จากประเด็นของสังคมที่มีการตั้งคำถาม เรื่องการเรียนการสอนใน 4 วิชา คือ พระพุทธศาสนา, หน้าที่พลเมือง, ศีลธรรม และ ประวัติศาสตร์ชาติไทย ว่ายังมีการเรียนการสอนหรือไม่นั้น
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เผยว่า ได้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ป.1- ม.6) มาตั้งแต่ปี 51 จนถึงปัจจุบัน และได้ปรับปรุงตัวชี้วัด ปี 60 ซึ่งเนื้อหาคงเดิม แต่ปรับความสอดคล้องในกลุ่มสาระฯ สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม
โดยในปี 52 ได้จัดให้ “วิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาพื้นฐาน” และยังกำหนดให้มีการจัดการเรียนการสอน สาระที่ 1 ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม สาระที่ 2 หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตในสังคม ส่วนการกำหนดเวลาในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้:
• ระดับชั้น ป.1-6 จำนวน 120 ชั่วโมงต่อปี
• ระดับชั้น ม.1-3 จำนวน 160 ชั่วโมงต่อปี
• ระดับชั้น ม.4-6 จำนวน 320 ชั่วโมงต่อปี
ต่อมาในปี 65 ได้มีการประกาศ “จุดเน้น 8+1” คือ การจัดการเรียนการสอน 8 กลุ่มสาระฯ และ 1 รายวิชาประวัติศาสตร์อย่างชัดเจน มุ่งเน้นวิธีสอนให้นักเรียนได้คิดวิเคราะห์ ผ่านการจัดกิจกรรมและสื่อการเรียนรู้ที่หลากหลายผ่านเทคโนโลยี เน้นการใช้แหล่งการเรียนรู้ในชุมชน เป็นการปรับกิจกรรมเพิ่มเติมให้มีความน่าสนใจ
ดำเนินการบูรณาการการเรียนการสอน กับแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ แหล่งเรียนรู้ชุมชน ร่วมกับเครือข่าย บ้าน วัด โรงเรียน ปราชญ์ชาวบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อให้นักเรียนได้ตระหนัก ได้คิด และลงมือปฏิบัติ จนเกิดความภาคภูมิใจ เห็นคุณค่า ตลอดจนสามารถเพิ่มมูลค่าสิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่นของตนเอง
ย้ำว่า 4 รายวิชาข้างต้น ไม่ได้หายไปจากหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ของกระทรวงศึกษาธิการแต่อย่างใด