ดี มีความสุข
เรื่องหนึ่งที่จะขอฝากรัฐบาลชุดใหม่อย่าลืมทำตามสัญญา คือ การแก้ปัญหา “ฝุ่น PM 2.5” ให้มีการพิจารณาข้อมูลรอบด้านและรอบคอบมากที่สุด เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาแบบบูรณาการบนพื้นฐานของหลักวิชาการควบคู่กับข้อเท็จจริงและปัจจัยแวดล้อม อย่างถูกต้องและเป็นธรรม แทนการฟังอคติสังคมและองค์กรต่างๆ ที่ยกขึ้นมาชั่วครู่ชั่วยามตามแห่กันไป แล้วเจาะจงโยนความผิดให้แพะตามกระแสสังคม โดยขาดความรู้เข้าความใจเช่นที่ผ่านมา
ตัวอย่างล่าสุด คือ ไฟไหม้ป่าในรัฐฮาวาย ของสหรัฐอเมริกา ทั้งนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันถึงสาเหตุไฟไหม้ครั้งนี้รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมา ว่า เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศแบบสุดขั้ว ทั้งลมแรง ความแห้งแล้ง และสภาพภูมิศาสตร์ของเกาะ ความแห้งแล้งที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้พืชที่แห้งมากๆ กลายเป็นเชื้อเพลิงอย่างดีให้ไฟป่า กอปรกับลมจากพายุทำให้ไฟลามเร็วขึ้น ขณะที่เจ้าหน้าที่ดับเพลิงมีข้อจำกัดในการเข้าดับเพลิง พร้อมเสนอแนะแนวทางในการป้องกันและจัดการไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันซ้ำในอนาคต เช่น ลดจำนวนพืชที่อาจกลายเป็นเชื้อไฟ เป็นต้น
ทั้งนี้ หน่วยงานป้องกันสิ่งแวดล้อม ของสหรัฐอเมริกา (United State Environmental Protection Agency) กำหนดค่ามาตรฐานของฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์เอาไว้โดยใช้ค่า PM (Particulate Matters) เป็นเกณฑ์ในการตรวจวัดคุณภาพอากาศ ซึ่งฝุ่น PM 2.5 หรือที่เรียกว่า “ฝุ่นละเอียด” (Final Particles) คือ ฝุ่นละอองที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางอยู่ที่ 2.5 ไมครอน ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่จะมองเห็นได้เมื่อมีปริมาณมาก เป็นลักษณะคล้ายหมอกควันที่ลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศ
ฝุ่น PM 2.5 เกิดจากหลายสาเหตุหลักๆ ประกอบด้วย การเผาไหม้จากโรงงานอุตสาหกรรม, โรงผลิตไฟฟ้า, ควันท่อไอเสียจากรถยนต์ รถบรรทุก รถบัส และรถวิบาก, การเผาป่าหรือเกิดไฟป่า, การเผาขยะ, การก่อสร้าง, กิจกรรมอื่นๆ อาทิ การสูบบุหรี่ จุดธูป เผากระดาษ การทำอาหาร, เครื่องทำความร้อนที่ใช้เชื้อเพลิงในการเผาไหม้, การปล่อยมลพิษทางอากาศ และการทำปฎิกิริยาของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์ และสารประกอบอินทรีย์ชนิดระเหยง่าย เห็นได้ว่าฝุ่น PM 2.5 เกิดได้จากหลายสาเหตุรวมกัน แต่นักการเมือง และองค์กร NGO กลับพุ่งเป้าไปโจมตีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพื่อเป้าประสงค์ของตัวเองมากกว่าการแก้ปัญหาอย่างมีหลักการแบบองค์รวม
รัฐบาลที่ชาญฉลาดต้องไม่ตกหลุมหรือให้ใครจูงจมูกได้ เมื่อเห็นที่มาของฝุ่น PM 2.5 ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ย่อมออกคำสั่งไปยังหน่วยภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาฝุ่นละอองได้อย่างน้อย 12 หน่วยงาน เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และสถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนวาระแห่งชาติแก้ไขปัญหาฝุ่น โดยนำข้อมูลที่ศึกษาวิจัยไว้มาต่อยอด ควบคู่กับข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมจุดความร้อนจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ให้มีการหารืออย่างกว้างขวาง ครอบคลุมและรอบด้าน เพื่อให้การแก้ปัญหาเกิดประสิทธิผลอย่างแท้จริง
ที่ผ่านมา เผือกร้อนฝุ่น PM 2.5 ถูกโยนไปที่ภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมปศุสัตว์ จากการเผาวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรและตอซัง โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่วนภาคปศุสัตว์ ขาดความรับผิดชอบในการจัดหาวัตถุดิบมีมีการตรวจสอบแหล่งที่มา ขณะที่ข้อมูลดาวเทียมของ GISTDA แสดงให้เห็นว่าจุดความร้อนสูงสุดของภาคเหนือ 17 จังหวัด คือ พื้นที่ป่าอนุรักษ์และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ไม่ใช่ภาคการเกษตรอย่างที่พาดพิงกัน และการเผาตอซังเกิดในนาข้าวมากกว่าไร่ข้าวโพดหรือไร่อ้อย จึงอยากขอให้คณะทำงานแก้ปัญหาฝุ่น หมอกควันของรัฐบาลชุดใหม่ พิจารณาข้อเท็จจริงอย่างรอบคอบ เปลี่ยนความเชื่อของกลุ่มตัวเอง อ้างอิงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์แทน
สำหรับการป้องกันการเผาในภาคการเกษตรให้เกิดประสิทธิภาพ รัฐบาลควรปัดฝุ่นแผนการจัดเขตพื้นที่เพาะปลูกอย่างเหมาะสม (Zoning) และมีมาตรการเด็ดขาดในการจัดการกับผู้ที่ละเมิดกฎหมายและต้องมีการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด ผลผลิตชนิดใดที่ทำรายได้ทางเศรษฐกิจสูงก็ต้องส่งเสริมอย่างเหมาะสม ส่วนผลผลิตใดที่ผลิตไม่เพียงพอจำเป็นต้องพิจารณานำเข้า เพื่อใช้พื้นที่เพาะปลูกให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนภาคอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM 2.5 รัฐบาลต้องพิจารณามาตรการที่สามารถลดฝุ่นควันได้อย่างยั่งยืน ที่สำคัญ พระราชบัญญัติอากาศสะอาด….จำเป็นต้องผ่านกฎหมายนี้ เพื่อสร้างหลักประกันอากาศดีและสุขภาพที่ดีของคนไทยทุกคนในทุกวัน